เสนอ ครม.ใช้มาตรการภาษี แคลอรี่เครดิต แก้โรค NCDs

เผยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คร่าชีวิตคนไทยปีละ 4 แสนคน สูญเสียเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้านบาท เล็งใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ปรับพฤติกรรมประชาชน พร้อมส่งเสริมองค์กรดูแลสุขภาพพนักงาน

วันนี้ (24 ต.ค. 67) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ สช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. มีมติเห็นชอบนโยบายใหม่เพื่อลดปัญหา โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีและการเงินเป็นแรงจูงใจ พร้อมนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาปรับใช้

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ สช.

ทั้งนี้ โรค NCDs นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย คิดเป็น 81% หรือกว่า 4 แสนรายต่อปี สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเพราะผู้ป่วยมีอายุน้อยลง

มาตรการใหม่ที่เสนอนี้จะใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน เช่น การจัดวางสินค้าเพื่อสุขภาพในระดับสายตา ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกจำกัดการเข้าถึง นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการทางภาษี (Tax Incentive) เพื่อจูงใจให้องค์กรและบริษัทส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกายและมีสุขภาพดี

ที่ประชุมยังเสนอให้พัฒนาระบบ แคลอรี่เครดิต คล้ายกับ คาร์บอนเครดิต โดยองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพดีอาจได้รับเครดิตที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ของบริษัทได้ 

นโยบายนี้ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย การควบคุมการจำหน่ายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหาร สช. กล่าวว่า ทางสำนักงานจะผลักดันให้มาตรการเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในระดับท้องถิ่นและชุมชน โดยบูรณาการเข้ากับเครื่องมือต่างๆ ของ สช. เช่น ธรรมนูญสุขภาพ เพื่อให้การแก้ปัญหาโรค NCDs มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มาตรการนี้ได้รับความเห็นชอบจากกว่า 200 หน่วยงานในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 และจะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป​​​​​​​​​​​​​​​​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active