’30 รักษาทุกที่ กทม.’ เริ่มแล้ว! เฉพาะสถานบริการที่ติดสติ๊กเกอร์

‘สมศักดิ์’ นำทีม กทม. – สปสช. เดินหน้า ’30 รักษาทุกที่ กทม.’ เน้นบริการเริ่มที่ระบบปฐมภูมิ ‘รองผู้ว่าฯ ทวิดา’ ชี้ งบฯ 68 หนุนยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส เตรียมพร้อมระบบเชื่อมโยงข้อมูลทุกสถานพยาบาลด้วย Health Link

วันนี้ (22 ส.ค.2567) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี้ด ทองคำ บำเพ็ญ เขตดุสิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ กรุงเทพมหานคร แถลงข่าว เดินหน้าขับเคลื่อน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่กทม. ให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคิว ถือเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลได้ลงพื้นที่ ติดตามความพร้อมของหน่วยบริการ ทั้งระบบการให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่น และการให้บริการเชิงรุก เช่น บริการเจาะเลือดที่บ้าน การบริการดูแล กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกร ณ หน่วยบริการทางเลือกใหม่ อย่างร้านยาคุณภาพ เป็นต้น โดยจะร่วมลงพื้นที่หน่วยบริการใกล้เคียงเพื่อนำร่องติดตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงจุดให้บริการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ

“โดยสัญลักษณ์นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสื่อสาร ให้ประชาชนได้รับรู้ และสามารถเข้ารับบริการได้โดยปราศจากความกังวล ผมจึงขอขอบคุณ กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยรับผิดชอบหลักในพื้นที่ ที่สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายฯ รวมถึงหน่วยงานสภาวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้านต่าง ๆ ที่ร่วมผลักดันโดยเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิทางเลือกใหม่ อันเป็นทางเลือก ที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน ของหน่วยบริการที่มีอยู่เดิมในระบบ และเป็นความสำเร็จในการยกระดับระบบสุขภาพให้กับประชาชน ชาวกรุงเทพมหานคร”

สมศักดิ์ เทพสุทิน

สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากเดิมจะ Kick off 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่ กทม. วันที่ 26 ส.ค.นี้ แต่เนื่องจากเป็นรอยต่อของรัฐบาล เกรงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมาย จึงปรับเป็นการตรวจเยี่ยมความพร้อม ซึ่งจะมีการติดโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ ใน กทม. โดยหากมีตราสัญลักษณ์ติดที่ใด ประชาชนไม่ว่าอยู่เขตไหนในประเทศไทย ก็สามารถไปใช้บริการได้ ถือว่าเป็นการทดลองใช้ โดยได้เพิ่มหน่วยบริการ ทั้งร้านยา คลินิก กว่า 1,500 แห่งใน กทม.

ทั้งนี้คณะได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุข 38 พร้อมติดตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ บริเวณประตูทางเข้าด้วย จากนั้น ได้ลงพื้นที่ร้านขายยาเมด เอ็กซ์เพรช เขตดุสิต เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการที่เข้าร่วมกับ สปสช. พร้อมติดตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ รวมถึงยังได้ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมการให้บริการเชิงรุก เจาะเลือดให้ผู้ป่วยติดเตียง ที่บ้านพักด้วย

กทม. เตรียมพร้อมระบบบริการ เพิ่ม Health Link เชื่อมข้อมูลผู้ป่วย

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความร่วมมือในการขยายบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะเป็นส่วนที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นปฐมภูมิของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และอีก 77 ศูนย์สาขา ซึ่งมีบุคลากรที่เป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แม้แผนกอาจไม่มากเท่าศูนย์บริการสาธารณสุขหลัก แต่ก็สามารถเป็นที่พึ่งและให้บริการได้ เป็นหมอน้อยใกล้บ้านให้กับประชาชนได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ ประชาชนที่แม้จะอยู่ภูมิลำเนาอื่น แต่ทำงานอยู่ใน กทม. ก็สามารถใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุขได้ มาตรฐานของหน่วยปฐมภูมิวันนี้สามารถที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและเป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ไกลบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ลงนาม MOU ในโครงการ Health Link เพื่อให้คน กทม. เข้าถึงระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันได้เชื่อมต่อระบบกับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว รวมถึงสถานพยาบาลสังกัดต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นระบบที่นำมาเชื่อมต่อเพื่อขับเคลื่อนในโยบายฯ นี้ต่อไป ท้ายนี้หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครรู้สึกได้ว่าเมืองน่าอยู่ขึ้น

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่สนับสนุนระบบบริการสุขภาพ “เริ่มต้นที่ปฐมภูมิ” ที่ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นหน่วยบริการทางเลือกได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านยาคุณภาพ คลินิกเอกชนที่เข้าร่วม ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็รับบริการได้โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องมีใบส่งตัว

ส่วนกรณีที่เกินศักยภาพการดูแล จะต้องเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิประจำสิทธิ โดยต้องทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิต่อไป สำหรับหน่วยบริการทางเลือกใหม่ นอกจากคลินิกเวชกรรมอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกเทคนิคการแพทย์ ยังมีบริการเพิ่มเติมในพื้นที่ กทม. ได้แก่ บริการการแพทย์ทางไกลกับ 4 แอปฯ สุขภาพ (Saluber MD, Clicknic, Mordee, Totale Telemed) พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รถทันตกรรมเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง รถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชนเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น บริการแพทย์ทางกายผ่านแอพสุขภาพ ณ ห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยมฯ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ที่ห้างสรรพสินค้าและสถานประกอบการต่าง ๆ สถานีบริการสุขภาพ หรือ Health Station รับบริการผ่านตู้เทเลเมดิซีน ติดตั้งที่ชุมชนและห้างสรรพสินค้า บริการสุขภาพที่สถานีบริการน้ำมันและสถานีรถไฟฟ้าโดยคลินิกพยาบาล พร้อมบริการการแพทย์ทางไกล และขยายคลินิกฟอกไตจำนวน 154 แห่ง ให้บริการเครื่องล้างไตอัตโนมัติ โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active