‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ NGO ในระบบราชการ กับรางวัล ‘แมกไซไซ 2024’

เปิดใจ เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมเข้าถึงระบบสุขภาพ ต้านทุจริต มองอนาคต แพทย์ชนบท พื้นที่การรวมตัวที่ไปไกลกว่าวิชาชีพแพทย์ แต่เกี่ยวโยงกันขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพ พร้อมร่วมปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยืนยันค้านร่วมจ่าย ยอมรับหลายโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปเงินบำรุงติดลบ เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันก้าวข้าม ยึดหลักการเข้าถึงบริการของประชาชน เตรียมพบ ‘สมศักดิ์’ หลังตั้ง ครม. 

วันนี้ (2 ก.ย. 67) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว “ขบวนการแพทย์ชนบท กับ รางวัลแมกไซไซ​” โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท คนปัจจุบัน กล่าวว่า ขบวนการแพทย์ชนบท ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024 จากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบุคคล/องค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้

สิ่งที่อยากจะบอกคือ ขบวนการแพทย์ชนบท มีประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนมายาวนาน 48 ปีนับตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งเกิด “กลุ่มสหพันธ์แพทย์ชนบท” ขึ้นและมาเปลี่ยนเป็น “ชมรมแพทย์ชนบท” ในปี 2521 จนถึงปัจจุบัน เป็นภาคของกลุ่มคนหลากหลายที่ทำงานในชนบททั้งในอดีต และปัจจุบันรวมถึงเครือข่ายวิชาชีพต่าง ๆ ด้านสุขภาพ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ด้านสุขภาพ 

โดยตลอดเวลา 48 ปี สามารถผลักดันเชิงนโยบายที่สำคัญสำคัญอย่างน้อยได้กฎหมายที่ใช้ปัจจุบันถึง 7 ฉบับได้แก่ 

  • พระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ 2 ฉบับ

  • พระราชบัญญัติ สสส. พ.ศ.2544

  • พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

  • พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

  • พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 

  • ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พอช.) 

“นี่เป็นสิ่งที่ทางแมกไซไซ เห็นว่าเราสามารถผลักดันเชิงนโยบายได้สำเร็จ โดยเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของการต่อต้านคอรัปชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราในช่วงระยะหลังได้ให้ความสำคัญกับมันมาก” 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ขอนแก่น ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า บทบาทของชมรมแพทย์ชนบทที่ทำมาโดยตลอด คือ การลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ในระบบสุขภาพ ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ทราบกันอยู่ดีว่า งบประมาณสุขภาพมีจำกัด ถ้าลดปัญหาการคอร์รัปชันได้ ก็จะสามารถกระจายงบประมาณให้ใช้ได้อย่างเหมาะสม และสามารถทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ต้องหาวิธีในการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ทำก็คือการขับเคลื่อนงานด้านปฐมภูมิ ที่จะต้องได้ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะเชื่อว่าถ้าทำรากฐานให้แข็งแรง ทำให้บริการปฐมภูมิมีประสิทธิภาพ โรคยาก ๆ จะน้อยลง เพราะโรคยากยากใช้ทรัพยากรสูง ซึ่งจะดำเนินการต่อไปตราบใดที่มีคนยากคนจนอยู่ในชนบท แต่เพียงคิดว่าคงจะต้องปรับให้มีรากฐานที่แข็งแรง ตอนนี้เรามีรากฐานทางการเงินการคลังที่ดีแล้ว 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องปกป้องไว้ คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เรามีอยู่ในเวลานี้ ให้มีอยู่อย่างยาวนาน เพราะได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด จนกระทั่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้รางวัลแมกไซไซมองว่าเรามีวิสัยทัศน์กว้างไกลไร้มิติ เนื่องจากเราได้เปลี่ยนแปลง จากเดิมที่หลายหลายคนมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นประเทศที่มีฐานะร่ำรวย แต่วันนี้ยิ่งยากจนยิ่งต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพราะหากเกิดความมั่นคงทางด้านสุขภาพขึ้น จะนำมาสู่การสร้างประสิทธิภาพในเรื่องอื่น ๆ ได้

“หลายประเทศที่ต้องมาเลียนแบบไม่ว่าจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีนก็ต้องมาขอผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปขยายผลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเราจะต้องปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำให้ได้”

