งานวิจัย หนุนบทบาท ‘ชุมชน’ ดูแล ‘ผู้ป่วยระยะท้าย’

ชี้รัฐจำเป็นต้องลงทุน และกระจายอำนาจการดูแลสุขภาพสู่ท้องถิ่น หวังเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน ขณะที่นักวิชาการ เน้นย้ำ การทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการดูแลที่ครอบคลุมและยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา “งานวิจัยการดูแลผู้ป่วย ระยะยาวและระยะท้าย: จากประสบการณ์ถึงนโยบายสาธารณะ” โดย พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข กล่าวว่า สาธารณสุขไทย ยังมีช่องโหว่ ขาดจุดที่ส่งเสริมป้องกันและการดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว รัฐก็ควรจะลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้น 

รศ.เพ็ญจันทร์ – พญ.กัลยพัชร

ทั้งนี้ สปสช. ก็ปรับตัว โดยมีกองทุนผู้ป่วยประคับประคอง และกองทุนผู้ป่วย Long Term Care มีการเพิ่มงบประมาณจาก 6,000 บาทต่อหัวต่อปี เป็น 10,442 บาทต่อหัวต่อปี แต่ก็ยังน้อยอยู่เพราะเป็นต่อปี และที่สำคัญยังขาดผู้ดูแลในชุมชน แม้งบประมาณจะลงไปที่ท้องถิ่นก็จริง แต่ไม่มี Care Giver ในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันต่อไป

พญ.กัลยพัชร บอกอีกว่า อยากเห็นการกระจายอำนาจสาธารณสุขไปสู่ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเข้าใจ รู้คนไหนป่วยเป็นอะไรตรงไหน มีความใกล้ชิด และเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณไป เชื่อว่าจะจัดการดูแลได้ 

“เราอยากให้มีธนาคารอุปกรณ์การแพทย์เพื่อผู้ป่วยแบบประคับประคอง ในแต่ละชุมชน เพราะป่วยระยะสุดท้ายแล้วเสียชีวิต จะได้วนใช้อุปกรณ์ในชุมชนได้”

พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์

พญ.กัลยพัชร ยังมองว่า อสม. สามารถฝึกเพิ่มเป็น Care Giver ได้ แต่ปัญหาก็คือคนที่ฝึกทักษะ คือ Care Manager อยู่กับ รพ.สต ซึ่งถ่ายโอนไปอยู่สังกัด อบจ. แต่ อสม. ยังอยู่กับสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำงานกันต่างสังกัด แต่ว่าเขาทำงานร่วมกันมากที่สุด จุดนี้คิดว่าควรจะปรับอยากให้ อสม. กลับไปอยู่กับท้องถิ่นจะดีกว่า 

”Care Giver คือแนวหน้าสุขภาพไม่ว่าจะเป็น อสม. หรือ ครอบครัวผู้ป่วยควรมาฝึกตรงนี้ กำหนดระยะเวลาในการเรียน และจริงจัง ควรยกรระดับไปมากกว่างานอาสา เพราะงานหนัก ก็ควรได้ค่าตอบแทน“ 

พญ.กัลยพัชร รจิตโรจน์

รศ.เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า ปัจจุบันผู้ป่วยประคับประคอง ระยะสุดท้าย ยังได้รับการบริการไม่ครอบคลุม การเข้าถึงไม่พอเพียง ในงานวิจัยทำให้เห็นความสำคัญกับระบบชุมชนค่อนข้างเยอะ เพราะการดูแลระยะยาว และการดูแลประคับประคอง ต้องกลับไปที่ชุมชน ครอบครัว ยิ่งต้องมีระบบสนับสนุน 

ตอนนี้ สปสช.​ มีกองทุนผู้ป่วย Long Term Care ก็ควรทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไปเสริมเรื่องของความรู้ ทักษะการทำงานร่วมกันในชุมชนรวมทั้ง ตัวภูมิปัญญาวัฒนธรรม อีกส่วนหนึ่งคือเครือข่ายความช่วยเหลือกัน เทคโนโลยี เครื่องมือที่จะดูแลการ รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องมิติเกี่ยวกับเรื่องของการตายดี ในมุมมองที่เป็นทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนก็มีความแตกต่างกัน จึงควรสร้างความรู้และการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

