สช. เดินหน้าแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ

เตรียมปรับปรุงระบบการรับรองการแจ้งเกิดตามหลักดินแดน เพื่อรับสิทธิในสัญชาติของเด็กไร้สัญชาติในไทย  คาดชงเข้าคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติเดือน ก.ค. ส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเดือน ก.ย.นี้ 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของสัญชาติหรือสถานะทางบุคคล ทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ได้เหมือนกับคนทั่วไป แม้ประเทศไทยจะให้คำมั่นและลงนามในอนุสัญญาต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ แต่ปัจจุบันยังคงมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเฉพาะในฐานข้อมูลระบบ G Code ของกระทรวงศึกษาธิการ มีจำนวนกว่า 1 แสนคน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หรือไม่ได้รับการพิสูจน์เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการรักษาพยาบาลได้

​ทั้งนี้ จึงนำมาสู่การผลักดัน (ร่าง) มติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่จะปรับปรุงการรับรองการเกิด เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ขยายโอกาสการเข้าถึง และขั้นตอนที่คำนึงถึงข้อบัญญัติตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้เด็กทุกคน ได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพและสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวกับกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ กล่าวว่า แม้ตามหลักการแล้วเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีพ่อแม่เป็นคนไทยหรือไม่ หากเกิดในประเทศไทยก็จะได้สัญชาติไทย ตามหลักดินแดนแต่ยังมีโรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่รับรองการเกิด ทำให้กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเด็กหากได้รับสัญชาติไทย ตั้งแต่ต้นก็จะเข้าถึงสิทธิ์ในการรักษาสุขภาพได้ 

สำหรับความกังวลว่าหากมีการรับรองการเกิดเด็กจากแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย หรือการให้สิทธิ์สวัสดิการสุขภาพแค่เด็กกลุ่มนี้ฟรีเหมือนเด็กไทยจะทำให้เกิดการไหลเข้ามาของกลุ่มเด็กและแรงงานข้ามชาติมากขึ้นหรือไม่ นายนท เหมินทร์ จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเฝ้าจับตา แต่มองว่าปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะการควบคุมโรคติดต่อที่ไม่ทั่วถึงก็จะเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงเช่นเดียวกัน จึงเห็นด้วยหากจะทำให้เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพไปด้วย 

สอดคล้องกับ นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ภัยความมั่นคงปัจจุบันคือเรื่องของปัญหาสุขภาพและสาธารณสุข ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของโรคระบาด โดยใน จ.ตาก มีความไม่มั่นคงของพื้นที่เยอะมาก เพราะไม่เพียงแต่โควิด-19 แต่ยังมีโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น มาลาเรีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยหลักประกันสุขภาพ ที่จะช่วยทำให้ทุกคนสบายใจและมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล

“อย่างโรคมาลาเรีย ถ้าชาวบ้านฝั่งตรงข้ามไม่ดูแล ยุงก็บินข้ามพรมแดนมากัดคนไทย ทำให้การแพร่ระบาดเกิดซ้ำได้อีก หรืออย่างวัณโรคก็แพร่ได้ตามอากาศ ลมพัดไปมา ฉะนั้นการดูแลด้านสาธารณสุข เหตุผลหนึ่งนอกจากด้านมนุษยธรรมแล้ว อีกส่วนยังเป็นการควบคุมโรคติดต่อ ตัวอย่างชัดเจนคือโควิด-19 ที่เราควบคุมได้ ก็ด้วยนโยบายที่ช่วยทุกคนจริง ไม่ว่าใครก็รักษา หรือแม้กระทั่งข้ามไปฉีดวัคซีนให้” 

ด้าน นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าในส่วนของ (ร่าง) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับฉันทมติ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ และ สช. จะนำเอามติที่ผ่านการปรับปรุงจนสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเดือน ก.ค. 2565 และเมื่อ คสช. ให้ความเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 2 ประเด็นนี้ก็จะถูกเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าภายในเดือน ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนต่อไป

สำหรับ สถานการณ์การย้ายถิ่นฐาน เป็นปรากฎการณ์ร่วมในโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรข้ามชาติเข้ามามากที่สุดในอาเซียน โดยตัวเลขจากปี 2561 ไทยมีแรงงานข้ามชาติราว 3.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารถึงกว่า 1.8 ล้านคนหรือราว 41% โดยปัญหาของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่มีประกันสุขภาพ ก็เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีประกันสุขภาพ ก็เกิดค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ เป็นต้น

นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณ ไม่สามารถที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งเป็นกองทุนสุขภาพเฉพาะคนไทยในการสนับสนุนการรักษาของกลุ่มเด็กและแรงงานข้ามชาติได้เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่หากจะมีการแยกกองทุนสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลัง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS