“การฉ้อฉลเชิงอำนาจ เป็นขั้นกว่าของการทุจริตเชิงนโยบาย ย้อนไปตั้งแต่ยุค คสช. ที่มีการใช้อำนาจผ่าน ม.44 ทั้งกรณี เหมืองอัคราฯ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และ เตาเผาขยะ กทม. เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน และมีผลพวงมาถึงปัจจุบัน จากจุดร่วมเดียวกัน คือ การใช้ ม.44”
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. ที่ผ่านมา พอจะจับสาระสำคัญของการตรวจสอบ แบ่งเป็น 4 หมวด คือ 1) การทุจริตแบบคลาสสิก เช่น กว้านซื้อที่ดินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และทุจริตถุงมือยาง 2) การบริหารจัดการของรัฐ เช่น เรื่องแรงงาน เศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 3) การแทรกแซงจากอำนาจรัฐ เช่น #ตั๋วช้าง การบรรจุตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 4) การฉ้อฉลเชิงอำนาจ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้ ม.44
“การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” เป็นขั้นกว่าของการทุจริตเชิงนโยบาย เดิมเราคุ้นชินกับ “การทุจริตเชิงนโยบาย” คือ การออกนโยบายมาเพื่อให้กับบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ การฉ้อฉลเชิงอำนาจ มีจุดเริ่มต้นในยุค คสช. ที่มี มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ใช้อำนาจนี้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ บางอย่างก็มีความจำเป็น แต่บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เพื่อประโยชน์กลุ่มทุน เช่น เหมืองทองอัครา จ.พิจิตร เตาเผาขยะ กทม. และ สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
จับตาดีล “คดีเหมืองทอง” ไทยได้หรือเสีย ?
จากข้อพิพาทเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอัคราจ.พิจิตร นำมาสู่การใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองทั่วประเทศ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการจากหลายกระทรวงฯ ทำงานเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า ผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดจากเหมืองทองหรือไม่ แต่ในรายงานก็ไม่สามารถพิสูจน์หรือฟันธงได้ชัด
ส่วนการที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของเหมืองทองอัคราฯ ตัดสินใจฟ้องรัฐบาลไทยในฐาน “ผิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย” เนื่องจากใช้อำนาจพิเศษ สั่งปิดเหมืองทองอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่มีหลักฐานว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง หากประเทศไทยแพ้คดีดังกล่าวจะทำให้เสียค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย เป็นเงินมากถึง 4 หมื่นล้านบาท
การอภิปรายไม่ไว้วางใจพูดถึงช่วงเวลาของ “คดีเหมืองทอง” ในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ว่า รู้ว่าต้องแพ้คดีอย่างแน่นอนจึงมีความพยายามดีลกับบริษัทเอกชน โดยมีเอกสารหลักฐานว่ามีการเปิดให้สำรวจแร่แปลงสัมปทานเพิ่ม 4 แสนไร่ ขณะที่รายงานประจำปีของบริษัทคิงส์เกตฯ รายงานว่าได้รับสิทธิ์ให้ออกสำรวจแร่ในประเทศไทยมากถึง 1 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติให้ขนสินแร่ออกไปประกอบโลหกรรม มูลค่าสูงถึง 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหล่านี้ คือ ผลพวงจากการใช้อำนาจที่ภายนอกประเทศไม่ยอมรับ และจำเป็นที่จะต้องจับตาดูถึงความพยายามในการดีลกับเอกชนไป ตราบเท่าที่คดียังไม่ถูกตัดสิน
คำถามสำคัญก็ คือ ถ้าหากบริษัทคิงส์เกตฯ ยอมถอนฟ้อง ประเทศไทยจะได้หรือเสีย กับการที่ต้องแลก แปลงสำรวจแร่ อย่างน้อย 4 แสนไร่ ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่จะตอบยาก แต่ที่แน่นอนไม่ว่าจะถอนฟ้องหรือไม่ถอนถอนฟ้อง ก็มีแต่เสียกับเสีย
เตาเผาขยะ ม.44 เอื้อเอกชน