รศ.เพ็ญจันทร์ บอกด้วยว่า ชุมชนกับสหวิชาชีพ ต้องทำงานร่วมกัน โดยปล่อยให้ชุมชนฝ่ายเดียวทำไม่ได้ จะต้องเรียนรู้กันและกัน และออกแบบให้มีความเฉพาะกับพื้นที่ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่พออยู่แล้ว สิ่งที่เหมาะสมหรือความสบายใจได้รับการดูแลก็คือคนในชุมชนโดยการปกครองท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ควรจะต้องมามองในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น สำหรับเรื่องของการดูแลแบบประคับประคองและการดูแลระยะทาง

”ต้องขอบคุณและชื่นชมในนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะนโยบายสถานชีวาภิบาล หรือ ยกระดับ อสม.​เป็น Care Giver ที่พยายามปรับให้เกิดการสอดคล้องกับกลุ่มผู้สูงวัย อยู่ในช่วงการก่อตัวก่อรูป จะทำยังไงให้เกิดการออกแบบที่เหมาะสม ตัวนโยบายดีอยู่แล้ว แต่วิธีการต่างหากที่ควรจะต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับท้องถิ่นชุมชน“

รศ.เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์

สำหรับข้อเสนอแนะจากงานวิจัย มีดังนี้

  1. หน่วยงานในชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคอกชนและสถาบันสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล, รพ.สต.ในชุมชนควรมีนโยบาย และการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในชุมชนแบบครบวงจร (one stop service)

  2. หน่วยงานในชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันทางสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล, รพสต.ในชุมชนควรจัดอาสาสมัครเพื่อคอยดูแล อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุขณะเข้ารับบริการสุขภาพในสถานพยาบาลของรัฐ

  3. หน่วยงานในชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันทางสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล, รพสต. ควรสร้าง กิจกรรมการดูแลสุขภาพที่มีความสอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน

  4. การส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระดับชุมชน

  5. การสอนเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเทศในกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยหนุ่มสาว ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ขณะที่ วรเชษฐ เขียวจันทร์ นักวิชาการอิสระด้านมานุษยวิทยา ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ตลอดชีวิต เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ต้องรักษาแบบระยะยาว หรือ Long Term Care และบางรายอาจต้องรักษาแบบประคับประคอง สำหรับประเทศไทย พบว่าความชุกของโรคไตวายเรื้อรังในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของประชากร โดยปัจจัยเสี่ยงพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยแบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่นอายุ เพศ พันธุกรรม) และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์และการกินอาหารที่มีรสเค็มสูง 

อุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในไทยต้องการบำบัดทดแทนไต เฉลี่ยปีละ 20,000 คน จากรายงานผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 1-5 ทั้งหมด 1,007,251 คน ซึ่งเป็นภาระในการ จัดบริการสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

วรเชษฐ เสนอว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เนื่องจากวันที่ 1 ก.พ. 65 ที่ สปสช. มีนโยบายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะ สุดท้ายสิทธิ์บัตรทอง สามารถเลือกวิธีบำบัดทดแหนไตที่เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยให้ผู้ป่วยปรึกษาร่วมกันแพทย์เพื่อพิจารณาหาแนวทางร่วมกัน

โดยสิทธิการเข้าถึงและความเท่าเทียมทางสุขภาพดังกล่าว รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจและพิจารณาในหลายมิติเพิ่มเติม เช่นคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ความต่อเนื่องในการดูแลและการเข้าถึงระบบบริการทางการแพทย์ การรอคอยเทคโนโลยีทางการแพทย์ การสูญเสียรายได้ของคนในครอบครัวจากการไปรับส่งหน่วยฟอกไต ดังนั้นนโยบายควรคำนึงถึง และให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือกระทั่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล้การให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหรือโรงพยาบาลใหญ่ด้วย

วรเชษฐ เขียวจันทร์

วรเชษฐ ยังกล่าวอีกว่า ต้องสร้างระบบดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ไร้รอยต่อ (Seamless Palliative Care) ผสานวิทยาศาสตร์การแพทย์และการแพทย์ทางเลือก โดยส่งเสริมการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบูรณาการระหว่าง วิทยาศาสตร์การแพทย์และการแพทย์ทางเลือกจุดร่วมของกลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นอย่างไร และสร้างระบบดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทังร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ตามบริบทแต่ละพื้นที่

”เนื่องการดูแลแบบประคับประค่องช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงท้ายของชีวิต ลดภาระของครอบครัวเพราะการดูแลแบบประคับประคองช่วยลดภาระของครอบครัวทั้งทางด้านร่างกายและ จิตใจ และประหยัดค่าใช้จ่าย การดูแลแบบประคับประคองที่เหมาะสมสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวได้และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในด้านการดูแลสุขภาพ“

วรเชษฐ เขียวจันทร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active