นานาทัศนะจากคนในแวดวงสื่อ ห่วงหลายประเด็นใน ก.ม.ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ตั้งแต่คำนิยามจนถึงเรื่องงบฯ สนับสนุนจากภาครัฐ เปิดช่องเข้ามาแทรกแซงการทำงาน
ในโอกาส “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ประเด็นสำคัญที่คนในแวดวงสื่อมวลชนยังคงเกาะติดให้ความสนใจเวลานี้ ยังอยู่ที่ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565
ท่ามกลางเสียงสะท้อนเป็นห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน มากกว่าจะเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการเสนอข่าวสารตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
โดยเฉพาะกับประเด็น “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่จะเข้ามามีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพ ที่ต้องอาศัยรายได้การจัดสรรเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท
ไปจนถึงอำนาจ “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” อันประกอบด้วย กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน และกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะมีหน้าที่พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
คำนิยามเปิดช่องกดเพดานการใช้สิทธิเสรีภาพ
จากมุมองของ ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER มองว่า แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีเนื้อหาที่ดีขึ้นหากเทียบกับกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้ายกันซึ่งมีความพยายามผลักดันมาก่อนหน้านี้ โดยตัดเรื่องขอใบอนุญาต และโทษทางอาญาออก แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมที่น่าเป็นห่วง ทั้งเรื่องคำนิยามที่ กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารแต่การใช้เสรีภาพนั้นจะต้องไม่ขัดต่อ “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งเป็นข้อความที่กว้าง โดยที่ผ่านมาภาครัฐและผู้มีอำนาจชอบใช้สองคำนี้มากดเพดานการใช้สิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงออกรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อในหลายกรณี การมีสองคำนี้ที่เขียนกว้าง ๆ อยู่ในบทนิยามจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงถัดมาคือเรื่องกรรมการสภาองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีคำถามเรื่องการยึดโยงกับนักข่าวภาคสนามทั้งหมดอย่างไร เพราะในสัดส่วน 11 คน ทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนก็มีการสรรหาในวงแคบเช่น คณบดี นักวิชาการ ส่วนตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ 5 คนที่ไม่รู้ว่าจะยึดโยงกับนักข่าวภาคสนามได้แค่ไหนเพราะที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่มีแอ็คชั่นยืนหยัดปกป้องนักข่าวภาคสนามต้องรอให้มีการออกมากระทุ้งกันก่อน ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เป็นต่อเนื่องได้ 2 สมัยรวม 8 ปี ยิ่งทำให้น่าเห็นห่วงว่าจะมีคนพยายามเข้ามาอยู่ในตำแหน่งเพื่อสถานะในวงการ ทั้งที่ไม่ได้ป็นตัวแทนจากนักข่าวภาคสนาม
“อีกประเด็นที่น่าห่วงคือกระบวนการทางกฎหมายที่เสนอเข้ามาเป็นกฏหมายปฏิรูปเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาที่มีทั้งส.ส. และ ส.ว. ร่วมพิจารณา ไม่ใช่เข้าไปสู่การพิจารณาของ ส.ส. เหมือนกฎหมายทั่วไป และอย่างที่รู้กันว่า ส.ว. ชุดนี้ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ที่ไม่พอใจกับการที่สื่อมีสิทธิเสรีภาพเท่าไหร่นัก ทำให้ไม่รู้ว่าในขั้นตอนการพิจารณาจะมีการเข้าไปแก้ไขในประเด็นสำคัญอะไรบ้าง”
