‘กมธ.สาธารณสุข’ จ่อเชิญ รพ. – สปสช. ถกปมลดงบฯ ผู้ป่วยใน 19 ก.ย. นี้

หวั่นปล่อยไว้ อาจทำให้แพทย์ต้องตัดสินใจเลือกการรักษาแบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น มีผลต่อคุณภาพการรักษา กระทบชีวิตผู้ป่วย แนะรัฐบาล หากมีปัญหาการเงิน ให้ตัดงบฯ ส่วนอื่น ไม่ควรยุ่งงบฯ ผู้ป่วยใน 

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 67 พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับ TheActive ถึงกรณีโรงพยาบาลรัฐขาดทุน จากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ไม่เฉพาะเงินบำรุงโรงพยาบาล แต่ค่าชดเชยโควิดหลายโรงพยาบาลยังไม่ได้รับ ล่าสุดบางแห่งยกหนี้ให้ สปสช. ไปแล้ว สิ่งนี้สะท้อนสภาวะทางการเงินของ สปสช. ไม่ค่อยดีเท่าไร ก็ไม่ทราบว่าเหตุผลเพราะอะไร 

พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์

ปัญหาล่าสุดเหล่านี้ ตนมองว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน คือ การลดเงินอุดหนุนผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นควรจะถูกตัดลดช้าที่สุดถ้าเงินไม่พอ ต้องลดเงินผู้ป่วยนอกก่อนไหม ขณะที่ผู้ป่วยใน ที่จ่ายต่อหน่วย จาก 7,000 – 8,000 บาท ลดเหลือ 4,000 – 5,000 ต่อหน่วย ซึ่งมีผลต่อการผู้ดูแลผู้ป่วยแน่นอน โดยอาจมีผลต่อการตัดสินใจแอดมิดผู้ป่วยของแพทย์ เพราะถ้ารับผู้ป่วยในมากขึ้นโรงพยาบาลลก็อาจจะเข้าเนื้อขาดทุนมากขึ้น จะเกิดปัญหาการเลือกรักษาเป็นผู้ป่วยนอกมากกว่า 

“อาจมีเคสที่ก้ำกึ่ง สีเหลืองแต่บางเคสไม่สามารถปล่อยกลับบ้าน ควรจะแอดมิดเพื่อดูอาการก่อน ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยปอดอักเสบ อายุ 70 ปี ไปโรงพยาบาล ปรากฏว่าหมอปล่อยกลับบ้าน และให้กินยา คุณยายท่านนี้เสียชีวิต บนรถแท็กซี่ บางอย่างเป็นการตัดสินใจที่พลิกชีวิตคนไข้ไปเลย”

พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์

พญ.กัลยพัชร ย้ำไม่อยากให้ลดงบผู้ป่วยใน เพราะเรื่องการเบิกจ่ายอาจจะไปกระทบการตัดสินใจของแพทย์ที่ต้องเลือกรูปแบบรักษาซึ่งจำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรองผู้ป่วย ก็อยากจะตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เช่นกันว่า มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ต้องตัดลดงบผู้ป่วยใน 

“ถ้ารัฐบาล มีนโยบายนี้ไว้ แต่มีปัญหาเรื่องการเงิน รัฐก็ต้องจ่ายชดเชยตรงนี้ให้ได้ มีที่อื่นให้ตัดลดงบเยอะแยะ แต่ไม่ควรตัดงบผู้ป่วยใน” 

พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์

รองประธาน กมธ.สาธารณสุขฯ เปิดเผยอีกว่า กรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกรณีโรงพยาบาลขาดทุนงบบัตรทอง มาหารือในวันที่ 19 กันยายนนี้ หรือไม่ก็ 26 กันยายนนี้ โดยจะเชิญโรงพยาบาลที่มีปัญหา ทั้งโรงพยาบาลราชบุรี, โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมถึง สปสช. เพื่อมาคุยกัน โดยกรรมาธิการฝ่ายนิติบัญญัติ จะพยามหาทางออก เพื่อเสนอเข้าไปในคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรืออาจจะเสนอเข้าไปในสภาฯ ว่าจะทำยังไงกับปัญหานี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active