ชวน ‘เยาวชน’ ร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะ

Thailand Policy Lab จัด policy hackathon ดึงเยาวชนร่วมออกแบบนโยบายจากฐานข้อมูล แก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ หลังพบวัยรุ่นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Thailand Policy Lab จัดทำเวทีหาทางออกและวางนโยบายร่วมกัน (policy hackathon) ผ่านทางออนไลน์ โดยให้เยาวชนร่วมออกแบบนโยบายใน 4 ด้าน คือ การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต (protection) การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต (prevention) การส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต (promotion) และอนาคตของการศึกษาที่เข้าใจสุขภาพจิตของผู้เรียน (future of education) เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีน้องๆเยาวชนของไทยทั่วประเทศบางส่วนมาร่วมนำเสนอในหลายทีม

จากการระดมสมองเพื่อออกแบบนโยบายอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมสุขภาวะจิตของเยาวชนและสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพจิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายระดับประเทศ ครั้งนี้ มี UNDP ThailandUnited Nations Thailand สหประชาชาติ ประเทศไทย World Health Organization Thailand กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติสภาพัฒน์ ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาและรับฟัง โดยเสียงสะท้อนเยาวชนครั้งนี้ถือว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถสร้างระบบการออกแบบนโยบายที่ดีได้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จากการสำรวจข้อมูและจัดทำเป็น Data Visualization พบปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีการระบายความรู้สึกในโซเชียลมีเดียว่า วิตก เบื่อหน่าย จนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

ทีม PT1 ได้อธิบายถึงโครงสร้างของปัญหาว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างบุคลากรที่ช่วยเหลือวัยรุ่นในด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนไม่เพียงพอ ขณะที่ ร้อยละ 67.8 % วัยรุ่นมีปัญหาที่เครียด วิตกกังวลได้ง่าย เนื่องจากการเรียน ครอบครัว การเงิน สภาพแวดล้อม ความขัดแย้ง เพื่อน และความรัก ตามลําดับ ข้อมูลนี้ได้มาจากการ survey ในวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี จากทีม PT1 ขณะที่วัยรุ่นมีความกังวล ไม่กล้า และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเล่าปัญหาของตัวเอง และขาดการตระหนักรู้ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นในโรงเรียนและชุมชน

โดยมีข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขคือ

  1. Student Well-being Support บริการให้คําปรึกษาภายในโรงเรียน เช่นบริการให้คําปรึกษาโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา ให้คําปรึกษาแบบส่วนตัว
  2. Expressive Activities ทํากิจกรรมเพื่อการเยียวยาจากความเครียดวิตกกังวล และเพิ่มการเคารพตัวเอง (self esteem) ให้ตัวเองเช่น กิจกรรม week of action ออกไปทํา กิจกรรมเพื่อสังคมจิตอาสา และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันกิจกรรมศิลปะ (Expressive Arts Therapy) ดนตรีบําบัด และจัดให้มีกิจกรรม Talk to Us รับฟัง พูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตระบายความเครียดในชีวิตประจําวันกับเพื่อนๆในชมรม
  3. Mental Health Awareness เน้นการสร้างความตระหนักรู้ ให้กับตัวนักเรียน คุณครู บุคลากรในโรงเรียน ครอบครัวเช่น เชิญวิทยากร/ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของ ental health, mental issues/illness สร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ครอบคลุม ปลอดภัย และคอยสนับสนุน

ทีม PV1 สะท้อน ปัญหาที่พบคือ ครู ขาดความเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิต มีความเคยชินกับปัญหา และไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ ไม่มีแนวทางให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนนักเรียน สัมพันธภาพระหว่างครูและนักเรียนเป็นไปในลักษณะที่ครูมีอำนาจเหนือกว่า

ขณะที่นักเรียน ขาดความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ขาดความรู้ในเรื่องของการสร้างเกราะป้องกันตัวเอง รวมถึงช่องทางในการเข้ารับความช่วยเหลือและบริการด้านสุขภาพจิต

จึงเสนอแนวทางแก้ไขคือ

  1. จัด WORKSHOP เพื่อพัฒนาศักยภาพให้คุณครู สร้างความเห็นอกเห็นใจ (empathy) โดยใช้บทบาทสมมติมาเป็นตัวช่วย หลังจากจบกิจกรรมมีการจัดทำแนวทางที่เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อเด็ก และมีการติดตามผลและประเมินหลังจากจบกิจกรรม
  2. การแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างครูและนักเรียน การประเมินครูในด้านการปฏิบัติต่อนักเรียน ไม่ใช่แค่วัดผลด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยเน้นการใช้ listening circles การสร้าง “ไว้ใจ” และการแลกเปลี่ยนกัน
  3. สร้าความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ของครูในการบูรณาการความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในหลักสูตร มีการจัด workshop ให้เด็กได้ทำจริง เพื่อพัฒนาความเห็นใจ (empathy) และ ความยืดหยุ่น (resilience) และฝึกให้นักเรียนได้นำเสนอความคิดของตัวเองโดยผ่านความคิดที่เป็น จิตสำนึกร่วมชุมชน (senses of community)

