เนื่องใน “วันเบาหวานโลก” หลายภาคส่วนร่วมรณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาล ป้องกันโรค NCDs ชี้แม้คนไทย บริโภคน้ำตาลลดลงจากในอดีต แต่ก็ยังสูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ถึง 4 เท่า
วันนี้ (14 พ.ย. 67) รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เป็นอีกหนึ่งวันที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยปี 2567 รณรงค์ภายใต้แนวคิด : “Diabetes and Well-Being” เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้เป็นเบาหวานให้สมบูรณ์ที่สุด
รศ.นพ.ฉันชาย ระบุว่า ปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลก ซึ่งสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยทุก ๆ 10 คน เป็นเบาหวาน 1 คน ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และต้องการความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคนี้
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการกินน้ำตาลเกินความจำเป็น ซึ่งมาจาก เครื่องดื่ม มากที่สุด รองลงมาคือ อาหาร และ ขนม เป็นต้นเหตุทำให้ อ้วนลงพุง ไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่ม โรค NCDs โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน ทำให้ต้องเดินหน้าลดการบริโภคน้ำตาลตั้งแต่ต้นทาง จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน, กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันมาตรการทางภาษีความหวาน ภายใต้ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเสี่ยงต่อสุขภาพ สนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่มที่หวานน้อย ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลลง 35%
ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบการบริโภคน้ำตาลลดลงจาก 27 ช้อนชา/วัน ในปี 2560 เหลือ 25.2 ช้อนชา/วัน ในปี 2565 แม้ว่าแนวโน้มลดลง แต่ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน กว่า 4 เท่า
“จำเป็นต้องเร่งปรับการทำงานให้เข้มข้น ควบคู่กับการรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องผ่านนวัตกรรมสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชัน Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร การทำงานเชิงระบบ อย่างเกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) เป็นกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดหวาน มัน เค็ม เกิดการผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กนักเรียน ขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน กว่า 2,000 แห่ง ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ต้องทำควบคู่กับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว”
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม