กมธ.สาธารณสุข เชิญ 3 ฝ่าย ถกทางออก สปสช. ลดงบฯ รายหัว ผู้ป่วยบัตรทอง

ผอ.รพ.สระบุรี เข้าชี้แจงผลกระทบ สปสช. ลดงบฯ จ่ายรายหัวผู้ป่วยใน ทำ โรงพยาบาลขาดทุนหลายแห่ง ขณะที่ ปธ.ชมรม รพ.ศูนย์ฯ เสนอ แผนระยะสั้นจ่ายผู้ป่วยในรายหัวขั้นต่ำ 8,350 บาท ระยะกลางเพิ่ม งบฯ 68 ระยะยาว เพิ่มเงินสนับสนุนกรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์ แนะแก้กฎหมายให้เหมาะสม เน้นกระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ครั้งที่ 34 มีหนังสือด่วนที่สุด นัดประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ปรับลดงบประมาณการรักษาผู้ป่วยใน โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไป และ พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี

นพ.อนุกูล บอกว่า ปัญหาโรงพยาบาลเงินไม่เพียงพอเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่จะมากน้อยต่างกัน ครั้งนี้ได้นำข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่มาของการมาชี้แจง เพื่อให้เห็นความสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่จัดสรร พร้อมวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤต และข้อเสนอในฐานนะตัวแทนโรงพยาบาล โดยจากที่ได้วิเคราะห์ พบว่า โรงพยาบาลรัฐไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลชุมชน หน้าที่บริการหลัก คือ การให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหมุนเพื่อการบริหารจัดการซื้อยาจ้างลูกจ้างจ่ายโอทีมาจากบัตรทองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสิทธิบัตรทองเป็นหน้าที่หลักและรายรับหลักของโรงพยาบาล ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรก็จะกระทบสถานการณ์การเงินของโรงพยาบาล 

“ปัญหาเกิดจากการจัดสรรงบฯ ของ สปสช. ที่ขอไปแล้วได้รับจัดสรรลงมา อาจจะไม่สะท้อนต้นทุน คือ สิ่งที่โรงพยาบาลจะต้องใช้ในการรักษาคนไข้ ไม่ได้คิดถึงกำไรขาดทุน เราคิดถึงภาระที่ต้องจ่าย ถ้าเราดูแล้วหมวดหลักที่มีปัญหาเยอะสุด คือ ผู้ป่วยใน ชัดเจนว่าเรามีต้นทุนจากการศึกษา 13,124 บาท ต่อหน่วย แต่ สปสช. จัดสรรให้ 8,350 บาทต่อหน่วย มาหลายปีแล้ว ทำให้อัตราการจ่ายเท่านี้ ทำให้เหลือเงินบำรุงที่จะนำไปบริหารจัดการลดลงเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าโรงพยาบาลไหนรักษาเยอะก็จะยิ่งลดลง พูดแบบแบบตรงไปตรงมา และมันจะหนักขึ้นกว่าในปีนี้ เพราะว่ามีการให้บริการมากขึ้น คนไข้หนักซับซ้อนมากขึ้น โรงพยาบาลรักษาโรคยากได้มากขึ้น และคนไข้ที่สะสมมาจากช่วงโควิดกลับมารักษามากขึ้น ซึ่งงบฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ทำให้มีปัญหาในช่วงปลายปี”

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์

นพ.อนุกูล บอกด้วยว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สปสช. ปรับลดการจ่ายจากเดิม 8,350 บาท ลงมาเหลือ 7,000 บาท ต่อหน่วย ทำให้กระทบเงินที่เหลือมาบริหารจัดการ ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดลง ปัญหาคือ พอเงินลดลงจากที่คาด โรงพยาบาลที่มีเงินไม่เยอะ ก็จะกระทบก่อน โรงพยาบาลที่ยังพอมีเงินเหลือเยอะก็จะกระทบช้าลง โดยมีข้อเสนอว่า

ระยะสั้น คือการเพิ่มงบฯ รายหัวให้ 8,350 บาท ระยะกลาง จากที่ทราบว่ารัฐบาลอนุมัติงบฯ ปี 68 ในหมวดผู้ป่วยใน ของสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้น 16% ถ้างบตรงนี้ลงมา เชื่อว่าจะทำให้อัตราการจ่าย จะสูงขึ้นกว่า 8,350 บาท ต่อหน่วย หาก สปสช. จัดสรรงบฯ จากจำนวนเงินที่ได้เพิ่มมากขึ้นลงมา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาระยะกลาง ส่วน ระยะยาว อยากให้มีการแก้ปัญหา โดยการจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้น เรื่องการจัดสรรงบฯ ปลายปิด งบฯ ปลายเปิด

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์-โรงพยาบาลทั่วไป

“ต้องขอบคุณ กมธ. หลายท่านที่เห็นด้วยกับปัญหาที่เสนอ ในการจัดสรรงบฯ ของ สปสช. ค่าใช้จ่ายหลักคืออยู่ที่ผู้ป่วยใน เชื่อว่าไม่มีคนไข้ที่อยู่ดี ๆ แล้วอยากนอนโรงพยาบาล หมอเองถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ได้อยากให้คนไข้แอดมิด คนไข้หนักที่เข้าไอซียู คนไข้ที่มีมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องผ่าตัด กลุ่มนี้ไม่ควรเป็นงบฯ ปลายปิด ควรเป็นงบฯ ที่จ่ายตามการดำเนินงานจริง เราคงไปบอกไม่ได้ว่า งบฯผู้ป่วยในไอซียูพอแล้วนะ เพราะหมดงบฯ มันเป็นไปไม่ได้ครับ”

