ห่วงเทน้ำหนักบำบัดยาเสพติดจนลืมงานสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต แนะกำหนดนิยาม การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชน ติงให้อำนาจ ‘อธิบดีกรมสุขภาพจิต’ คุมเฟคนิวส์
วันนี้ (2 ส.ค. 67) นับถอยหลังอีก 6 วัน จะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. … ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาลคณะสังคมศาสตร์ ม.มหิดล และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เครือข่ายองค์กรสุขภาวะทางจิตได้จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อพูดคุยถึงข้อสังเกตุ และข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและระบบการดูแลสุขภาพจิต เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอจากภาคประชาชนต่อการร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก การตั้งกองทุนสุขภาพจิต เป้าหมายการใช้เงินต้องไม่เพียงแค่ใช้จ่ายในโครงการ หรือจัดอีเวนท์แล้วจบไป แต่ควรใช้เงินจากกองทุนนี้ไปสร้างระบบที่ครอบคลุมทุกคน คือโจทย์ใหญ่ ขณะที่จะจัดการอย่างไรให้มีการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาคประชาชนมากที่สุดในการใช้เงิน
เนื่องจากเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้กรมสุขภาพจิต อาจต้องเจอความปัญหาความล่าช้าของระบบราชการ แต่อย่างน้อยต้องเปิดเผยโปร่งใสมีธรรมาภิบาล การได้มาซึ่งความเปิดเผยโปร่งใส จำเป็นต้องมีสัดส่วนคณะกรรมการกองทุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน รวมถึงคนที่เป็นทั้งแพทย์ และไม่ใช่แพทย์ มีเพื่อนภาคีเครือข่ายช่วยกันมองหาทางออกร่วมกัน
“กองทุนนี้จึงเป็นความหวังอย่างมากในการสร้างสิ่งที่เรียกว่าระบบสุขภาวะทางจิต ไม่ใช่เพียงแค่ใช้ไปเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างมากว่า ทำอย่างไรเมื่อรวมสุขภาพจิตและยาเสพติดแล้ว จะไม่เฮโลไปแค่การบำบัด รักษาแต่ยังมีการทำงานสุขภาพจิต มิติอื่น ๆ เช่นการสร้างเสริมและป้องกันที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสมดุล”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
ประเด็นที่สอง การปรับงานด้านสุขภาพจิตให้เชื่อมโยงกับงานยาเสพติดมากขึ้น ก็เป็นทิศทางที่ดีแต่ในทางปฏิบัติมีข้อท้าทายจำนวนมาก 1. จะมั่นใจอย่างไรว่าขอบเขตงานด้านยาเสพติดและสุขภาพจิตจะไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีอยู่ และ 2. ทำอย่างไรเมื่อรวมแล้วไม่เป็นภาระของหน้างานในพื้นที่ถึงแม้เราจะบอกว่าการรวมสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน จะเป็นฐานทางกฎหมายให้อำนาจคนทำงาน ขณะเดียวกันถ้าไม่มีแผนพัฒนาคน ก็จะทำให้งานล้นมือ
ประเด็นที่สาม การให้กรมสุขภาพจิตสามารถจัดการข้อมูลที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต ตามหลักการดีมาก เพราะทุกวันนี้อยู่ในสังคมที่ถูกข้อมูลข่าวสารบางอย่างทิ้งบาดแผลทางใจ หรือถูกหลอกลวงมากขึ้น การมีกลไกจัดการตรงนี้ดี แต่โจทย์คือจะเป็นหน้าที่กรมสุขภาพจิตอย่างเดียวหรือไม่ เนื่องจากกรมสุขภาพจิตไม่ได้มีหน้าที่ในการจัดการควบคุมกำกับข้อมูลเนื้อหาสื่อสาร เพราะมีประเด็นเรื่องการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ทั้งของปัจเจก และสื่อมวลชน รวมไปถึงขอบเขตอำนาจของกรมด้วย จึงมองว่าต้องทบทวนและคุยกันหลายฝ่าย
“อันที่จริงการจัดการข้อมูลที่เป็นภัยสุขภาพจิตอาจจะไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพจิตและสร้างโครงข่ายส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตมากกว่าหรือไม่”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
สอดคล้องกับ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้บริหาร Life Education Thailand หนึ่งในภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะทางจิต กล่าวว่า น่ากังวลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจ หากมองบริบทของกรมสุขภาพจิตหรือการทำงานทางด้านส่งเสริมหรือการรักษา ไม่สามารถที่จะครอบคลุมไปถึงเรื่องของการจัดการสื่อได้ทั้งหมด แต่ว่าสิ่งที่ควรจะเป็นจุดมุ่งเน้นของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะช่วยให้ไม่เข้าใจผิดจนเกินไป อาจจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้คนมีความเท่าทัน หรือส่งเสริม บริบทของข้อมูลข้อเท็จจริงทางด้านสุขภาพจิตสู่สังคมอย่างมีสีสัน จะเห็นว่ามีซีรีส์ แอนิเมชั่นหลากหลายที่คนอยากจะเข้าไปดูเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางจิต
ถกนิยาม “ความผิดปกติทางจิต” ในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต
ผศ.ธีรพัฒน์ ยังระบุถึง ข้อเสนอในส่วนของการกำหนดนิยามความผิดปกติทางจิต ในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่มาของการแก้ไขเพิ่มมาอีกหนึ่งประโยคว่า อาการผิดปกติทางจิตมาจากสุรา สารเสพติดอื่น ๆ ด้วย แต่เครือข่ายบอกว่าจริง ๆ การพูดแบบนี้อาจสร้างความเข้าใจผิด เหมารวมหรือการตีตราว่าการดื่มสุราและการใช้สารเสพติดบางประเภทที่มีความจำเป็นเท่ากับความผิดปกติทางจิต เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ระมัดระวังอย่างมากในการสื่อสาร
