‘ชุมชนกรุณา’ ปฏิบัติการทางสังคม สนับสนุนการอยู่ดี-ตายดี

ชี้สถานการณ์ผู้ป่วยสูงวัยวิกฤตเพิ่มขึ้น ส่งผลโรงพยาบาลรองรับไม่เพียงพอ ปฏิบัติการ ‘ชุมชนกรุณา’ อาจเป็นทางออก สู่การสร้างความตระหนัก ปรับปรุงวิถีชีวิต ที่เอื้อต่อการดูแลแบบประคับประคองโดยภาคสังคม

จากสถานการณ์ที่ไทยมีผู้สุงอายุมากขึ้นและผู้ป่วยทั้งในและนอกระบบเยอะขึ้นทุกที และคาดการณ์ว่าในอนาคตอาจมีความต้องการเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาล จะรองรับได้ การพยายามดึงศักยภาพของชุมชนออกมาเพื่อดูแลกันเองก่อน จึงเป็นหนึ่งในแนวคิดเชิงปฏิบัติที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดในบทบาทของ “ชุมชนกรุณา” 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ภายในเวทีเสวนา เรื่อง “Compassionate community: เพื่อการอยู่และตายดี” ภายในงาน DMS Palliative Care: ทศวรรษแห่งการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (A Decade of Humanized Care) โดย โรงพยาบาลราชวิถี และ คณะทำงานพัฒนาระบบบริการด้านการดูแลประคับประคอง กรมการแพทย์

เอกภพ สิทธิวรรธนะ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา อธิบายให้ฟังถึง แนวคิด ชุมชนกรุณา (Compassionate communities) ว่า คือปฏิบัติการทางสังคม ที่พยายามทำให้คนและชุมชนมีความพร้อมในการรับมือกับความทุกข์ยากจากความเจ็บป่วย ความตาย ความสูญเสีย รวมถึงการดูแล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความกรุณา”

เอกภพ สิทธิวรรธนะ
เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณ

โดยเชื่อว่า แม้จะไม่ได้เป็น แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทุกคนมีทักษะ หรือความรู้ด้านต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ และนำมาช่วยให้คนรอบตัว หรือคนในชุมชนเดียวกันสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความสูญเสียไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้เข้าถึงการตายดี และตระหนักรับรู้ความไม่แน่นอนของชีวิตด้วย

การตระหนักถึงสิ่งดังกล่าว จะนำไปสู่การปรับปรุงวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เอื้อให้เราไปสู่การอยู่ดี (การมีชีวิตที่ดี) และตายดีได้ หรือพูดให้ง่าย ชุมชนกรุณาคือ การดูแลแบบประคับประคองภาคสังคมนั่นเอง

ย้ำอีกว่า ‘ชุมชนกรุณา’ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งนี้ภายในคู่มือ Quality health services and palliative care: practical approaches and resources to support policy, strategy and practice ตามแนวทางของ WHO ระบุไว้ว่า การจะทำงานดูแลประคับประคองที่มีคุณภาพได้ การมี “ชุมชน” ที่เข้มแข็งเป็นรากฐานสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่กลายเป็นสังคมสูงวัย รพ.ไม่สามารถจะรรับผู้ป่วยระยะยาวได้ทั้งหมดอีกต่อไป จึงต้องใช้บ้านและชุมชนดูแลพวกเขา

“เราไม่ได้มองว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยเป็นภาระ แต่เรามองว่านี่เป็นโอกาสให้รู้จักความจริงของชีวิต การมีสังคมที่แน่นแฟ้น จะทำให้เรามั่นใจว่า ไม่ว่าจะสุข-ทุกข์ เราจะมีชุมชนที่คนที่คอยดูแลกัน นี่จะทำให้ชุมชนของเรามีความสว่างไสวมากขึ้น สิ่งนี้คือศักยภาพที่เราสนับสนุนให้ทุกชุมชนมี”

เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ยังเสริมอีกว่า คำว่า “กรุณา” หรือ “compassionate” ก็เป็นคำที่น่าสนใจ และสอดรับกับบริบทบ้านเราเป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยมีรากฐานมาจากพุทธศาสนา

“คำว่า ‘กรุณา’ เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยดีมาก มันไม่ใช่แค่การอธิบายถึง การร่วมทุกข์ ร่วมสุขเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไม่รังเกียจความทุกข์ เพราะความทุกข์นั้นเป็นของดีที่บ่มเพาะ ขัดเกลาตัวตน ให้เรามีคุณภาพจากภายใน และการได้ช่วยเหลือผู้อื่นยังทำให้รู้สึกดีขึ้นอีกด้วย”