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์

นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่รับปากว่าหาเงินมาให้ได้ 8,350 บาทต่อหน่วย ขอบคุณที่เข้าใจและสนับสนุน แต่นี่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า เพราะปีที่แล้วก็มาคุยแบบนี้ และ ใช้เงินประมาณ 2,600 ล้าน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ ปีนี้คาดว่าน่าจะใช้ประมาณเกือบหมื่นล้าน ตามที่ สปสช. แจ้งไว้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน 

สอดคล้องกับ พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี ที่ระบุว่า งบฯ ที่ สปสช.จัดสรรให้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน เมื่อหักเงินเดือน เหลือแค่ 32% ของราคาที่รักษาผู้ป่วยไป ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยายาลต้องรับผิดชอบส่วนเกินมาโดยตลอด

พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลสระบุรี

“งบฯ ผู้ป่วยในเป็นงบฯ ก้อนใหญ่ใหญ่ที่สุด ที่เราได้รับจาก สปสช. แล้วถ้าจ่ายอย่างนี้ แสดงว่าเราจะต้องดูแลตัวเอง ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากงบประมาณที่ไม่เพียงพออยู่แล้วในส่วนนี้ รวมทั้งการให้บริการที่มากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ทำให้งบฯที่จัดสรรมาไม่เพียง ทำให้เกิดตัวหารที่เพิ่มขึ้น เมื่องบไม่เพียงพอจะทำอย่างไรให้งบเพียงพอ หรือจะทำอย่างไรใช้จ่ายที่จะใช้จ่าย วันนี้เราพูดแค่เรื่องเดียวคือผู้ป่วยใน จริง ๆ มีเรื่องของ และการส่งเสริมป้องกันโรค ตอนนี้เรามองเป็นก้อนใหญ่และก้อนหลักของโรงพยาบาล สิทธิ 30 บาท อาจจะไม่เท่ากันทุกโรงพยาบาล อย่างโรงบาลศูนย์ ประมาณ 70 – 75% ผู้รับบริการ พอจ่ายน้อยเราต้องรับผิดชอบตัวเองและต้องขาดทุนไปเรื่อย ๆ และส่งผลต่อการพัฒนาโรงพยาบาล”

พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์

กมธ.สาธารณสุข เห็นด้วย เพิ่มงบฯ ผู้ป่วยใน

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข ยอมรับว่า ปัญหาผลกระทบงบประมาณผู้ป่วยในไม่เพียงพอ ส่งผลให้โรงพยาบาล ออกมาสะท้อนถึงปัญหาขาดทุนในการดูแลผู้ป่วยบัตรทอง กมธ. ได้เชิญทั้ง กระทรวงสาธารณสุข สปปช. ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสระบุรี มาให้ข้อมูลชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยกรณีผู้ป่วยในจะใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งการจ่ายชดเชยค่าบริการจะใช้วิธีการคำนวณแบบค่าน้ำหนักสัมพันธ์ แบบวินิจฉัยโรคร่วม หรือ AdjRW (Adjusted Relative Weight) หรือ จ่ายต่อหน่วยความซับซ้อนของโรค ซึ่งใน ปีงบฯ 67 นี้ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ศักยภาพในการรักษาโรคที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณที่ได้จัดสรรจำนวน 40,269 ล้านบาท ไม่เพียงพอในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อหน่วย จนถึงสิ้นปีงบประมาณ ทำให สปสช. มีมติให้ปรับอัตราจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 เป็น 7,000 บาทต่อหน่วย 

นพ.ทศพร ระบุว่า ทางชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ ได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการดังนี้ 

  • ในระยะสั้น ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในต้องจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 8,350 บาทต่อหน่วย

  • ในระยะกลาง งบฯ ผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2568 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องไม่เปลี่ยนไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น

  • ในระยะยาว ต้องนำต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงมาคำนวณกรอบงบประมาณ การเพิ่มสิทธิประโยชน์จะต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม และปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เหมาะสม เช่น ยกเลิกการหักเงินเดือนในค่าบริการผู้ป่วยใน ปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เพิ่มองค์ประกอบของผู้ให้บริการ และกระจายอำนาจให้ระดับเขตสุขภาพมากกว่าส่วนกลาง 
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข

พร้อมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ได้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการให้บริการ สาเหตุของปัญหาและเงินบำรุงคง เหลือหลังหักหนี้สินของโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งที่อยู่ในระบบหลักประกัน เพื่อแก้ไขปัญหา และพิจารณาต้นทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 

และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน สปสช. ยังได้เสนอของบฯ กลาง เพิ่มเติมจากรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ครม. มติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 5,924 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุก และนำมาบริหารจัดการจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน ซึ่ง สปสช. จะหารือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย. นี้

“กมธ. เราเห็นควรว่าจะต้องจ่ายในอัตรานี้ และปัญหาในระยะยาวที่จะต้องแก้ไข คือ สำนักงบประมาณ ต้องให้งบประมาณ กับกระทรวงสาธารณสุข กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในงบประมาณที่เพียงพอ ไม่ใช่ให้มาอย่างจำกัดจำเขียด เสร็จแล้วต้องมาบริหารกัน พอมาคำนวณแล้วจ่าย เงินต่อหน่วยลดลง แล้วเป็นปัญหาไปเรื่อยเรื่อยทุกปี เราเสนอไปว่า ในปีต่อไปควรมีการคำนวณเงินให้เพียงพอ และเผื่อการเติบโตของจำนวนคนไข้ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือว่า งบประมาณในการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ ต้องเน้นด้วยเช่นกันเพราะว่าถ้าหากประชาชนมีสุขภาพดีการเจ็บป่วยจะน้อยลง จำนวนคนนั้นป่วยที่เข้าไปนอนในโรงพยาบาล ลดลง ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะทำให้คงที่หรือลดลง” 

นพ.ทศพร เสรีรักษ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active