ทีม PV2 ได้สรุปปัญหาที่พบ ภาระของบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่ยังไม่มีการจัดสรรอย่างเป็นระบบ เช่น บุคลากรต้องมาวิเคราะห์แบบฟอร์มเอง ทั้ง ๆ ที่สามารถกระจายงานให้คนอื่นหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำในเบื้องต้นได้ หรืออาจมีการจัดระดับการคัดกรองผู้ที่อยู่ระหว่างการรอรับการรักษา ไม่สามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองเบื้องต้นได้ เพราะปัญหาทางด้านสุขภาพจิตต้องจัดการโดยทันทีมีนโยบายสำหรับแต่ละโรงเรียนจากศธ. แต่ไม่ถูกนำมาใช้กับทุกโรงเรียน เช่น คู่มือครูระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ปี 2546 ช่วงชั้นที่ 3-4 (ม.1-6) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (โดนยุบไปรวมกันสพฐ.)และปัจจุบันก็หายไป

จึงเสนอแนวทางแก้ไข

  1. มีกลไกการดูแลด้านสุขภาพจิตของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนในการคัดกรองเบื้องต้น และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแบ่งการดูแลสุขภาพจิตเป็น 4 ระดับ คือ สังเกตการณ์ ทำแบบประเมินตนเอง ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้คำปรึกษาเชิงลึกออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษา รักษาทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล
  2. บุคคลากรด้านสุขภาพจิต (จิตแพทย์ นักจิตวิทยา) กระจายอยู่ในทุกเขตพื้นที่การศึกษา สามารถแก้ปัญหาที่นักเรียนร้องเรียนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 การอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง (ครู) ให้มีความเข้าใจนักเรียนในยุคปัจจุบัน และสามารถให้คำปรึกษานักเรียนเบื้องต้น ประเมินเด็กจากการสังเกตการณ์ได้ และไม่สร้างบาดแผลในใจให้นักเรียน
  3. สร้างองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันที่ดีด้านสุขภาพจิตแก่นักเรียนให้สามารถดูแลตนเองและคนรอบข้าง เมื่อนักเรียนเจอกับความเครียด สามารถจัดการตนเองเบื้องต้นได้ จัดทำหลักสูตรบังคับในโรงเรียน จัดทำสื่อการเรียนรู้เช่น คลิป infographic ให้กับนักเรียนในระบบการศึกษา และเผยแพร่ทั่วไปตามโซเชียลมีเดีย ให้มีความรู้ในการสังเกตและดูแลตัวเองเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น การจัดการทางความเครียด ความวิตกกังวล การรับฟังและไม่ทำให้อาการทางจิตของเพื่อนรุนแรงกว่าเดิม โดยเน้นให้ใช้จริง การฝึกคิด จำลองสถานการณ์

ทีม PM2

ได้สะท้อนปัญหาที่พบ ปัจจุบันสื่อหลักยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตได้เพียงพอ ผู้ปกครองและครูยังมีภาพจำที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต

จึงเสนอแนวทางแก้ไข

  1. การผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิต ออกแบบสื่อที่มีเนื้อหาด้านสุขภาพจิตเชิงบวกและเผยแพร่บนแพลทฟอร์มที่กลุ่มผู้ปกครองและครูให้ความเชื่อถือ ในรูปแบบหนังสั้น รายการที่ถกประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิต ร่วมมือกับ influencer ที่มีความสนใจด้านสุขภาพจิต ผู้ผลิตสื่อมีพื้นที่ในการหารือเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อป้องกันเนื้อหาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
  2. กติกาในการเผยแพร่สื่อ มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะเผยแพร่

ทีม FL1

ปัญหาที่พบ คือหลักสูตรของโรงเรียนให้ความสำคัญกับวิชาการเพียงอย่างเดียว ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของนักเรียน โดยที่นักเรียนไทยไม่สามารถค้นพบตนเองได้ในช่วงมัธยม ซึ่งส่งผลต่อชีวิตการเรียนในระดับอุมศึกษา เกิดความรู้สึกกดดัน และอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย

จึงเสนอแนวทางแก้ไข

  1. จัดให้ทุกเดือนมีการสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับสายอาชีพที่นักเรียนสนใจ
  2. แบ่งนักเรียนและคุณครูเป็นสายอาชีพที่สนใจเพื่อเข้ากลุ่มเรียนรู้อาชีพนั้นๆ
  3. ให้หัวหน้าหมวดสาระการเรียนรู้ที่ดูแลสายงานนั้นติดต่อกับผู้ประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวมาจัดกิจกรรมแนะแนวให้แก่นักเรียนในแต่ละสัปดาห์กิจกรรมแนะแนวมีการผลัดเปลี่ยนอาชีพทุกเดือน และมีการจัดผ่านรูปแบบ on-line และ on-site