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ  

‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ NGO ในระบบราชการ 

นพ.สุภัทร ย้ำว่า ขบวนการแพทย์ชนบท หรือชมรมแพทย์ชนบท รวมตัวกันด้วยอุดมคติร่วมกัน แน่นอนว่าความคิดความฝันย่อมแตกต่างจากระบบราชการที่สังกัดอยู่

“เราเป็น NGO ที่อยู่ในระบบราชการ ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การให้ความเห็นต่อสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ ก็ย่อมทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราไม่เห็นด้วย และมีความรู้สึกว่าข้าราชการทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบทกับผู้มีอำนาจก็น่าจะยังคงอยู่ตลอดไป เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเราเป็นข้าราชการแต่เราเป็นพลเมืองด้วย แล้วเราแสดงออกในหมวดของความเป็นพลเมืองในความเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

อนาคต ‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ ? 

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยอมรับว่า วิธีการรวมตัวกันของแพทย์ยุคใหม่ก็เปลี่ยนไปมีความเป็น individual สูง โจทย์ยากคือความเปลี่ยนแปลงช่องว่างระหว่างวัย คือจะทำอย่างไรให้สายธารของความต่อเนื่องยังคงอยู่ โดยเร็ว ๆ นี้ก็จะมีการประชุมใหญ่ชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งก็จะมีการเลือกประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาทำหน้าที่ต่อ 

แต่ชมรมแพทย์ชนบทยังมีแนวคิดหลัก คือ ลดความเหลื่อมล้ำ และต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งหลังจากนี้ ขบวนการแพทย์ชนบท จะเป็นพื้นที่ของการรวมตัวกันที่ไปไกลกว่าวิชาชีพแพทย์ เป็นพื้นที่รวมคนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพ  

สอดคล้องกับ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มองว่า ขบวนการแพทย์ชนบทยังคงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสุขภาพในชนบท ถึงแม้ว่าชนบทจะมีความเปลี่ยนแปลงไป แต่หลังจากนี้จะเน้นการพัฒนา และทำสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้ทำงานในสิ่งที่อยากทำ และไม่ให้สิ้นหวังกับระบบ ทำให้สังคมเห็นคุณค่าการทำงานในชนบท โดยโรงเรียนแพทย์ทุกวันนี้ยังมองว่าโรงพยาบาลชุมชน เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่จะปลูกฝังอุดมการณ์

“เชื่อว่าหลังจากนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมขบวนแพทย์ชนบทอีกเป็นจำนวนมาก ขบวนแพทย์ชนบทการแพทย์ชนบทยังอยู่ แต่ต้องเน้นการงานเชิงส่งเสริมและพัฒนา และอาจจะทำงานเชิงบู้ให้ลดลง”

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  

มองหาทางแก้ รพ.รัฐ ติดลบ ขาดทุน  

เมื่อถามถึงกรณีโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งอยู่ในสถานะติดลบ ขาดทุนนั้น นพ.เกรียงศักดิ์ มองว่า เป็นเรื่องปกติของระบบหลักประกันสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันแห่งชาตินั้น ในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่สมัยก่อนได้มีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นกฎหมายออกมา แต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ก็เกือบ 50 ปีเพราะมีการต่อต้านจากบางกลุ่มที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในระบบย่างแท้จริง ถ้าถามว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตอนนี้ปัจจุบัน เวลาสถานการณ์ทางการเงินติดลบนั้น ติดลบจากอะไรจะต้องดูจากหลายสาเหตุ ต้องบอกว่าอย่างที่ติดลบจากที่มีอยู่น้อยลงไปกว่าเดิม เพราะจากเดิมก่อนที่จะมีระบบหลักกันฯ เงินบํารุงหักด้วยหนี้สินของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะก่อนจะมีโควิดมีอยู่แค่ประมาณหมื่นล้าน แต่หลังจากโควิดมีถึง 90,000 ล้านบาท

“ถ้ามันติดลบจริง ก็ต้องดูว่าเราจะอยู่ได้ยังไง เพราะเรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตลอด 20 กว่าปีแล้ว อันนี้เป็นเรื่องปกติต้องถามว่าติดลบนั้น ติดลบจากอะไร… ติดลบจากต้นทุนหรือติดลบจากราคาขาย ดังนั้นต้องเอาตรงนี้ไปนั่งคุยกัน”

