รักษา(ไม่)ทุกที่ กทม. โรงพยาบาลใหญ่ไม่ขอเข้าร่วม

‘สมศักดิ์’ เผยรักษาทุกที่ กทม. เฉพาะหน่วยบริการที่ติดโลโก้เท่านั้น ด้าน ‘กลุ่ม รพ.มหาวิทยาลัย’ ยัน ต้องมีใบส่งตัว! ขณะที่ ‘เครือข่ายโรงพยาบาลรัฐ’ เผย ถูก สปสช. ตัดงบฯ ผู้ป่วยใน ทำ 236 รพ.ขาดสภาพคล่อง 

จากกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียม Kick Off 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 26 ส.ค. 67 นั้น

วันนี้ (5 ส.ค. 67) รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHosNet) บอกว่า ที่ตกลงกันล่าสุดคือได้รักษาทุกที่เฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ถ้าจากปฐมภูมิ (คลินิกฯ) จะส่งไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยบริการตติยภูมิ ขอให้มีใบส่งตัว คือ ส่งตัวเรื่องสิทธิ์และส่งตัวเรื่องการแพทย์ เหตุผลเรื่องการแพทย์คือ ระบบข้อมูลยังไม่ได้เชื่อมกันครบถ้วนอย่างที่ทุกคนคิด บางทีเราอาจจะพูดให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามันเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่จริง ยังต้องใช้เอกสารของแพทย์

“ที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าวันที่ 26 ส.ค.นี้ กทม. จะเริ่มรักษาทุกที่ เราขอแค่หน่วยบริการปฐมภูมิ แต่หากรักษาไม่ได้เกินกำลังก็ส่งมาหน่วยบริการตติยภูมิหลายสังกัดยินดีรับ”

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHosNet)

รศ.นพ.สุรศักดิ์ บอกอีกว่า ประชาชนจะเข้าใจว่ารักษาทุกที่แล้วไปที่ไหนก็ได้ ทั้ง รพ.จุฬาฯ ศิริราช รามาฯ อาจจะผิดตั้งแต่คนติดกระดุมเม็ดแรกที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อันนี้เหมือนพรรคการเมืองหาเสียง ส่วนงานวิจัยที่บอกว่ารักษาทุกที่ไม่ได้เพิ่มแออัดโรงพยาบาลใหญ่ไม่จริง ในต่างจังหวัดที่นำร่องยังมีคนไข้เพิ่มอย่างน้อยก็ 15% ใน กทม. ตอนนี้ก็แน่นอยู่แล้ว ถ้ามีอีก 15% เพิ่มมา จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนป่วยหนักซับซ้อน ที่ต้องใช้บริการกับโรงพยาบาลตติยภูมิจริง ๆ 

ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า รักษาทุกที่ใน กทม. ไม่ 100% หมายถึง ต้องไปรักษาทุกที่กับหน่วยบริการที่ต้องมีสัญลักษณ์โลโก้เท่านั้น โดยวันที่ 26 ส.ค.นี้ จะเปิดสัญลักษณ์ ที่จะติดไว้ให้คนรู้ว่า หน่วยบริการไหนที่คนสามารถไปรักษาได้บ้าง ซึ่งก็มีทั้งหน่วยนวัตกรรมที่เพิ่มเติมเข้ามาไม่เฉพาะคลินิก 

เครือข่ายโรงพยาบาล เผย ถูก สปสช. ตัดงบฯ ผู้ป่วยใน

วันเดียวกันที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เข้ายื่นหนังสือต่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยใน

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากการปรับลดการจ่ายค่าผู้ป่วยในต่อหน่วย ในเดือนมิถุนายน 2567 เหลือ 7,000 บาทจากเดิม 8,350 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนจริงอยู่ที่ 13,000 บาทต่อหน่วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบต้นทุนของการรักษาหนึ่งคนเฉลี่ย 14,000 บาท สปสช. จ่ายให้ 8,350 บาท แต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สปสช. จ่ายแค่ 7,000 บาท แต่การรักษาในโรงพยาบาลยังรักษาเหมือนเดิม คำถามคือนี่เป็นการยกระดับบัตรทองหรือเป็นการลดระดับบัตรทอง 

“เรามองว่า สปสช. กำลังลดระดับในบริการที่สำคัญจำเป็นต่อพี่น้องประชาชน”

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ 

ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ระบุด้วยว่า หลังการปรับลดการจ่ายเงิน ในเดือนมิถุนายนแล้วก็กระทบต่อโรงพยาบาลหลายแห่ง มี 236 โรงพยาบาลที่ไม่ได้เงินเลยทั้งที่รักษาไปแล้วเนื่องจากการคิดเงินลดลง และหักเงินเดือนจนไม่เหลือมาเป็นเงินบำรุงเพื่อจัดซื้อยา ซื้อวัสดุการแพทย์ ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ หรือจ่ายโอที จนสุดท้ายการเงินวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 900 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ติดลบ หักจ่ายหนี้ทั้งหมดไม่มีเงินเหลือแล้ว 270 กว่าแห่ง นี่คือสถานการณ์ที่หนักมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ส่วนสาเหตุการลดจ่ายรายหัวผู้ป่วยใน สปสช. แจ้งว่า งบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอ หรือโรงพยาบาลให้บริการมากเกินไป คือ รักษาผู้ป่วยในเยอะเกิน รักษาผู้ป่วยหนักซับซ้อนมากไป ทำให้เงินไม่พอ เมื่อเงินไม่พอจึงลดการจ่าย ซึ่งคิดว่าไม่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการ และเป็นการโยนความเสี่ยงให้หน่วยบริการมากเกินไป

