ห้อง ICU-PC ดูแลกาย-ใจ ‘ผู้ป่วยระยะท้าย’ เตรียมพร้อมสู่การ ‘ตายดี’

ชู ‘รพ.ราชพิพัฒน์’ แห่งแรกในสังกัด กทม. ตั้งหอผู้ป่วย ICU-PC จุดเชื่อมต่อระหว่าง ‘ยื้อชีวิต’ และ ‘ประคับประคอง’ ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายครบทุกมิติ แพทย์ ย้ำความจำเป็นผู้ป่วยแจ้งความต้องการล่วงหน้า สู่การจากไปอย่างสงบ

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 67 กลุ่ม Peaceful Death และคณะเครือข่ายขับเคลื่อนงานชีวาภิบาลเขตเมือง โครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ร่วมกับ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จัดวงเสวนา “ระบบการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะท้าย“ 

นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เล่าว่า โรงพยาบาลมีแนวทางสำคัญในการจัดระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วย 3 กลุ่มได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะท้าย โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบสหสาขาวิชาชีพ และการดูแลแบบประคับประคอง เป็นหลัก

สืบเนื่องมาจากการเห็นปัญหาว่าโรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร และการวางระบบที่ดี ซึ่งเกิดขึ้นทั้งกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลใน กทม. เอง หากแค่เพิ่มบุคลากรดูแล อาจช่วยคนไข้ได้ทีละคน แต่ถ้าแก้ทั้งระบบ จะช่วยคนไข้ได้หลายคน

นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์

“ทุกพื้นที่ ไม่ว่าเมืองหรือชนบท คนไข้มีความเจ็บป่วยเหมือนกันหมด หากต้องการช่วยคนไข้ทั้งหมด การวางระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แต่ทางการแพทย์เราทำให้เขาเท่าเทียมกันได้” 

นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล

พญ.วริชา เอี่ยมจิณสุวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รพ.ราชพิพัฒน์ อธิบายว่า ที่ผ่านมาการดูแลคนไข้กลุ่มผู้สูงอายุยังไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวนัก เป็นเพียงการดูแลคนไข้ และจ่ายยาตามตัวโรค แต่พอนำ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เข้ามาใช้ ก็เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การทำหัตถการบางอย่าง เช่น การเจาะคอ, สอดท่อ ลดลง เนื่องจากไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนไข้แต่กลับสร้างแต่ความทุกข์ทรมาน

“สำหรับผู้สูงอายุ การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Plan) เป็นสิ่งที่ต้องทำแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่ออายุมากก็มีโอกาสเกิดสมองเสื่อม สื่อสารได้น้อยลง ตัดสินใจเองได้ยาก เมื่อเข้าสู่ระยะท้าย ลูกหลานต้องเป็นคนตัดสินใจ หลายบ้านลูกหลานรู้สึกผิดก็เลือกยื้อชีวิตเต็มที่ สุดท้ายแล้วคนเจ็บปวดทุกข์ทรมานคือคนไข้เอง” 

พญ.วริชา เอี่ยมจิณสุวัฒน์ 

พญ.วริชา อธิบายเสริมว่า การให้ผู้ป่วยแจ้งความประสงค์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนอกจากเป็นเรื่องความต้องการทางกายแล้ว ยังเป็นการดูแลทางใจก่อนจากไปด้วย

“การแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าของคนไข้ไม่ใช่แค่เรื่องการต้องการยื้อชีวิต หรือสอดท่อไหม แต่มันเป็นเรื่องของการเตรียมจิตใจ บางคนอยากทำบางสิ่งบางอย่างก่อนตาย หรือบางคนอยากอโหสิกรรมให้ใครบางคน ทั้งหมดนี้คือการเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบที่สุด”

พญ.วริชา เอี่ยมจิณสุวัฒน์ 
อาทิยา ยี่สิ้น พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าวอร์ดชีวาภิบาล (ซ้าย)
และ พญ. วริชา เอี่ยมจิณสุวัฒน์
หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (ขวา)

ขณะที่ อาทิยา ยี่สิ้น พยาบาลวิชาชีพ และหัวหน้าวอร์ดชีวาภิบาล รพ.ราชพิพัฒน์ บอกว่า บุคลากรทางการแพทย์มักถูกสอนกันมาว่าต้องช่วยเหลือคนไข้ ต้องทำยังไงก็ได้ให้เขามีชีวิตรอด ฟื้นคืนชีพ โดยแยกจากการคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้หลังจากรอดชีวิต ต่างจากวิธีคิดการดูแลแบบประคับประคอง

“เมื่อก่อน เราคิดแต่ว่าต้องทำให้เขารอดชีวิต แต่เราลืมคิดไป ว่าพอคนไข้ฟื้น กลับบ้านไปเขาจะเป็นยังไง ดูแลตัวเองได้ไหม ญาติไหวหรือเปล่า โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงบทบาทและจิตใจของผู้ดูแลด้วย แต่เมื่อใช้การดูแลแบบประคับประคอง มีการเพิ่มการดูแลเรื่องจิตใจและความสุขสบายของผู้ป่วยมากขึ้น เน้นให้มีความสุขในบั้นปลายชีวิต”

อาทิยา ยี่สิ้น 

ปัจจุบัน รพ.ราชพิพัฒน์ เป็นโรงพยาบาลในเครือสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพียงแห่งเดียว ที่มีแผนก ICU – PC (Intensive Care Unit – Palliative Care) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการดูแลมาแล้วจากห้อง ICU และผ่านการพยายามยื้อชีวิตมาแล้ว เพื่อให้เป็นพื้นที่ตรงกลาง และเตรียมพร้อมผู้ป่วยและญาติก่อนการเข้าสู่การดูแลในระยะท้าย

“ห้องไอซียูจะมุ่งไปที่การยื้อชีวิต หากมีผู้ป่วยที่ออกมาจากไอซียู ผ่านการสอดท่อ หรือหัตถการบางอย่างมาแล้วอย่างเต็มที่ หากส่งเขาไปหอผู้ป่วยระยะท้ายเลย จะเป็นการทำร้ายจิตใจญาติเหมือนกัน เพราะที่นั่นเราจะไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ยื้ออีกแล้ว การมี ICU-PC จึงเป็นเหมือนพื้นที่จุดเชื่อมต่อระหว่างการยื้อชีวิตและการดูแลประคับประคอง คือ มีการดูแลเหมือนไอซียูอยู่บ้าง แต่ค่อย ๆ เตรียมพร้อม ปรับความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติเรื่องการสูญเสียเพื่อส่งไปสู่ end of life ได้อย่างสมบูรณ์”

อาทิยา ยี่สิ้น 

ปัจจุบัน แผนก ICU-PC โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ รองรับผู้ป่วยได้ 10 เตียง เปิดมาแล้ว 2 ปี มีการดูแลกรณีผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินวิกฤตในรูปแบบเดียวกับ ICU แต่มีการเพิ่มเวลาในการทำหัตถการต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยให้นานขึ้นเพื่อใช้เวลาในการพูดคุย ทำความเข้าใจ มีการดูแลแบบ comfort care เช่น อาบน้ำ ตัดผม นวด

รวมถึงการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพร่วมด้วย เช่น นักจิตวิทยา แพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทยประยุกต์ นักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบทุกมิติในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตให้มากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active