ชวนจับตากฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล 5 ฉบับ เข้าสู่สภาฯ กี่โมง ? ชี้เป็นช่องทางช่วยเหลือ เยียวยา เอาผิด การถูกเลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง
วันนี้ (25 ต.ค.67) มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR), เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดงาน “สมัชชาเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ครั้งที่ 1 Building Bridges – Breaking Barriers : สร้างเครือข่าย ทลายกำแพงเลือกปฏิบัติ เพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดบริการสุขภาพแบบไม่เลือกปฎิบัติ
จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) และกองเลขาเครือข่าย (MovED) กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า ต้องการได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เนื่องจากเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ แต่ที่ผ่านมามีหลายคนถูกเลือกปฎิบัติ หรือไม่ได้รับบริการตามมาตรฐาน จากความเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะ ถูกอคติหรือมุมมองด้านลบ จึงอยากที่จะรวบรวมความเห็นจากภาคีฯ ที่ได้รับกระทบว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร จึงกลายมาเป็นการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับระบบสุขภาพที่ไม่เลือกปฏิบัติ
ส่วนเป้าหมายที่สอง คือ การชวนพี่น้องในชุมชนที่เป็นสมาชิกที่มาจากหลากหลายกลุ่มได้มาพบเจอ เรียนรู้ข้ามข่าย ข้ามประเด็น เพราะแต่ละคนอาจจะทำงานคนละประเด็นไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อนทำหรือเข้าใจเล็กน้อย จึงอยากให้เห็นว่าใครทำอะไรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีฯ
“การทำให้สังคมไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลานาน แต่อย่างน้อยการขับเคลื่อนนี้ก็เป็นการส่งเสียงถึงสังคม ผู้มีอำนาจในกฎหมาย ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย และหน่วยงานรัฐ ให้รู้ว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่ การจัดสมัชชา MovED ก็เพื่อประกาศเจตนารมย์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเช่นเดียวกัน อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
จารุณี ศิริพันธุ์
พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ปัญหาที่ประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพต่างๆ ได้หรือไม่มีบริการทางด้านสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มนี้ เป็นการชี้ชัดว่ามีการเลือกปฏิบัติทั้งระดับของระบบการบริการและตัวบุคคล ฉะนั้น หากให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมีสิทธิ์ร่วมออกแบบและเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการสร้างองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชน หรือกลุ่มคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้น หากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมให้มีล่ามเพื่อสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ ก็จะลดการถูกปฏิเสธการรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการถูกเลือกปฏิบัติสามารถขับเคลื่อนผ่านประเด็นสุขภาพได้เช่นกัน
ทั้งนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดบริการสุขภาพแบบไม่เลือกปฎิบัติ มีทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 ความรู้ ความตระหนัก ทักษะ ทัศนคติของผู้ให้บริการที่ต้องโอบรับความแตกต่างหลากหลาย
- ปรับฐานคิดของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการสุขภาพ หมอ พยาบาล ในเรื่องสิทธิมนุษยชน อัตลักษณ์ทับซ้อน gender gender-based violence SOGIESC การทำแท้งปลอดภัย อนามัยเจริญพันธุ์ ความรื่นรมย์ทางเพศ/sex toy ผู้ใช้สารเสพติด/Harm Reduction ผู้ต้องขัง และผู้มีปัญหาสุขภาพจิต แรงงานข้ามชาติ และความรู้เรื่องสาธารณสุขโลก รวมถึงการจัดการกับฐานคิดเรื่องระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่มองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
- สนับสนุนให้เกิดพื้นที่กลาง หรือหลักสูตรเรียนรู้ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุข เพื่อทำความเข้าใจบริบทของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเพื่อป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติในหน่วยบริการสุขภาพโดยต้องเพิ่มผลตอบแทนเพื่อจูงใจให้แก่บุคลากร นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ได้รับเป็นปกติอยู่แล้ว
- การพัฒนาศักยภาพของอสม. อสส. สสอ. รพสต. อสต.ในพื้นที่เพื่อให้บริการปฐมภูมิได้อย่างเข้มข้นและเป็นระบบมากขึ้น
- สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ และผู้นำทางศาสนาในพื้นที่พหุวัฒนธรรม เพื่อป้องปรามความไม่รู้ที่อาจนำไปสู่การสร้างอคติ ความเกลียดชัง และการเลือกปฏิบัติ โดยมีความต่างระหว่างศาสนาเป็นข้ออ้าง
