เหลือเชื่อ! คนกรุง ป่วยฉุกเฉิน เข้าถึง รพ. ยากกว่าคนต่างจังหวัด

‘ศูนย์เอราวัณ​’ เผย โรงพยาบาล ปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เฉลี่ย 60 ครั้ง/วัน เหตุ คนไข้คงค้างจำนวนมาก แพทย์แนะพัฒนาระบบส่งกลับรวดเร็ว ห่วงสิทธิข้าราชการไม่มีหน่วยบริการประจำ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์​ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดประชุมนําเสนอผลการดําเนินโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

พญ.ธันยา ปิติยะกูลชร หัวหน้ากลุ่มงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.​ หรือ ศูนย์เอราวัณ​ ระบุว่า โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร แต่ละที่เตียงเต็ม และเผชิญปัญหาคนไข้คงค้างในห้องฉุกเฉิน ทำให้รับคนไข้รายใหม่ที่จะเข้าห้องฉุกเฉินไม่ได้ จึงต้องหาโรงพยาบาลอื่น และในแต่ละที่ก็เต็มไปหมด ศูนย์ฯ จำเป็นต้องโทร.วนหาเตียงโรงพยาบาลเพื่อขอให้ช่วยรับเคส บางเคสรอ 2-4 ชั่วโมง ทำให้เสียโอกาสในการเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว 

พญ.ธันยา ปิติยะกูลชร

ศูนย์เอราวัณ พยามปรับแนวทางเพื่อให้สามารถรับเคสฉุกเฉินตามแนวทางที่มีข้อตกลงกันไว้ แต่พอมาถึงหน้างาน แพทย์บอกว่า งานก็หนักไม่ไหว จึงปฏิเสธด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์ของคนไข้ เพราะถ้าดูแลคนไข้เคสสีแดง อาการหนักหลายเคสพร้อมกัน คงดูแลรักษาได้ไม่ดี จึงต้องปฏิเสธเคสใหม่

“สายที่ โทร. เข้ามาที่ศูนย์เอราวัณ มีประมาณ 2,500-3,000  สาย/วัน เมื่อสั่งการรถออกไปรับ 400 เคส ได้รับการปฏิเสธจากโรงพยาบาลประมาณ 60 ครั้งโดยเฉลี่ย/วัน แต่สุดท้ายก็หาโรงพยาบาลส่งให้ได้ ทำให้ระยะเวลาในการประสานนานขึ้นคนไข้ก็ต้องรอนานขึ้น” 

พญ.ธันยา ปิติยะกูลชร

พญ.ธันยา บอกอีกว่า ถ้าคน กทม. ป่วยฉุกเฉินจะเข้าถึงโรงพยาบาลได้ยากกว่าคนต่างจังหวัด คือเรื่องจริง คนในวงการสาธารณสุข จะรู้ว่าปัญหาใน กทม. ต่างจากที่อื่นเนื่องจากโรงพยาบาลต่างจังหวัด เป็นเครือข่ายเดียวกันของกระทรวงสาธารณสุข แต่ กทม. ต่างคนต่างอยู่ มีทั้งเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน สามารถที่จะประสานงานเป็นเครือข่ายกัน แต่ไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานด้วยกัน 

“อีกประเด็นคือในพื้นที่ กทม. มีโรงพยาบาลเยอะ ดูเหมือนจะมีตัวเลือกให้เยอะ แต่ไม่ใช่ เพราะเกี่ยงกัน มองว่าที่อื่นก็รับได้ ที่อื่นก็อาจจะว่าง“ 

พญ.ธันยา ปิติยะกูลชร

หัวหน้ากลุ่มงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.​ บอกด้วยว่า เตียงในระบบตอนนี้มีไม่พอ และแย่ลงเรื่อย ๆ เห็นได้ชัดจากโรงพยาบาลเอกชนถูกตัดสิทธิบัตรทอง ทำให้โรงพยาบาลรัฐต้องรับคนไข้มากขึ้น ปัญหาจะต้องหนักหน่วงมากๆ เพราะคนไข้ถูกเทมาจากโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นถ้ากระจายคนไข้กลับไปที่โรงพยาบาลเอกชนให้ช่วยรับ แต่รัฐก็จ่ายชดเชยให้คุ้มค่าคุ้มทุน ขณะที่สร้างโรงพยาบาลรัฐเพิ่ม ก็ช่วยเพิ่มเตียงในระบบ แต่กว่าจะสร้างเสร็จ ก็ใช้งบเหมือนกัน ใช้คนเหมือนกัน ขณะที่คนไข้ใน กทม.​รอไม่ได้แล้ว 

ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในคณะผู้วิจัยหลัก บอกว่า แม้มีการพัฒนาการของนโยบาย ตั้งแต่นโยบาย EMCO สู่ UCEP ภาคเอกชน และล่าสุดมีการขยายผลสู่โรงพยาบาลภาครัฐ แต่ยังพบการปฏิเสธผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยที่ไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาลด้วยตนเอง (walk-in) และ ผู้ป่วยที่รถกู้ชีพระดับต่างๆ ออกรับ และไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างๆ ได้ โดยอาจเกิดจากอุปสรรค ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกทางการเงินการคลังสุขภาพ เช่นการที่ห้องฉุกเฉินไม่สามารถแอดมิทผู้ป่วยเข้าหอผู้ป่วยในได้ หรือการที่หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยในมีศักยภาพไม่เพียงพอ เป็นต้น 

ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ เสนอแนะว่าการแก้ปัญหาการปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตควรทำ 2 ส่วนหลัก คือ

  1. มีหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส เพื่อดำเนินการตัดสินและลงโทษหน่วยบริการที่ปฏิเสธการรับคนไข้โดยไม่เป็นธรรม

  2. สร้างหน่วยงานที่สามารถติดตามและกำกับทรัพยากรสุขภาพในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแบบ real time รวมถึงการทบทวนมาตรการและข้อกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหานี้

นอกจากนี้ควรทบทวน การจ่ายค่าบริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) และพัฒนาระบบสารสนเทศการเบิกจ่ายของโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (UCEP ภาครัฐ) เพื่อให้มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการวิจัยเพื่อตรวจสอบผลกระทบในระยะยาวและผลต่อผู้ป่วย เช่น ความแออัดของห้องฉุกเฉิน ผลลัพธ์การรักษา และอัตราการเสียชีวิต

ขณะที่ นพ.เพชร อลิสานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สภาพห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาฯ มีผู้ป่วยคงค้างที่นอนรอเตียงจำนวนมาก ไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ และต้องบอกว่าคนไข้ที่มาด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน ต้องแอดมิทแทบทุกราย ซึ่งใช้คนเยอะ ใช้เงินเยอะ ทุกวันนี้ โรงพยาบาลภาครัฐ แบกรับภาระจากรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ทรัพยากรมีไม่พอ แต่ความต้องการใช้มีมาก จากประชากรแฝงในพื้นที่

 ”ห้องฉุกเฉินเป็นปากทางเข้า แต่ข้างในเตียงเต็ม เสริมเตียงไม่รู้จะเสริมอย่างไร บุคลากร ก็แบกรับจนหลังแอ่น เราต้องจับมือกันให้แน่นเพื่อต่อรอง ขณะที่อัตราจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉิน สปสช. ก็ไม่ปรับมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว“

นพ.เพชร อลิสานันท์

นพ.เพชร เสนอว่า ระบบเบิกจ่ายต้องเป็นธรรม และระบบส่งกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ต้องรวดเร็ว เพราะคนมาห้องฉุกเฉินไม่จบที่ห้องฉุกเฉินแน่น และเป็นห่วงคนไข้สิทธิข้าราชการ เพราะไม่มีหน่วยบริการประจำเหมือนบัตรทอง เหมือนมีตัวเลือกเยอะ แต่อาจจะไม่มีให้เลือกเลย 

ด้าน ดวงนภา พิเชษกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบส่งกลับ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน ติดแบลกลิสต์เยอะมาก เตียงจึงหายไป แต่กำลังจะหลุดจากแบลกลิสต์ และกลับเข้าสู่ระบบบริการ จึงขอคุยกับ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ​ ยอมรับทรัพยากรไม่เพียงพอจริงๆ จำเป็นจะต้องแชร์ทรัพยากร ร่วมกัน 

”อยากให้ช่วยคนก่อน ยังไม่อยากให้ปฏิเสธคนไข้“ 

ดวงนภา พิเชษกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active