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

ขณะที่ นพ.สุภัทร ยอมรับว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน เพราะว่าจริง ๆ แล้วหัวใจสําคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านได้เข้าถึงบริการมากขึ้นจากระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะทํายังไงให้ดีขึ้นเข้าถึงบริการมากขึ้นอีกภายใต้งบประมาณที่มีจํากัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก และเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันก้าวข้ามไปให้ได้ 

นพ.เกรียงศักดิ์ ยังเสริมว่า เรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของหลักประกันสุขภาพที่ต้องให้มันดีขึ้นไปกว่าเดิมภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจํากัด แต่ถ้าดูดี ๆ จะเห็นว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2544 ขณะนั้นมีงบประมาณเฉลี่ยต่อหัว 1,202 บาทต่อหัวประชากร ปัจจุบัน 4,000 กว่าบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีมากขึ้น ซึ่งปกติต้องดูตัวดัชนีชี้วัดทางการเงินหลายตัว ไม่ใช่ดูแต่เงินสดอย่างเดียว เงินสดลบหนี้สินอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูว่าเงินสดบวกกับลูกหนี้ที่มีอยู่ด้วย

จุดยืนต่อข้อเสนอให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย  

ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันมานานถ้าเกิดจะร่วมจ่ายได้มีอยู่ทางเดียวคือต้องร่วมจ่ายก่อนป่วย ถ้าจะร่วมจ่ายหลังป่วยจะเป็นระบบที่ล้มเหลวหรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์ มองว่า การร่วมจ่ายตรงนั้นไปจะนําไปสู่การที่ข้อมูลที่ไม่เสมอภาคกัน ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ จะสังเกตดูได้ง่ายคือ ระบบของประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะไม่ให้มีการร่วมจ่าย เนื่องจากว่าได้กําหนดสิทธิประโยชน์ว่าจะต้องใช้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี เพราะฉะนั้นการร่วมจ่ายบางทีเป็นเรื่องของการที่จะบอกข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน

“อย่างการร่วมจ่ายบางทีมันจะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาค จะทําให้เกิดมีบริการ 2 มาตรฐานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน มันจะเกิดประเด็นเช่นว่า ร่วมจ่ายยาตัวนี้ไหมเพราะว่าคุณภาพดีกว่า เราไม่ต้องการให้เกิดภาพอย่างนั้นเกิดขึ้นอยู่ในโรงพยาบาลในเวลาเดียวกัน”

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

นพ.เกรียงศักดิ์ ยังเสนอให้ใช้กลไกในการต่อรองรวมของประเทศ ที่เคยต่อรองรวมรายการหลายรายการ ราคาลดลงไปกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัวได้ยกตัวอย่างเช่น แก้วประสาทหูเทียม จากราคาที่กรมบัญชีกลางเคยจ่ายให้ 850,000 บาท สปสช. เอามาต่อรองตอนนี้ปัจจุบันเหลือประมาณ 350,000 บาท โดยให้โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ มาช่วยกันวางระบบมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา เพราะว่าเมื่อปรับกลไกให้เป็นอํานาจของผู้ซื้อที่มีอํานาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้นไม่ใช่เป็นอํานาจของผู้ขาย 

สำหรับ นพ.สุภัทร เห็นว่า การร่วมจ่ายนี้ก็เพื่อรายได้ของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าหัวใจที่ให้ความสําคัญกว่าก็คือ จะวางระบบหลักประกันสุขภาพอย่างไรไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าถ้าการร่วมจ่ายแล้วเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้องในหลักการ แต่ว่าจะทํายังไงให้งบประมาณหรือให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีงบประมาณเพิ่มขึ้น อันนี้อีกโจทย์นึงซึ่งอาจจะแก้ได้ด้วยการไม่ร่วมจ่ายก็ได้

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยังเปิดเผยด้วยว่า หลังการตั้ง ครม. เตรียมจะเข้าพบ สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งคาดว่าจะได้เป็น รมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องพูดคุยกันโดยเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และก็เป็นนโยบายสำคัญของทางรัฐบาลด้วยที่จะทำ 30 บาทรักษาทุกที่ แล้วก็ระบบบริการปฐมภูมิ ที่จะให้สามารถเข้าถึงได้ดีที่สุด 

ในส่วนของงบบัตรทอง ก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องการบริหารจัดการและการวางรากฐานมากกว่า เพราะว่าระบบหลักประกันสุขภาพก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปมาก ต้องการการวางรากฐานที่มั่นคงขึ้น ซึ่งอันนี้ต้องคุยกันพอสมควร 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active