- ต้องให้กระทรวงสาธารณสุข และมหาดไทย ร่วมกันพัฒนาบุคลากรที่อยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางมา ให้สามารถเป็นผู้ให้บริการขั้นต้นได้ในพื้นที่ และต้องเท่าทันทั้งความรู้วิชาชีพ และการเข้าใจเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย หรือการไม่กีดกัน แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติในชุมชน
ด้านที่ 2 การพัฒนามาตรฐานบริการ และการบังคับใช้หรือการควบคุมให้ได้ตามมาตรฐาน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การป้องกัน
มาตรฐานบริการ
- จัดให้มีมาตรฐานบริการสุขภาพให้ครบทุก Setting ครอบคลุมในเรือนจำ โดยเฉพาะเรื่องของ ฮอร์โมน การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด และต้องสนับสนุนให้ผู้ต้องขังรับรู้สิทธิการรักษาและบริการด้านสุขภาพที่ตนจะได้รับทั้งระหว่างต้องขังและหลังพ้นโทษ
- พัฒนามาตรฐานบริการให้ครอบคลุมครบทุกคน โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน โดยปราศจากการชี้นำ ครอบงำ ควบคุม ของผู้ปกครองหรือสหวิชาชีพ เพื่อให้เด็กเยาวชนผู้รับบริการสามารถตัดสินใจเข้ารับการรักษา/บริการด้านต่าง ๆ ด้วยตัวเอง (โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า – ยาเสพติด – การตั้งครรภ์ – ยุติการตั้งครรภ์ – การถูกล่วงละเมิดทางเพศ -โรคที่เกิดจากผลกระทบของการถูกกลั่นแกล้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ)
- ต้องจัดให้มีมาตรฐานสำหรับเวชศาสตร์อุตสาหกรรม (ในพื้นที่อุตสาหกรรม หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
มาตรฐานหน่วยบริการ
- ให้ความสำคัญนโยบายรักษาความลับของข้อมูลผู้ป่วย โดยไม่ปล่อยให้รั่วไหล หรือมีการเปิดเผยได้ง่าย
- ต้องจัดให้มีคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้บุคลากรเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกกลุ่มประชากร
- ให้ผู้รับบริการสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ โดยไม่ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่เวชระเบียน
- จ้างล่าม หรือคนแปลภาษาสำหรับประชากรกลุ่มต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
- โรงพยาบาลต้องจัดบริการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยโรงพยาบาลห้ามตั้งเงื่อนไขในการเข้ารับบริการสุขภาพ เช่น ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเครื่องมือที่ดีกว่า เพื่อคิวที่รวดเร็วกว่า หรือจ่ายเพิ่มเนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะที่ต้องทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์มากกว่าผู้รับบริการทั่วไป
- หน่วยบริการ ต้องส่งเสริมความรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพื่อรู้สิทธิการรักษาและบริการพื้นฐานอย่างครบถ้วนครอบคลุมรอบด้าน เพื่อให้ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มิใช่การโน้มน้าว บังคับ กดดัน ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอจึงจะให้บริการ (เช่น ต้องทำหมันถึงได้รับการรักษา / รับยาต่อเนื่อง)
- ให้มีการแสดงป้ายสัญลักษณ์บอกบริการสำคัญ หรือเวลาการให้บริการ ควรระบุให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกภาษาที่ใช้ในท้องถิ่น รวมทั้งคนพิการสามารถเข้าใจได้ง่าย
การบังคับใช้
- สรพ. ต้องบรรจุการห้ามเลือกปฏิบัติเป็นหนึ่งเกณฑ์การประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานบริการ
- ให้เเพทยสภา กำหนดให้มีข้อบังคับใช้มาตรฐานวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามปฏิเสธบริการสำหรับกลุ่มประชากรเฉพาะ กลุ่มประชากรที่มีความต้องการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ หรือการเปิดเผยความลับ โดยต้องมีกระบวนการประเมินบุคลากรผู้ให้บริการที่เป็นตัวการ เกี่ยวข้อง หรือมีเหตุร้องเรียนซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่ากระทำการเลือกปฏิบัติ ให้การประเมินนั้นมีผลผูกพันกับการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ
- สปสช.กำกับ ควบคุมคุณภาพการให้บริการของคลินิกร่วมบริการและกำหนดมาตรการลงโทษแก่คลินิกที่จงใจใช้ยานอกบัญชี เพื่อให้ผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มโรคต้องจ่ายเงินเพิ่ม
การช่วยเหลือเยียวยา
- กองทุนช่วยเหลือเบื้องต้น (ม.41)ความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ต้องรวมถึงผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติในการรับบริการหรือการปฏิเสธบริการด้วย
ด้านที่ 3 ทรัพยากร งบประมาณ การลงทุนเพิ่มกับนวัตกรรม เพื่อทำให้เข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและเสมอภาค
บุคลากร
- ศักยภาพบุคลากร: รัฐจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องทำแท้งปลอดภัย gender-based violence, SOGIESC (เพศสี่ด้าน วัน inclusion/การมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่างๆ ฯลฯ) สิทธิมนุษชน อัตลักษณ์ทับซ้อน ความแตกต่างหลากหลาย (diversity)