ทีม FL3

พบปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 207,110 คน ร้อยละ 31 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และร้อยละ 27 มีความเครียดมากถึงมากที่สุด จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตปี 2564 เมื่อเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตกับนักเรียน กระบวนการในการติดต่อกับนักจิตวิทยาไม่ทันการณ์

จึงเสนอแนวทางแก้ไข แพลตฟอร์มกลาง “Breakout Room” (Service)
1.เป็นตัวกลางเชื่อมโยง – ครู/นักจิตวิทยา/Stakeholder
2.ครูแนะแนวเชื่อมต่อกับกลุ่มนักจิตวิทยาได้โดยตรง (ออนไลน์)
3.นักจิตวิทยาจัดซีรีย์กิจกรรมให้กับนักเรียนโดยตรง (ออนไซต์)
4.นักเรียนสามารถขอลงเวลาพูดคุยกับนักจิตได้ (ออนไลน์)

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยมัศักยภาพเพียงพอในการออกแบบนโยบายในการแก้ปัญหา ซึ่งในอนาคตนโยบายสาธารณะของประเทศไทยเราก็ควรเอาเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของพวกเขา ถ้าเรื่องเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขาโดยตรงเพราะมาจากเจ้าของปัญหา

“ก่อนหน้านี้มีคำถามว่าการออกแบบนโยบายของผู้ใหญ่ที่มีทั้งทำได้จริงและทำไม่ได้บางส่วน ต้องยอมรับระบบบางอย่างมันมีกฎระเบียบค่อนข้างมากที่เป็นอุปสรรคในการออกแบบ ไม่ใช่แค่ไทยต่างประเทศก็มี บางครั้งก็เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่องด้วยเช่นกัน”

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ

ที่ผ่านมาจากข้อเสนอจะเห็น stakeholder ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องนอกจากเจ้าของปัญหาเองแล้ว ก็จะมีหลายหน่วยงาน ซึ่งต้องรับฟังเพราะเขาถือกฎหมายและระเบียบเครื่องมือบางส่วน ซึ่งก็ต้องรับฟังกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีในอนาคตที่ต้องนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของนโยบายนั้นๆมามีส่วนร่วม นี่เป็นบทเรียนที่ดีที่ต้องมีการฟังอย่างตั้งใจ และผู้เสนอก็ควรเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพและมีข้อมูลบางส่วนเช่นมาจากการปฏิบัติหรือทำข้อมูลมาแสดงให้เห็นไม่ใช้เสนอความคิดเห็นอย่างเดียว ซึ่งการทำ Thailand Policy Lab ทำให้รู้ว่าจากบทเรียนหลายอย่าง มองว่าอนาคตการการรับฟังนโยบาย ระดับ ชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ คือสิ่งที่ต้องมีมากขึ้น

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่ดีของเยาวชนที่มีความสามารถ และถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่สร้างส่วนร่วมให้เป็นบทเรียนตัวอย่างก่อนไปนำเสนอจริง ที่สำคัญการมองภาพร่วมคนทำงานด้านสุขภาพจิต อาจร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ แม้แต่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ร่วมบุคลจากหลากหลายที่มีความคล้ายกันมาทำงานด้วยกันได้

“หากเยาวชนเข้ามาทำงานกับรุ่นพี่ ๆ ราชการ ที่บางครั้งอาจเห็นข้อจำกัดบางอย่างซึ่งอาจแสดงความเข้าอกเข้าใจแบบ และร่วมออกแบบให้เกิดการรับฟังเยาวชน ในปัญหาที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจมองไม่เห็น นี่เป็นสิ่งที่มีการเติมเต็มที่จะสร้างนโยบายได้ตอบโจทย์สังคมจริงๆ หากภายภาคหน้ามีการรับฟังจากผู้มีปัญหาโดยตรงนโยบายสาธารณะต่างๆก็จะตอบโจทย์สังคมได้ดีขึ้น”

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี 

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หากกลุ่มเยาวชนสนใจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เริ่มต้นขยับจากกลุ่มตัวเอง ชุมชนตัวเอง และสังคมรอบด้าน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง และนี่อาจเป็นสิ่งที่นำไปต่อรองและใช้ข้อมูลที่ได้ทำจริง ๆ จนเห็นผลไปเป็นข้อเสนอ

“เพราะหากมีโอกาสได้เสนอนโยบายสาธารณะจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันจะมีน้ำหนักมากกว่าเพียงการเสนอไอเดียเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญถ้ามีกลุ่ม มีตัวตน มีการขับเคลื่อน ที่เห็นผล อาจทำให้มีกลุ่มต่างๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกันมีการประสานการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนที่มีเป้าหมายเดียวกันไปพร้อมๆกันได้”

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์