ย้ำ สธ. ตั้งเป้าต่อสู้กับโรค NCDs หวังลดค่าใช้จ่ายสุขภาพ พร้อมขยายบริการด้านสุขภาพจิต เดินหน้าผลักดัน 7 นโยบายหลัก
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลงานเด่นในปีนี้ของกระทรวงฯ ซึ่งได้ผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ
- ร่าง พ.ร.บ.กสธ. เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โดยแยกออกมาจาก กพ.
- ร่าง พ.ร.บ.อสม. จะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ อสม. กำหนดค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาท
- ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่จะตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อหางบประมาณสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตทุกมิติ โดยผู้ป่วยจิตเวชในไทยมากกว่า 70% ใช้สารเสพติดร่วมด้วย
นอกจากนั้น ยังมีโครงการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา หรือ “โครงการ 9 หมอ” โดยผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขากระจายไปสู่ภูมิภาค ระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. ด้วยงบประมาณ 3,723 ล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรการแพทย์ 62,000 คน ภายในปี 2577 พร้อมเดินหน้ายกระดับระบบบริการในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบาง
ในส่วน แผนงานปี 2568 กระทรวงสาธารณสุข จะมุ่งเน้น 7 นโยบายหลัก เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่จะพัฒนาระบบการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น Telemedicine และ AI พร้อมเสริมสร้างระบบบริการสุขภาพจิตและการบำบัดยาเสพติด
สมศักดิ์ ย้ำว่า ปี 2568 จะเป็นปีส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สำคัญ ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ, ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวมสู่การปฏิบัติ, ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ เช่น พ.ร.บ. NCDs
“คนไทยเสียชีวิตปีละ 400,000 คนจากโรค NCDs ทั้งมะเร็ง หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ฯลฯ หน่วยแพทย์มีความรู้แต่ไม่มีเวลาไปรณรงค์ประชาชนจึงควรให้ อสม. มาช่วยรณรงค์เรื่องนี้ แนะนำวิธีกินที่เรียกว่า กินเป็นไม่ป่วย”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
รมว.กระทรวงสาธารณสุข บอกอีกว่า อาจมีรางวัล หรือมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับคนที่สุขภาพดี ไม่ป่วยเพราะสถาบันพระบรมราชชนกได้คำนวณวิจัยว่าถ้าใน 50,000 คน มีคนเป็นโรค NCDs ราว 800 กว่าคน จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 153 ล้านบาท ถ้า 5 แสนคน ก็ลดไป 1,530 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย โดยมีเป้าหมายสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570
7 นโยบายสาธารณสุข ปี 2568
- ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ เน้นเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของข้อมูลสุขภาพ, พัฒนาระบบบริการด้วยเทเลเมดิซีน, AI และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์, ขยายเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิดิจิทัล และพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด โดยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งระบบบริการให้คำปรึกษาโดย “นักจิตบำบัด” ให้มีมาตรฐาน, ยกระดับ “มินิธัญญารักษ์” และ “ทีมชุมชนล้อมรักษ์” รองรับระบบบำบัด รักษา ฟื้นฟู ที่มีแบบแผนเฉพาะบุคคล และให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยหลังบำบัด และตั้งกรมสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด ปรับปรุงโครงสร้างระดับพื้นที่
- คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ โดยส่งเสริมสุขภาพทุกมิติเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สำคัญ ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ, ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวมสู่การปฏิบัติ, ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ เช่น พ.ร.บ. NCDs การป้องกันผู้สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่, สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม, สานต่อนโยบายมะเร็งครบวงจร ขยายความครอบคลุมการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) คัดกรองป้องกันมะเร็ง และผลักดันแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
- สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน โดยเฉพาะ อสม. พัฒนากฎหมายสนับสนุน เช่น พ.ร.บ.อสม. เพิ่มศักยภาพ อสม. เพื่อส่งเสริมงานสุขภาพเชิงรุกในชุมชน และส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม
- จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มเปราะบางและพื้นที่พิเศษ โดยยกระดับสถานชีวาภิบาลและกุฏิชีวาภิบาล, เพิ่มศักยภาพระบบบริการสุขภาพและหน่วยบริการพื้นที่ชายแดน และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ในชุมชน เพื่อเพิ่มการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบางในระดับพื้นที่
- เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical and Wellness Hub โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความปลอดภัยทุกมิติ, ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อการแพทย์ในระบบบริการ, เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอนอนุมัติ/อนุญาต และส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์
- บริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข โดยเพิ่มการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.กสธ., พัฒนากฎหมายระบบสนับสนุนการบริหารจัดการโรงพยาบาลและการจัดซื้อจัดจ้าง, บริหารจัดการงบประมาณและกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาการสาธารณสุขกับภาคส่วนอื่น สานต่อนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลสีเขียว ปรับปรุงให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม