‘สภากาชาด’ ตุนวัคซีน ‘ฝีดาษวานร’ พร้อม! ย้ำไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ยังไม่ต้องฉีด

‘หน.ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก สภากาชาดไทย’ ระบุ เตรียมวัคซีนไว้ 2,000 โดส ขอแค่กลุ่มเสี่ยง ยังไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน ขณะที่ องค์การอนามัยโลก ชี้ ไม่ระบาดรุนแรงเหมือนโควิด-19 

กรมควบคุมโรค รายงานผลตรวจจากห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรณีผู้ป่วยชาวยุโรป เดินเข้ามายังประเทศไทย ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ “ฝีดาษวานร สายพันธุ์ใหม่ Clade 1b” ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันผล พบเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade 1b ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย ต่อจากนี้ต้องรายงานผลไปยังองค์การอนามัยโลกตามมาตรฐาน IHR

ขณะที่การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายดังกล่าว จำนวน 43 คน ขณะนี้ยังไม่พบรายใดมีอาการป่วย ซึ่งกรมควบคุมโรคยังคงเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที

ไทมไลน์ ผู้ป่วยฝีดาษวานร clade Ib รายแรกในไทย 

  • 14 ส.ค. 2567 เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทย มีประวัติมาว่าจากประเทศแถบแอฟริกา ที่มีการระบาดของฝีดาษวานร โดยไปต่อเครื่องบินที่ประเทศตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

  • 15 ส.ค. 2567 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้และมีตุ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก่อนจะเดินทางไปโรงพยาบาล พอซักประวัติแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร ผลไม่ชัดเจน

  • 21 ส.ค. 2567 กรมควมคุมโรค แถลงข่าวพบ ผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ใหม่ รายแรกในไทย ติดตาม ผู้เสี่ยงสัมผัส 43 คนให้เฝ้าระวังอาการ และแยกตัว 

  • 22 ส.ค. 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน ผลตรวจเป็นการติดเชื้อ สายพันธุ์ clade 1b รายแรกในไทย 

‘ฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 1’ ดุกว่าสายพันธุ์อื่น อัตราเสียชีวิต 10%

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันได้จำแนกไวรัสฝีดาษวานร ออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ 

  • เคลดวัน Clade 1

  • เคลดทูเอ Clade 2a

  • เคลดทูบี Clade 2b 

ก่อนหน้านี้ สุ่มตรวจผู้ป่วย 191 คนในไทย ถอดรหัสพันธุกรรม ผลการวิเคราะห์แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1 พบว่าสายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทย 

  • C.1 (85.34%)

  • A.2.1 (5.76%)

  • C.1.1 (3.66%) 

  • A.2 (2.09%) 

โดยในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาด เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 เป็นหลัก บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลา

ถ้าเปรียบเทียบสายพันธุ์ย่อย C.1 มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ Clade 1 ที่มีการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา โดย Clade 1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ขณะที่ Clade 2 และ C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียง 1% 

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า  ฝีดาษวานร หรือ Mpox พบและรายงานครั้งแรกเป็นการระบาดในลิงที่เลี้ยงไว้ทดลอง ลิงมีอาการและแยกเชื้อได้ในกลุ่มของฝีดาษ (poxvirus) จึงเรียกว่า ฝีดาษลิง (Monkeypox) เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว จนกระทั่งอีก 10 กว่าปีต่อมา พบโรคนี้ในมนุษย์ที่คองโก ไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากสัตว์ใดและก็พบเรื่อยมาต่อมาจึงเข้าใจว่าสัตว์นำโรค น่าจะเป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะหรือหนู และสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้

ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ‘ฝีดาษวานร’ 

ภายหลัง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้เตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อฝีดาษวานร (MPOX) เพื่อรองรับสถานการณ์

โดยได้มีการขึ้นทะเบียนชุดตรวจการติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว มีการจัดทำแนวทางการประเมินด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของชุดตรวจวินิจฉัยฝีดาษวานร มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าชุดตรวจสามารถจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อกำหนด

รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า สถานที่ฉีดวัคซีนฝีดาษวานร มี 2 แห่งคือ สถานเสาวภา และ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เป็นการเตรียมความพร้อมของสภากาชาดไทยไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อเห็นว่าฝีดาษวานรจะระบาด และระบาดคู่ขนาน 2 สายพันธุ์จึง เตรียมวัคซีนไว้สำหรับคนที่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าจำนวนวัคซีนมีค่อนข้างน้อย ศักยภาพการผลิตก็ไม่ได้เยอะมาก สภากาชาดจัดซื้อมาล็อตแรกจำนวน 2,000 โดส สามารถที่จะป้องกันครอบคลุมทั้ง 2 สายพันธุ์ผลข้างเคียงไม่ต่างจากวัคซีนตัวอื่นหลังจากที่ฉีดมาหลายแสนโดสไม่มีกรณีกรณีที่น่าห่วงกังวล 

