เยาวชนเมืองกรุง เครียดสูง-เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

4 องค์กร จับมือ ดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น กทม. นำร่องโครงการ ‘ที่พักใจให้เยาวชน’ หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อใจ รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรี ผ่านแอปฯ ‘อูก้า’  

วันนี้ (7 ส.ค. 67) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 และมูลนิธิกำแพงพักใจ แถลงความร่วมมือในโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับ เป็นห่วงสถานการณ์สุขภาพจิตของนักเรียน อาจจะมีความเครียด จนทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งกระทรวงฯ มีการขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข จะมีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายทั้งกิจกรรมแนะแนวกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนดูแลช่วยเหลือนักเรียนและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อเนื่อง

การดำเนินการโครงการที่พักใจให้เยาวชน ร่วมกันครั้งนี้เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยและเพิ่มมิติการดูแลและทำงานด้านสุขภาพจิต ทำให้ครูมีสื่อและช่องทางแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์ มีความปลอดภัย เกิดการเรียนรู้ที่สมวัยอย่างมีความสุข

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ระบุว่า ได้หารือกับ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในเรื่องของการจัดสื่อการเรียนการสอนให้กับครูเพื่อแนะนำช่องทางรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต และประชาสัมพันธ์เบอร์โทรของหน่วยงานด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง หากเกิดปัญหาที่เกินกำลัง คุณครูสามารถประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที จนเกิดเป็นโครงการในวันนี้เป็นการนำร่อง ที่ กทม. ก่อน และหลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการทำเกี่ยวกับสุขภาพจิตร่วมกันมากขึ้น

ขณะที่ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า จากข้อมูลการใช้บริการ Mental Health Check In ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 20 เมษายน 2567 พบว่าประชาชนไทย อายุต่ำกว่า 20 ปี ใน กทม. ที่ให้ข้อมูลจำนวนกว่า 1,200 คน 

  • มีความเครียดสูง  58.20% 

  • เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 61.07% 

  • เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 43.65% 

ตัวเลขดังกล่าวถึงเป็นจำนวนที่สูง แต่ก็ยังทำให้เห็นว่าเยาวชนเหล่านั้นมีความตระหนักในการประเมินสัญญาณสุขภาพสุขภาพจิต เพื่อรู้เท่าทันต่อภาวะสุขภาพจิตของตน ขณะเดียวกันอัตราการเกิดที่น้อยลงเราไม่อาจสูญเสียเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติไปก่อนวัยอันควร  

“เราเริ่มนำร่องโครงการนี้ ที่ กทม.ก่อน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง” 

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์

นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า ภารกิจสำคัญของโครงการคือการเป็นที่พึ่งพิงทางใจสำหรับเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปีใน กทม. ช่วยลัดขั้นตอนให้เข้าถึงการรักษาโดยง่าย โดยพัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตฟรีจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิกนักจิตวิทยาการปรึกษา และอาสาสมัครผู้ดูแลใจให้เยาวชน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ก้าวเข้ามาจะได้รับ การดูแลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและมืออาชีพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เวลาในการอคอยและโอกาสในการดูแลสุขภาพจิต

ขณะที่ บุญสิงห์ มีมะโม ผู้จัดการกองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร บอกว่า ได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อตอบความต้องการเร่งด่วนด้านสุขภาพจิตของเยาวชน ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ให้เข้าถึงบริการการประเมินความเครียด โครงการนี้จะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิต สร้างชุมชนแห่งความเข้าใจและเปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งกำลังใจที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เยาวชนและชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน

พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ บอกว่า ได้ให้บริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่องผ่านแอปพลิเคชัน “อูก้า” (ooca) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 3,000 คน ซึ่งปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตสำหรับเยาวชน โดยได้มีการเพิ่มฟังก์ชั่นในแอป อูก้า โดยสามารถเลือกสิทธิ์ “กำแพงพักใจ” เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งความสำเร็จของความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป 

ผู้ที่สนใจสามารถรับบริการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนมิถุนายน 2568 และรับข้อมูลได้ที่ www.ooca.co/wallofsharingnhso

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active