ความผิดปกติในการก่อสร้าง “เตาเผาขยะ กทม.” คือ มีการใช้อำนาจ ม. 44 ถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรก คือ การยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความล่าช้า และครั้งที่ 2 ยกเว้นการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวม (EIA) ทั้งยังมีการแก้กฎหมาย 1 ฉบับ และแก้กฎกระทรวงฯ อีก 1 ฉบับ
สำหรับการก่อสร้างเตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้าขยะเป็นกิจการที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การออกคำสั่งและแก้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ให้กับเตาเผาขยะ ด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือ โครงการเกินพันล้านบาทไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส
เห็นได้ชัด มีความพยายามที่จะนำ “วิกฤตขยะล้นเมือง” มาเปิดทางทุกอย่างในการแก้ไขกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว แม้จะดูเหมือนมีเจตนาที่ดี แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นเจตนาที่ดีจริงหรือไม่ ในอนาคตหากมีโครงการลักษณะแบบนี้ ก็ถูกยกเว้นแบบเดียวกัน สร้างผลกระทบในอีกหลายพื้นที่
กินรวบ! รถไฟฟ้าสายสีเขียว
มี ส.ส.ฝ่ายค้านถึง 3 คน ที่อภิปรายเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงวิจารณ์ถึงการวางระบบคมนาคมที่ไร้ประสิทธิภาพโดยเฉพาะ “บัตรแมงมุม” ที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีค่าแรกเข้า ก่อนเข้าสถานีรถไฟฟ้าต่างสาย ซึ่งเอกชนคนละเจ้าเป็นผู้บริหารจัดการ
มหากาพย์ของ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังถูกสั่งให้อยู่ในความดูแลของ กทม. มีการใช้ ม. 44 หลังการเลือกตั้ง ในช่วงที่ คสช. ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบูรณาการจัดการการให้สัมปทานรถไฟฟ้า โดยบอกว่าเป็นการลัดขั้นตอนเพื่อความรวดเร็ว มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ถึงความโปร่งใส และไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
“เหตุผลที่ คสช. มักอ้างเสมอ เมื่อมีการยกเว้นอะไรก็ตาม คือ อ้างความล่าช้า แล้วต้องการเร่งรัด แต่ในทางที่ถูกต้องหากกลไกส่วนใดล่าช้าควรจะไปปรับปรุงประสิทธิภาพให้รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ไปยกเว้น หรือเลิกใช้กลไกนั้น”
สัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับเอกชนรายเดิมที่ยังมีเหลืออยู่ 8-9 ปี แต่ก็มีการขยายสัมปทานเพิ่มเติมให้เอกชนรายนี้ไปถึง 30 ปี ในขณะที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟสายสีเขียวตลอดสาย ที่สูงถึง 158 บาท ก่อนปรับลดลงมาเหลือ 104 บาทแล้วมีความพยายามที่จะให้เหลือ 65 บาทตลอดสายนั้นมีที่มาในการตั้งราคาจากอะไร
แม้คณะกรรมาธิการฯ ของสภาผู้แทนราษฎรได้มีการขอข้อมูลเหล่านี้ แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดย ม.44 ก็ไม่เคยมีการส่งมอบข้อมูลดังกล่าวนี้ให้สภาฯ
ทั้ง 3 กรณีตัวอย่าง จึงเป็นภาพสะท้อนของผลกระทบ “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือการใช้ ม.44 ในยุค คสช. และผลพวงเหล่านี้จะยังคงมีต่อไป แม้ไม่มี คสช. แล้ว เนื่องจากคำสั่งจาก ม. 44 ยังคงอยู่และรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หากจะหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น คือ หวังว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะถูกแก้ไข เป็นทางออกเพียงทางเดียว ที่จะสังคายนาผลพวงจาก ม.44 ทั้งหมดได้
“สฤณี อาชวานันทกุล” นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมประเมินศึก #อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตลอด 4 วันที่ผ่านมา ว่า “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ผ่านโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้นเป็นอย่างไร? ใน Active Talk EP.5 “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ ข้อสังเกตจากศึกอภิปรายฯ” (19 ก.พ. 2564)