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

สำหรับสาเหตุที่ผู้ป่วยในเยอะขึ้น เพราะว่าช่วงโควิด ปี 2563 คนไข้บางส่วนไม่ได้รับบริการ เช่นคนไข้ผ่าเข่า ผ่าต้อกระจก ไม่จำเป็นเร่งด่วนในการผ่าตัดช่วงโควิดจะหยุด จะผ่าเฉพาะเคสฉุกเฉิน คนไข้กลุ่มนี้จะดีเลย์มา 2-3 ปี แล้วตอนนี้กลับเข้ามาในระบบ คนไข้ในโรงพยาบาลจึงมากขึ้น แต่เงินไม่เพิ่มขึ้นตาม 

ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ยังเรียกร้องให้ สปสช. กลับมาจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในต่อหน่วย ที่ 8,350 บาทเหมือนเดิม อาจจะไม่ต้องเท่าต้นทุนจริงที่ 13,000 หน่วยก็ได้ เพราะเข้าใจว่าได้งบประมาณจำกัดจริง 

และข้อเสนอคือ 1. อยากให้ สปสช. เกลี่ยงเงินที่ยังมีเหลือในกองทุนอื่น มากระจายในบริการที่สำคัญจำเป็นต่อประชาชน ไม่ควรตัดลด 2. หากเกลี่ยเงินแล้วยังไม่พอ เป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่จะของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล 

นพ.อนุกูล บอกด้วยว่า ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ไม่เกี่ยวกับนโยบายรักษาทุกที่ เพราะเป็นงบฯ ผู้ป่วยนอก หรือ OP AnyWhere นโยบายนี้ชมรมสนับสนุน ประชาชนบางส่วนไปทำงานนอกพื้นที่ เจ็บป่วยได้ใช้บริการ แต่ประเด็นคือเมื่อมีการจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ในเรื่องของรักษาทุกที่ แต่งบประมาณที่จะจัดสรรไม่เพิ่มตาม จะมีปัญหาตามมา 

ส่วนการรักษาทุกที่ใน กทม. ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. เข้าถึงบริการได้น้อยเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด แต่คงไม่ง่ายเพราะการบริหารจัดการที่หลายสังกัดในพื้นที่เดียวกัน อีกเรื่องคือต้นทุนการรักษาพยาบาลแต่ละสังกัดไม่เท่ากัน จะบริหารอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด

เรื่องของการส่งตัว คิดว่าจริงแล้ว ควรจะรักษาใกล้บ้าน เพราะบางโรคต้องรักษาต่อเนื่อง การรักษาที่ไหนก็ได้น่าจะเป็นเฉพาะกรณีที่จำเป็น เช่นไม่ได้อยู่พื้นที่นั้นจริงๆตามที่ขึ้นทะเบียน เพื่อไม่ให้มีการใช้บริการมากเกินไป จนทำให้งบประมาณไม่พอ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่บอกว่า ไปที่ไหนก็ได้ฟรีหมด ก็จะกระทบแน่ๆ ทั้งความคาดหวังของประชาชนกับหน่วยบริการ ซึ่งพอเหมาะพอสมกัน

ขณะที่ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธาน บอร์ด สปสช. กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณว่า ยังตอบวันนี้ทั้งหมดไม่ได้เพราะต้องใช้เวลา เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร แต่ประการแรกการของบประมาณเพิ่ม ประเด็นที่สองการทำนวัตกรรมให้คนป่วยน้อยลง แต่ก็ไม่เห็นผลโดยเร็ววันต้องใช้เวลา ใช้บุคลากร ประเด็นที่สาม ดูว่าต้องไปลด ไปเพิ่มอะไรอย่างไร ซึ่งแล้วแต่บอร์ดจะพิจารณา

เมื่อถามว่าจะหางบประมาณเพิ่มจากไหน สมศักดิ์ บอกว่า ไม่ใช่นักการเงิน เป็นหน้าที่ของคนอื่น ก็พยามเต็มที่แล้ว เขาไม่ได้มีใครหวงก็ต้องไปคุยกันทางผู้ใหญ่ ซึ่งเขาก็ถามว่าได้พยามเต็มที่แล้วหรือยัง

ส่วนข้อเสนอให้เกลี่ยเงินจากกองทุนอื่น เช่น หน่วยนวัตกรรม มาให้โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องได้หรือไม่ รมว.สธ. บอกว่า ต้องไม่มีขาดสภาพคล่อง ส่วนจะทำยังไงก็ว่ากันไป อย่าไปลงรายละเอียดมาก ตนไม่ใช่เป็นนักการเงิน หรือว่าเป็นแพทย์ ก็จะดูภาพรวมให้

“ผมยังไม่รู้เลยว่ามีโรงพยาบาลไหนขาดทุน ผมยังไม่ได้เห็นข้อมูล ยังไม่อยากตอบ เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องแก้ปัญหาอยู่แล้ว หากพูดไปตรงนี้เดี๋ยวจะขาดจะเกินไป ก็ไม่ดี ”

สมศักดิ์ เทพสุทิน  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active