ประเด็นสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงคือองค์กรวิชาชีพนี้จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ทุนประเดิม เงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินจากกองทุน กสทช.ปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท และสูงสุด 200 ล้านบาท ทำให้เป็นห่วงว่าภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินการผ่านการให้ทุนเหมือนกับคนทำธุรกิจสื่อหรือเจ้าของทุนก็อาจมีอำนาจหรือกำหนดทิศทางได้ รวมทั้งคนที่เข้าไปเป็นกรรมการก็จะเข้าไปจัดการดูแลเงินจำนวนนี้
สะท้อนการ “รวมศูนย์” ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมาคอยชี้ผิดถูก
ด้าน ‘สมเกียรติ จันทรสีมา‘ ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส มองว่า ในปัจจุบันนักวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ได้เป็นทั้งหมดของสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่วงหลังจากยุคดิจิทัลดิสรัปชัน สื่อเป็นสิทธิพื้นฐานโดยธรรมชาติที่ผู้คนเข้าถึงเครื่องมือและพื้นที่การสื่อสาร ทำให้ทุกวันนี้เปิดกว้างจากเดิมไปมาก รวมทั้งไม่สามารถกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมาคอยชี้ผิดชี้ถูกได้อีกต่อไป
“ประเด็นตอนนี้อยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลไม่เท่ากัน เราต้องทำให้เกิดโอเพนดาต้า เปิดให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุดภยายใต้ความคิดที่ทุกคนเป็นสื่อมีข้อมูลข้อเท็จจริงมากสุด การมีข้อมูลเพื่อให้พวกเขาทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกเชื่อข้อมูลเป็นทางเดียวที่จะเป็นทางออก ในขณะที่การจะไปคิดเรื่องควบคุมสุดท้ายมันจะล้มเหลวและสวนกลับกระแสโลกที่มันเปลี่ยนไป”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมาและเป็นประเด็นใหญ่ก็คือเรื่องสื่อแท้ สื่อเทียม ไปจนถึงวิวาทะเรื่องสื่อพลเมือง สื่อเลือกข้าง ซึ่งคนสังคมปัจจุบัน มีจินตนาการเรื่องสื่อไปไกลมาก สื่อเองก็ต้องปรับตัวอย่างมโหโฬารเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป หากจะก้าวไปข้างหน้าก็ต้องเข้าใจบริบทสังคม บริบทโลก บริบทสื่อที่เปลี่ยนไป ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหนึ่งเดียวในพื้นที่ เพราะระบบมีแต่การกระจายอำนาจ แต่ละคนมีสิทธิคิดวิเคราะห์ตัดสินใจในข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีหลายด้าน ดังนั้นการทำระบบโอเพนดาต้าจึงน่าจะมีประโยชน์มากกว่าการออกกฎมาควบคุมที่ไม่สมจริงในยุคปัจจุบัน
ส่วนกฎหมายนี้จะกระทบกับการทำหน้าที่ของสื่อพลเมืองมากน้อยแค่ไหน สมเกียรติ เห็นว่า สื่อพลเมืองไม่ได้อยู่ในกรอบวิชาชีพทั้งหมด แต่ในแง่บวกมองว่าสองส่วนนี้เสริมกันได้ จุดหมายสำคัญของวิชาชีพสื่อคือสร้างสังคมคุณภาพ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเรื่องการกำกับดูแลกันเอง และในนิเวศสื่อ สื่อภาคประชาชน สื่อพลเมืองก็เติบโตเป็นส่วนใหญ่ของระบบนิเวศ มีการปะทะประสานกันอยู่ แต่ไม่ว่าจะมาจากสื่อไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาข้อมูล ซึ่งเราอยู่ในระบบนี้ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่การเดินหน้าต่อไปต้องมีหลักคิดชัดเจน
“กฎหมายนี้ลึก ๆ แล้วยังสะท้อนการรวมศูนย์มากกว่ากระจายอำนาจ มีการกำหนดให้คนที่เป็นเอ็กซ์เพิร์ทเข้ามามาดูแล สัญญาณแบบนี้ไม่ควรส่งออกไปเพราะเรากำลังสร้างการเรียนรู้ แม้คนจะไม่มองว่าคนที่เข้ามาดูแลเป็นนักวิชาชีพไม่ใช่รัฐบาลมาควบคุม แต่สำหรับผมมองว่านี่เป็นเรื่องการส่งสัญญาณ ก่อนหน้านี้ก็มีการปะทะกันอยู่แม้แต่ในปีกวิชาชีพสื่อเรื่องนิยามสื่อพลเมือง มีคนมาถามผมว่าอันนี้ใช่ไหม อันนั้นใช่ไหมซึ่งมันมีระดับของมันแต่สุดท้ายมันต้องพัฒนาไปสู่โซลูชั่นมีทางออกให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นสื่อพลเมือง สื่อกระแสหลัก สุดท้ายต้องพาสังคมไปสู่การมีทางเลือกที่อาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ใช่ความรู้สึก”