- จำนวนบุคลากร: ให้มีการเพิ่มบุคลากรลำดับสองในการช่วยงานเพื่อป้องกัน – คัดกรอง และดูแลผู้ป่วย เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ โดยทำงานร่วมกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม โดยมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง ประสานคิวโรงพยาบาล และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น
นวัตกรรม
- งบประมาณในการจัดจ้างล่าม และอาสาสมัครในหน่วยบริการ
- ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านโครงสร้างและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ฯ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มประชากรเฉพาะที่มีความต้องการพิเศษ
- ต้องส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์เข้าใจเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนพิการ เช่น ระบบล่ามออนไลน์ ของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งชาติ (TTRS) ที่สนับสนุนการแปลภาษาของคนหูหนวก (ซึ่งมักถูกห้ามให้ใช้ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพราะ รพ.มีข้อกำหนดห้ามใช้มือถือระหว่างรับบริการ)
- ให้กระทรวงสาธารณสุขนำระบบบริการ Smart Service โดยการใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ควบคู่กับการให้บริการ เพื่อให้เกิดคุณภาพอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการรับคิว (เช่นจองคิวผ่านแอพพลิเคชันออนไลน์) รอคิว ติดตามผู้รับบริการ และการประเมินผู้ให้บริการ
- ให้มีการขยายการเข้าถึงบริการแบบ Telehealth สถานชีวาภิบาล หรือร้านขายยาทางเลือก เพื่อลดความแออัดในการมาใช้บริการโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงจากการเลือกปฏิบัติ โดยต้องสนับสนุนกระบวนการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ของบริการด้านสุขภาพ ที่ไม่ได้เกิดจากหมอหรือแพทย์เหล่านี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการควบคู่ไปด้วย
- นวัตกรรมทางการแพทย์เฉาะพื้นที่ตามแต่ละบริบทของกลุ่มประชากร (เช่น พิษวิทยา / เวชศาสตร์อุตสาหกรรม)
ระบบสุขภาพโดยชุมชน
- ลงทุนด้านงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพโดยชุมชน (Community – Led Health Service) รวมทั้งการพัฒนาความรู้เดิม(Know How)ในการรักษาพยาบาลตามบริบทสังคมของแต่ละพื้นที่
- จัดให้มีงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชน
การเยียวยา
- งบประมาณในการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ และเข้าไม่ถึงบริการ กองทุนสุขภาพเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาที่ผิดพลาด
ด้านที่ 4 การสนับสนุนพลังชุมชน ในการออกแบบ ร่วมจัดบริการ และติดตามคุณภาพบริการ
ชุมชนเป็นหน่วยร่วมจัดบริการ
- การสนับสนุนให้ชุมชนจัดบริการสุขภาพให้ครอบคลุม และต้องลดเงื่อนไข เพื่อให้องค์กรชุมชนเล็ก ๆ สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นหน่วยร่วมจัดบริการได้ (มาตรา 3) รวมถึงการทำงานด้านสุขภาพเชิงรุกในชุมชน เช่น ให้มีสุขศาลา
- กำหนดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยร่วมกับผู้นำชุมชน หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่
- ให้กลุ่มประชากรเฉพาะได้รับการอบรบที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐและมีใบรับรองว่าสามารถให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านกฎหมาย สังคมสงเคราะห์ สุขภาพจิตได้
- กฎหมายเรื่องของวิชาชีพเรื่องนักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร แพทย์ ในการจัดบริการโดยชุมชนเช่นการจ่าย PrEP ไม่ได้
ชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกติดตาม (community-led monitoring) ตรวจสอบ
- ให้มีการเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในการเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง กำกับ ติดตาม ประเมินผล และกำหนดบทลงโทษ กรณีเลือกปฏิบัติ หรือละเมิดสิทธิในหน่วยบริการ โดยต้องทำให้กระบวนการตรวจสอบสามารถติดตามผลได้ง่าย
- ส่งเสริมกลไกตรวจสอบโดยภาคประชาชน ในการติดตามและควบคุมคุณภาพบริการ และการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขทุกปี
ด้านที่ 5 การปรับแก้กฎหมาย นโยบาย ที่เป็นอุปสรรคโดยตรง
- ผลักดันให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ส่วนมากมีเจ้าภาพอยู่แล้ว
- ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ และชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพ กาย – จิต เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึง
- จัดระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว หรือ Health for All ทุกคน ทุกที่ ไม่ต้องแยกเป็น 30 บาท ประกันสังคมหรือระบบอื่นๆ
- ผลักดันกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นการเลือกปฏิบัติ และส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพ เช่น การมีระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ (การแก้ไขมาตรา 5 ในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จากเพียง “คนไทย” เป็น “ผู้พำนักอาศัยบนแผ่นดินไทย” เพื่อป้องกันการตกหล่นของผู้มีปัญหาสถานะ หรือแรงงานข้ามชาติที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย ,แก้กฎหมายประกันสังคม เพื่อให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ,การแก้กฎหมายเพื่อลดทอนความผิดทางอาญาของผู้ใช้สารเสพติด ,พ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศ หรือกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ,ต้องจัดให้อุปกรณ์เพื่อสนับสนุน การบำบัดดูแล สุขภาวะทางเพศ (Sex Toys) เป็นหนึ่งในบริการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข และเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน เสนอให้เอาออกจากความผิดทางอาญาซึ่งทำไปพร้อมกับการยกเลิก ผลักดัน ปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ทำแท้ง ฯลฯ
- ต้องกำหนดให้การปฏิเสธบริการรักษาเป็นหนึ่งในสิ่งไม่สามารถพึงกระทำได้ และต้องมีบทกำหนดโทษบุคลากรที่กระทำการปฏิเสธการรักษาหรือบริการด้านสาธารณสุขจนส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลในการดำเนินชีวิต เช่น ปฏิเสธบริการล้างไตเพราะเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ปฏิเสธบริการเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูคนพิการ ตามสิทธิ (ทร.74) ปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์
- การเข้าถึงยา/ระบบยา : การเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาถูกและได้มาตรฐาน เช่น การทำให้ยาต้านเศร้าอยู่ในบัญชียาหลัก (การจัดการเรื่องสิทธิบัตรยา/การต่อรองราคายา) หน่วยงาน: อย. องค์การเภสัช สปสช. (แต่เค้าจะขยับเมื่อภาคประชาสังคมผลักดัน)
- การสนับสนุนพลังชุมชนในการร่วมจัดบริการ: สนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมขึ้นทะเบียนมาตรา 3 เพื่อร่วมจัดบริการและเบิกจ่ายได้ แก้ไขกฎหมาย/ข้อบังคับเรื่องของวิชาชีพที่จำกัดการจัดบริการโดยชุมชน เช่น การจ่าย/สต๊อกยา PrEP ไม่ได้
ด้านที่ 6 ด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากระบบสุขภาพ
- พัฒนาการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิสุขภาพ /รู้สิทธิตัวเองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมทุกกลุ่มภาษา และความพิการที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่อ
- ทำความเข้าใจกับสื่อต่างๆ ให้ผลิตสื่อที่ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ไม่เหมารวมหรือสร้างความเข้าใจผิด เช่นผู้ใช้สารเสพติดเป็นอาชญากร หรือผู้ป่วยจิตเวชเป็นบุคคลที่ไม่ปกติ
- กองทุนเกษียณสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานในระบบราชการ และให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ
ในงานยังมีการเปิดรายงานการสังเคราะห์ข้อมูลข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดบริการสุขภาพแบบไม่เลือกปฏิบัติ โดยนักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงการหารือแผนและแนวทางในการจัดทำและยื่นเสนอต่อหน่วยงาน โดยระบุความจำเป็นเร่งด่วนที่อยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมผลักดัน ดำเนินการได้ภายใต้การทำงานของชุมชนในการยื่นร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากข่ายต่างๆ ให้ตัวแทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเคลื่อนพลังจาก MovED ไปสู่พลัง G-MovED
พร้อมให้ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นผ่านมุมมอง สสส. โดย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ที่ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน ประชากรข้ามชาติ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องกรรม ความผิดปกติทางจิต และการเลี้ยงดูที่ไม่ดี การไม่ยอมรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายตามมา สะท้อนให้เห็นอคติที่อยู่ลึกในใจของคนส่วนหนึ่งในสังคมไทย หรือในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานมากกว่าการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สสส. จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบ จึงสานพลังภาคีเครือข่าย MovED เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกคนในการอยู่ร่วมกัน ร่วมหาทางออก สร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ลดอคติ ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมเน้นย้ำให้สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิของทุกคน เพราะไม่ควรมีใครถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ
ขณะที่ความคาดหวังสูงสุดของสมัชชาเครือข่าย MovED คือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ มีทั้งหมด 5 ร่างฯ จาก กระทรวงยุติธรรม พรรคการเมือง และภาคประชาชน
“การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ภาคประชาชนเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ในสังคม รวมถึงความสำเร็จอาจไม่ใช่อยู่ที่การมีกฎหมายอย่างเดียว แต่หมายถึงระหว่างทางของการจัดทำกฎหมายได้คุยกับคนในสังคมว่าทำไมต้องมีกฎหมายนี้ ซึ่งเราคิดว่าทุกคนเกี่ยวข้องหมดอยากจะให้เป็นเรื่องของทุกคน”
จารุณี ศิริพันธุ์