เครือข่ายฯ จึงเสนอว่า อาจจะไม่ต้องย้ำ แต่พูดทำนองว่าอาการผิดปกติทางจิตอาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอีกจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่สารเสพติด ยังมีเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี นี่เป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้นิยามครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และระมัดระวังไม่ให้เกิดการตีตราและเหมารวม
ขณะที่ อรุณฉัตร บอกว่า การอธิบายนิยามความผิดปกติทางจิต ในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ฉบับนี้ อาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดได้ว่า จะเน้นไปที่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์และเกิดภาวะสุขภาพจิตเสีย ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นการนิยามที่อาจจะไม่ครบถ้วน การเพิ่มบริบทเกี่ยวกับเรื่องของผิดปกติทางจิตควรจะมีความครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้สังคมไม่เข้าใจผิด รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานด้วย
หมวดส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิต ยังไม่ชัดพอ
อรุณฉัตร ยังระบุด้วยว่า ในหมวดของการส่งเสริมสุขภาพจิตซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นมติสมัชชาสุขภาพในปีที่ผ่านมายังไม่ถูกไฮไลท์มากเท่าที่ควรใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากมีฟังก์ชันเกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมได้อย่างชัดเจน จะช่วยจะช่วยลดทอนปัญหาหลายอย่างที่กำลังเจอ ทั้งปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอรับมือ, ปัญหามีนวัตกรรมไม่เพียงพอ
ฟังก์ชันของการส่งเสริมที่จะมาจัดการกับเรื่องนี้จำเป็นต้องถูกออกแบบใน ร่าง พ.ร.บ.อย่างเป็นระบบคิด หมวดนี้ยังไม่ระบุไม่ชัดเจน หากมีการปรับปรุงเพื่อให้ร่างกฎหมายใช้คำนิยามส่งเสริมสุขภาพจิต ให้เหมาะสมและทำให้คนเข้าใจง่ายขึ้นว่า การทำงานด้านสุขภาพจิตไม่ใช่การคัดกรองและรักษาอย่างเดียว หรือใช้มุมมองทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ใช้มุมมองทางสังคมการศึกษา หรือแม้แต่มุมมองของการเลี้ยงลูกเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็อาจจะมีผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคมที่หลากหลายเข้ามาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต และหากสังคมบริบูรณ์ด้วยเรื่องเหล่านี้ คนป่วยจะลดลง และจะสามารถแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสัดส่วนบุคลากรที่มีอยู่ได้
“การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชน” ต้องระบุในร่าง พ.ร.บ.
อรุณฉัตร เสนอว่า การออกแบบกระบวนการทางด้านสุขภาพจิต หากมีกฎหมายสักฉบับที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “การมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชน” ตรงนี้จะกลายเป็นมิติใหม่ของการทำงานทางด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตได้อย่างดี เพราะหากเป็นสิทธิ จะสามารถออกออกแบบได้ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงกระบวนการตั้งต้น และอาจมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนเข้ามาร่วมมือขับเคลื่อน ที่ไม่ทำให้ภาครัฐส่วนกลางต้องทำงานคนเดียว การให้บทบาทกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมได้นั้น ก็ต้องนิยามให้เรื่องนี้กลายเป็นสิทธิมนุษยชน เพื่อกลายเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากการบริการของภาครัฐ และเกิดกระบวนการออกแบบที่หลากหลายและพอเพียง
ที่บอกว่า “การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชน” นั้นเพราะว่าปัจจุบันนี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา สังคมจะมีความเข้าใจว่ามันทำงานเฉพาะกับคนที่มีปัญหา เช่น ในโรงเรียนเด็กคนไหนที่ไม่ถูกตรวจจับว่ามีปัญหาซึมเศร้าครูก็อาจจะไม่ระมัดระวังในการสื่อสาร เสียโอกาสที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตและงอกงาม และพัฒนาในรูปแบบที่ควรจะเป็นได้ ในมิตินี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราจำเป็นต้องออกแบบให้เกิดฟังก์ชันทางสังคมที่สื่อสารว่า การมีสุขภาวะทางจิตที่เหมาะสม เป็นสิทธิที่ทุกคนพึ่งได้รับ
ทั้งนี้มองว่าหากไม่มีการนิยามเรื่องนี้ สุดท้ายร่าง พ.ร.บ.นี้จะถูกใช้ในการแพทย์เป็นหลัก สูญเสียอำนาจในการที่จะสร้างสังคมที่เหมาะสมกับประชาชน สุดท้ายการแพทย์จะรับมือกับเรื่องนี้ไม่ไหว เพราะปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ใช่ปัญหาที่สามารถรักษาได้ที่การแพทย์อย่างเดียวจิตแพทย์ก็พูดแบบนี้ ต้องอาศัยสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องอาศัยบริบทการเลี้ยงดู อาศัยระบบนิเวศในทุกระดับ
”เราไม่สามารถทำให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ทางสังคมเหมือนอย่างที่เราจัดการกับโควิด ว่าล้างมือใส่หน้ากากแล้วไวรัสไม่แพร่ระบาด ตราบใดที่ยังมีการสื่อสารก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดแผลใจได้ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำให้เกิดสุขภาพทางจิตที่ดีได้เช่นกัน“
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์
อรุณฉัตร ยังทิ้งท้ายว่า หากคนรู้วิธีการสื่อสารที่ดี เป็นจุดหนึ่งที่คิดว่าหากระบุเรื่องของ การมีสุขภาวะทางจิตที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชน จะช่วยให้เกิดการออกแบบสังคมร่วมกันของคนทุกกลุ่มได้ง่ายขึ้น