ห่วง องค์กรใหม่ฯ นำงบประมาณของประชาชนไปใช้เป็นเครื่องมือรัฐ
ด้าน รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สิ่งที่ต้องกังวลคือ 2 มิติหลักทั้ง การตีทะเบียนสื่อ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน เพราะจริงๆ แล้วการกำกับดูแลสื่อมีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคเผด็จการ 40-50 ปีที่ผ่านมา ที่พยายามให้มีการจดแจ้งการพิมพ์ มีกฎหมายในการควบคุมรูปแบบต่างๆ แต่พอมาถึงยุคเปลี่ยนผ่าน สื่อไทยก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น พอเป็นยุค ‘ดิสรัปชัน’ (Disruption) ที่เต็มไปด้วยสื่อออนไลน์ ทำให้การควบคุมสื่อทำได้ยากมากขึ้น เพราะมีสื่อที่หลากหลาย และผู้คนในสังคมก็สามารถผลิตสื่อได้เอง
ทั้งนี้ เห็นใจคนร่างกฎหมายเพราะมีเพนพ้อยท์ว่าแม้ที่ผ่านมามีกรรมการวิชาชีพ สภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพฯลฯ แต่สื่อไม่ได้คุณภาพ แต่ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่าถ้าเราอยากจะให้สื่อมีมาตรฐานเราต้องออกฎหมายแบบนี้หรือไม่ หรือมีทางออกอื่นที่จะทำให้สื่อมีมาตรฐาน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้รับสาร ในสังคมประชาธิปไตยจะใช้วิธีการกำกับดูแลกันเอง เช่น มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค มีการรวมกลุ่มของสื่อเพื่อช่วยกันปรับปรุงคุณภาพ และสร้างจรรยาบรรณ
อีกประเด็นที่น่ากังวล คือ วิจารณาญาณของ “คณะกรรมการ” ที่มีสัดส่วนเป็นตัวแทนภาครัฐ เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า การขึ้นทะเบียนสื่อที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หรือ พิจารณาของคณะกรรมการเพียง 3-4 คน จะเป็นตัวชี้ขาดแบบ Top-Down ได้เลยหรือไม่ว่าสื่อไหนดีหรือแย่ ? การใช้วิจารณญาณจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล อ.พิจิตราย้ำว่า ไม่ได้กังวลในฐานะปัจเจกว่าคนนั้นมีแนวคิดเป็นเผด็จการหรือไม่ แต่ด้วยรูปแบบของระบบราชการ จะมี วัฒนธรรมองค์กรอีกแบบที่มีความกลัว และเคร่งครัดมากกว่าที่จะให้เสรีภาพ
“หากข้อกังวลทั้งหมดเกิดขึ้นจริงๆ ร่างกฎหมายที่กำลังถูกจับตาฉบับนี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือของการกดทับเสรีภาพสื่อ เพราะปัจจุบันก็เริ่มเห็นการทำงานกันเป็นองคาพยพ ทั้ง พ.ร.บ.คอมฯ ที่ใช้วิธีการกดทับเสรีภาพอยู่แล้วทั้งสื่อมวลชนเอง และประชาชนที่โพสต์ และหากมีร่างกฎหมายตัวนี้ออกมาก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมืออีกแบบ แล้วหากองค์กรนี้ไม่สามารถทำตัวเองให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้ มันก็จะกลายเป็นการนำ ทรัพยากร งบประมาณ ของประชาชนไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐต่อไป”
รศ.พิจิตรา ทิ้งท้ายว่า ไทยควรใช้โอกาสจาก ยุคดิจิทัลที่มีสื่อหลากหลายเปิดเสรี และหากจะมีกฎหมายก็ต้องช่วยส่งเสริมวิชาชีพ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอหากจะพัฒนาองค์กรสื่อจริงๆ องค์กรวิชาชีพก็ต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่เป็น Top-Down กำกับ ไม่ใช่แค่ลงโทษ ให้รางวัล แต่ต้องให้เครื่องมือ ฐานข้อมูล และการเทรนด์นิ่งตลอดเวลาเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน พร้อมแนะสื่อมวลชน จับมือสื่อออนไลน์ สร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารที่เป็นประโยชน์มากที่สุด