วิจัยเตือน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กระตุ้นมะเร็งในคนอายุน้อย

ชี้ชัด ผู้ป่วยฉุกเฉินเพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง ทำคนป่วยเฉียบพลัน สวนทางบุหรี่ธรรมดา ที่ใช้เวลาสะสมกว่าจะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ตอกย้ำ คำอ้างบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยบุหรี่ธรรมดา ไม่จริง!

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ที่ศึกษาการเปลี่ยนของ DNA ระดับเซลล์ ด้วยกลไก DNA methylation เปรียบเทียบระหว่างวัยรุ่นที่ สูบบุหรี่ไฟฟ้า กับ สูบบุหรี่ธรรมดา และคนที่ไม่สูบบุหรี่ จำนวน 30 คน อายุระหว่าง 21-27 ปี

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

ผลการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของ DNA ในเซลล์เยื่อบุช่องปากของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 831 แห่ง ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา จำนวน 2,863 แห่ง แม้จำนวนจะต่างกันแต่เมื่อนำมาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า กับสูบบุหรี่ธรรมดามาเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า มีเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันถึง 46% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง

“การศึกษานี้ทำให้ทราบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง แม้กระทั่งกับคนที่อายุน้อย ส่วนหนึ่งเกิดในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่ โดยพบความผิดปกติที่เซลล์ต่อต้านเนื้องอก HIC1 เหมือนกัน ซึ่งเซลล์ HIC1 นี้มีฐานการวิจัยที่กว้างขวางว่าเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ขณะที่ 54% ของเซลล์ที่ผิดปกติของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แตกต่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา การค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าผลิตสารเคมีที่เป็นอันตรายได้หลายประเภท ซึ่งบางชนิดไม่พบในบุหรี่ธรรมดา”

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

รศ.พญ.เริงฤดี ย้ำว่า คำกล่าวของกลุ่มที่พยายามวิ่งเต้นให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าเพราะมีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงไม่เป็นความจริง เพราะบุหรี่ทั้งสองประเภทมีสารพิษที่มีอันตรายแตกต่างกัน

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกว่า จากข้อมูลในต่างประเทศ พบด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเฉียบพลันด้วย ซึ่งจากรายงานของ สมาคมโรงพยาบาลแห่งรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา พบตัวเลขผู้ป่วยที่มารักษาที่แผนกฉุกเฉิน เพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 109% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือจาก 23,630 รายในปี 2563 เพิ่มเป็น 49,356 รายในปี 2566 ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง 25% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะแสดงว่าการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดในลักษณะโรคเรื้อรัง เช่น สูบในวัยรุ่นแล้วจะไปป่วยตอนอายุมากเท่านั้น แต่การเจ็บป่วยเกิดขึ้นในลักษณะเฉียบพลันได้ด้วย

“จำนวนผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักวิจัยสหรัฐฯ เคยวิเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่เก็บได้เพียง 300 ล้านบาท และเฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาเราก็มีบทเรียนจากกรณีบุหรี่ธรรมดาแล้วว่ารายได้จากภาษีที่เก็บจากบุหรี่ ไม่คุ้มค่ากับค่ารักษาพยาบาลที่ต้องตามจ่ายให้กับโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งต่อผู้ที่สูบเองและคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง”

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active