สปสช. ยอมรับ เงินผู้ป่วยในไม่พอ ท้ายปีงบฯ 67 ปรับจ่ายอัตรา 7,000 บาท/AdjRW

ชี้สาเหตุจากการใช้บริการผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เผย 2 แนวทางจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาล ด้าน ‘สมศักดิ์’ ย้ำแค่เติมเงิน 2% เข้าระบบ เพราะผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ระบบบัตรทองไม่มีเงิน 

วันนี้ (5 ก.ย. 67) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้พิจารณาและเห็นชอบ “ให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการ ในอัตรา 7,000 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่าย” ที่นำเสนอโดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สายงานบริหารกองทุน สปสช. 

ทั้งนี้ ด้วยใน ปีงบประมาณ 2567 มีการใช้บริการผู้ป่วยใน (IP) เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้งบประมาณที่ได้รับ 40,269 ล้านบาท ไม่เพียงพอ ในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 – 15 ส.ค. 67 มีการจัดสรรเงินค่าบริการผู้ป่วยในไปแล้ว 41,355 ล้านบาท ทำให้งบฯ ในส่วนนี้ติดลบ 1,086 ล้านบาท รวมถึงไม่เพียงพอสำหรับจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการหลังวันที่ 15 – 29 ส.ค. 67 ซึ่งมีหน่วยบริการส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,731 ล้านบาท 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

สปสช. ได้เสนอเรื่องเพื่อพิจารณากรณี ผลงานบริการมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณ ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 โดยในส่วนค่าบริการผู้ป่วยใน มีการเห็นชอบให้ ปรับอัตราจ่ายจาก 8,350 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) ลงมาอยู่ที่ 7,000 บาท/AdjRW ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 67 เป็นต้นไป 

พร้อมเห็นชอบในหลักการให้ สปสช. ใช้เงินกันระดับประเทศกรณีมีงบประมาณเหลือหลังจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบ DRGs ฉบับที่ 6 ที่มีคงเหลืออยู่ที่ 1,217 ล้านบาท มาสนับสนุนการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน

เลขาธิการ สปสช. บอกด้วยว่า จากมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ ในการประชุมบอร์ดฯ ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการ ในอัตรา 7,000บาท/AdjRA ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่าย หากงบประมาณที่นำใช้จ่ายเพิ่มเติมข้างต้นหมดลง 

ส่วนแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยในจากนี้ไป มี 2 แนวทาง คือ

  1. การปรับเกลี่ยงบจากรายการหรือประเภทบริการอื่นและนำมาจ่ายให้ก่อน

  2. รอ งบฯ กลางจำนวน 7,100 ล้านบาท ตามที่ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งหากได้งบฯ ส่วนนี้มาและงบส่วนอื่น ๆ ไม่มีปัญหาแล้ว ก็อาจพิจารณานำงบส่วนนี้มาจ่ายชดเชยเป็นค่าบริการผู้ป่วยในเพิ่มเติมต่อไป

“ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 – ส.ค. 67 ใน 8 เดือนแรกอัตราจ่ายอยู่ที่ 8,350/adj.RW มีเพียง 3 เดือนสุดท้ายที่จ่าย 7,000 บาท/adjRW และถ้าหากจะหาเงินมาเติมเพื่อให้ 3 เดือนนี้ครบ 8,350/adjRW ต้องใช้เงินอีก 2,285 ล้านบาท แต่ในวันนี้ต้องตกลงกันก่อนว่าที่จะจ่ายให้อย่าลงต่ำกว่า 7,000 บาท/adjRW ก่อน ส่วนหากมีเงินมาเติมหรือส่วนอื่นๆ ก็มาดูกันอีกทีหนึ่ง”

เลขาธิการ สปสช.

ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า งบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนผู้ป่วยใน มีงบประมาณไม่พอนั้นไม่เป็นความจริง เพราะได้คำนวณอย่างละเอียดแล้ว เพียงแต่มีผู้ป่วยใน ที่ต้องได้รับการรักษามากขึ้น ก็ต้องเติมงบประมาณเข้าไปให้เพียงพอ และเติมไม่ถึง 2,000 ล้านบาท จากงบประมาณดูแลรักษาพยาบาลทั้งประเทศที่ตั้งไว้กว่า 1.5 แสนล้านบาท 

ส่วนสาเหตุมาจาก คนป่วยโรคยากเพิ่มขึ้น น้ำหนักต่อแต้มจ่ายก็มากขึ้น อาจต้องเพิ่มเติมเงินเข้าไปอุดหนุน และเติมแค่ 1-2% เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และต้องปรับเปลี่ยนแบบนี้กันทุกปีอยู่แล้ว

“คงไม่มีใครเก่งเกินกว่าแพทย์แล้ว คนที่บอกว่าเก่ง ๆ ดูจากตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ คนแย่งกันเรียนแพทย์ คนที่เก่งที่สุดก็มาเรียนแพทย์ แล้วคนที่เป็นแพทย์พอมาจับงานทางด้านไหนก็ทำได้ทั้งนั้น เพียงแต่สิ่งที่พูดกันไปนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง เรื่องเงินที่ว่าไม่พอนั้น ดูแล้วเป็นส่วนน้อยมาก“

สมศักดิ์ เทพสุทิน

The Active ตรวจสอบสถานะทางการเงินของโรงพยาบาล จากข้อมูลวิเคราะห์วิกฤติทางการเงินระดับ 7 (RiskScoring Plus) ไตรมาส 3/2567 ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พบว่า โรงพยาบาลรัฐ สังกัด สธ. ที่มีอยู่ 902 แห่ง 

  • โรงพยาบาลที่ขาดทุน ติดลบ มีจำนวน 278 แห่ง คิดเป็น 30.82%

  • โรงพยาบาลที่ได้กำไร มีจำนวน 624 แห่ง คิดเป็น 69.18%

โดยประเภทโรงพยาบาลที่ขาดติดลบมากที่สุด คือ โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลประจำอำเภอ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active