ในอนาคตอาจจะซื้อมาเพิ่ม ขณะนี้วัคซีนฝีดาษวานร อาจจะเป็นที่ต้องการของหลายประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกา จะมีความยากขึ้น ที่จะได้วัคซีนมาอย่างไรก็ตามไม่ต้องตระหนก เพราะวัคซีนไม่ต้องฉีดทุกคน 

รศ.โอภาส ย้ำว่า การฉีดวัคซีนยังไม่จำเป็นสำหรับคนทั่วไป ใช้สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่ระบาดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงยังไม่ฉีดให้กับประชาชนทั่วไป แต่ฉีดให้กับผู้ที่มีโอกาสจะไปสัมผัส เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ หรือใช้สำหรับการสัมผัสโรคไปแล้ว เช่น เจอคนที่เป็นฝีดาษวานรอยู่ในบ้านเดียวกัน ฉีดภายใน 4 วัน ลดโอกาสการติดเชื้อได้ หรือปัจจุบันบางคนกังวลจะเดินทางไปแอฟริกา ก็อาจแนะนำให้ฉีด กับผู้ที่จะเดินทางไปถิ่นที่มีการระบาดของฝีดาษวานร

อย่างไรก็ตาม สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ให้บริการวัคซีนป้องกันโรค ฝีดาษวานร ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน

  • วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน

สำหรับวัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษวานร ไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จึงต้องจ่ายเองและค่อนข้างมีราคาสูง ดังนั้น หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด ก็ขอให้อย่ากังวล อย่างบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ขณะนี้ก็ยังไม่ต้องใช้วัคซีน กรมควบคุมโรค มีระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค พร้อมทั้งประสานข้อมูลกับนานาประเทศตลอด

ภาพ : AFP

คาด ‘ฝีดาษวานร’ ไม่ระบาดหนักเหมือนโควิด-19

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ดร.ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคฝีดาษวานร จะไม่ระบาดรุนแรงเหมือนกับ โรคโควิด-19 และความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำ แนวทางการรับมือทั้งในปัจจุบันและอีกหลายปีต่อจากนี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญ สำหรับยุโรปและทั่วโลก เพราะทุกวันนี้ยังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade 2 ในยุโรปประมาณ 100 คน/เดือน 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังจากพบว่าการระบาดในประเทศคองโกได้แพร่กระจายไปนอกทวีปแอฟริกา 

สำหรับ โรคฝีดาษวานร ส่วนใหญ่มักมีอาการผื่นขึ้นตามร่างกาย ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอหรือมีน้ำมูก จึงมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้น้อยกว่าโรคโควิด-19 หรือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการไอและมีน้ำมูก การติดเชื้อโรคฝีดาษวานร ยังเป็นการสัมผัสใกล้ชิด 

กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคน หากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ดังนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก  

  2. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น  

  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร

  4. ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน  

  5. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้

วิธีการติดต่อของโรค

  1. การสัมผัสใกล้ชิด: ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย หนอง แผล หรือรอยโรคของผู้ป่วย

  2. การหายใจ: ติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ จากระบบทางเดินหายใจเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะเวลานาน

  3. การสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน: ติดต่อผ่านการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนจากรอยโรคของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน

  4. การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก: ในบางกรณี แม่ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ผ่านทางรก

“การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด และหลีกเลี่ยงสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากประเทศที่มีการระบาด เช่น กระรอก หนู จะเป็นวิธีที่ป้องตนเองได้”

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคทุกด่าน โดยเฉพาะด่านที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เข้มงวดมาตรการ ในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องที่ไหน หากต้นทางเป็นประเทศที่มีการระบาด ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เตรียมพร้อมสำหรับการคัดกรองและกักกันโรคเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ให้ผู้เดินทางที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศเขตติดโรค และประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร ลงทะเบียนระบบ Thai Health Pass ล่วงหน้า ก่อนเข้าสู่ระบบ Check in ของสายการบิน ณ ประเทศต้นทาง

  2. เมื่อผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ จะต้องผ่านการคัดกรอง และวัดอุณหภูมิร่างกายด้วย handheld thermoscan หากอุณหภูมิเกิน 36.8 องศาเซลเซียส จะต้องวัดอุณหภูมิทางหูซ้ำอีกครั้ง ซักประวัติอาการเพิ่มเติม จึงจะผ่านไปยังพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และหากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพบเจอผู้โดยสารที่มีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร ให้ส่งกลับมารับการตรวจเพิ่มเติม ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ

  3. มีการแจก Health Beware Card สำหรับผู้เดินทางทุกคน จากประเทศเสี่ยง กรณีมีอาการหลังจากเข้าประเทศ ให้รายงานอาการผ่าน QR code ที่ปรากฏบน Health Beware Card เพื่อให้ทางกรมควบคุมโรคได้ติดตามต่อเนื่อง และเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

  4. กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เตรียมความพร้อมสำหรับการกักกัน หากมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเตรียมอาคารกักกันโรค 4 ชั้น จำนวน 60 ห้อง หากมีการเดินทางแบบครอบครัวจะมีห้องกักกันแบบกลุ่มเตรียมสำรองไว้พร้อม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active