เอกภพ สิทธิวรรธนะ

นอกจากนี้ คำว่า ชุมชนกรุณา ยังมีอีกหลายนิยามที่มีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน เช่น “ชุมชนกระตือรือร้น” ที่หมายถึง ชุมชนที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นคนรอบตัวมีความทุกข์จากความเจ็บป่วย ความตาย และความสูญเสียด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีตำราหลายเล่มที่ศึกษาและอธิบายแนวคิดดังกล่าวไว้ เช่น Compassionate Cities: Public Health and End-of-life care หรือ เมืองแห่งความเอื้ออาทร ของ ศาสตราจารย์อัลลัน คีเลเฮียร์ (Allan Kellehear) ที่เล่าถึงข้อเสนอนโยบายด้านการสาธารณสุขระยะท้าย (End-of-l ife care) เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกอันผันผวนที่เรียกว่า VUCA (Volatile Uncertain Complex and Ambiguous) ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ชุมชนกรุณา หน้าตาเป็นอย่างไร ?

เอกภพ อธิบายด้วยว่า มีชุมชนกรุณาที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรมหลายแห่ง และกลายเป็นหนี่งในองคาพยพสำคัญที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพควบคู่ไปกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข

หนี่งในนั้นคือ กลุ่ม “I SEE U Contemplative Care” ที่เข้าไปช่วยอบรมอาสาสมัครเพื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะท้ายตามบ้าน ชุมชน และสถานสงเคราะห์ กลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการสร้างเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มชุมชนที่แข็งแรงอย่างเป็นรูปธรรม

“บนด้ายเส้นบางที่คั่นระหว่างความเป็นความตายที่ไม่น่าอภิรมย์ แต่พวกเขายังคงทำอยู่ต่อเนื่อง กลุ่มนี้เติบโตขึ้นเพราะอาสาสมัครรุ่นพี่ทำให้เขาเห็นว่าการดูแลผู้อื่น คือ การกลับมาเยียวยาตนเอง ช่วยให้เติบโต และมีหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ตอนนี้ เวลาเปิดรับสมัครกี่ครั้งก็เต็มตลอด สิ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในสังคมกำลังมองเห็นสิ่งเดียวกันอยู่”

เอกภพ สิทธิวรรธนะ

หรือแม้กระทั่ง “มุมอุ่นใจ” ใน โรงพยาบาลแม่สรวย จ.เชียงราย ที่เป็นมุมเล็ก ๆ ที่ตั้งในโรงพยาบาล ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยดูแลใจให้ผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรในโรงพยาบาล ไม่ว่าใครก็เดินเข้ามาแชร์เรื่องราวสุข-ทุกข์ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข และยังช่วยผู้ป่วยโรคไตได้วางแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Plan, ACP) ได้อีกด้วย

มุมอุ่นใจ เกิดจากการริเริ่มของลูกหลานในชุมชนเองที่มีความรู้และความสามารถในการเป็นกระบวนกร รวมถึงมองเห็นปัญหาการเข้าถึงสุขภาพในบ้านเกิด จนผลักดันให้เกิดเป็น “ชุมชนกรุณา”  ในอีกรูปแบบหนึ่งและกลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าของชุมชน

เหล่านี้คือตัวอย่างของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนจากคนในชุมชนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะการเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีผู้ป่วยจำนวนมากในอนาคตอาจเกิดกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว

ขณะที่ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ชี้ว่า การจะสร้างชุมชนกรุณาได้นั้น เริ่มจากการขยับขับเคลื่อนของคนทำงานตัวเล็ก ๆ ในวงล้อมแห่งสุขภาพ ปัจจุบันอาจติดปัญหาว่าแต่ละภาคส่วนยังต่างคนต่างทำงาน หากได้เจอคนที่กำลังทำงานในทิศทางเดียวกันและจับมือกันได้ที่จะขยายขอบเขตชุมชนกรุณาไปได้อีกไกล

วรรณา จารุสมบูรณ์
ประธานกลุ่ม Peaceful Death และ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชน

“จุดเริ่มต้นอาจมาจากการเล่าเรื่องงานของเราออกไป หลายคนเริ่มจากการโพสต์เฟซบุ๊ค จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัย จนต่อยอดเป็นงานวิจัยและโครงการระยะยาว สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครคิดฝัน แต่การสื่อสารออกไปมันไม่ใช่แค่เรื่องราว แต่มันคือการส่งต่อคุณค่าให้ไปพบกับคนที่ยึดถือคุณค่าแบบเดียวกัน สุดท้ายแล้ว ชุมชนกรุณาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน แผนก องค์กร ชุมชน หรือระดับสังคม เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้คนทำงานไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมั่นใจว่ายังมีคนที่พร้อมจะสนับสนุนและเดินไปกับเรา”

วรรณา จารุสมบูรณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active