ย้ำแบน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ต้องมาพร้อมกฎหมายเฉพาะคอยคุม

‘ปธ.กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า’ ชี้ใกล้ได้ข้อสรุป แจงดูงานที่จีน แค่รู้เขารู้เรา ปัดเอี่ยวเอกชนเสรีบุหรี่ไฟฟ้า ยันศึกษาบทเรียนจีนคุมจริงจัง ทำเด็กติดน้อย ขณะที่ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เข้มจัดการลักลอบขาย-นำเข้า ขอนึกถึงเยาวชนมากกว่าผลประโยชน์

วันนี้ (1 ส.ค. 67) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตรรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุมวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้ากับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 22 เรื่อง สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า: รอดด้วยสภาฯ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้านำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจของทั้งผู้สูบ และผู้ใกล้ชิด ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และยังมีค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษาสูง โดยเด็กและเยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าวัยอื่น ๆ และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อยและเข้าสู่สังคมสูงวัย รัฐบาลจึงมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการทั้งการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้สูบและผู้ใกล้ชิด การสร้างความตระหนักรู้ ถึงข้อกฎหมายและบทลงโทษ ต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อที่จะปกป้องการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของคนไทย

สมศักดิ์ บอกด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับรัฐสภา เนื่องจากมีการศึกษากฎหมายมาตรการนำเข้า หรือไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยแสดงความเห็นว่า “ถ้ารัฐสภายอมให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า คือ หนทางอับเฉา แต่ถ้ารัฐสภาห้ามนำเข้าก็คือทางรอด” ขอให้สังคมรับทราบและช่วยกันรณรงค์ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเป็นอย่างมาก ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ก็ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่

“เราไม่ให้นำเข้าอยู่แล้ว ดังนั้นต้องรณรงค์ไม่ให้นำเข้า โดยต้องช่วยกันพูดคุยทั้งหมด พร้อมยืนยันว่า รัฐบาล ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า แต่เรื่องนี้ก็มีกลุ่มคนรณรงค์นำเข้าเพราะประโยชน์ทางการค้า แต่ย้ำว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่เอา”

สมศักดิ์ เทพสุทิน
นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล ปธ.คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะที่ นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า บอกว่า กมธ. ทำงานมา 8-9 เดือน และกำลังจะมีข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา ที่ผ่านมามีนักวิชาการ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในให้ข้อมูลทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ซึ่ง กมธ. ได้รวบรวมความเห็นทั้งหมด โดยในการประชุมหลังจากนี้จะมีการสรุปความเห็นของ กมธ. 35 คน เปิดเผยต่อสาธารณะต่อไป

โดยการศึกษาของ กมธ. แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ แบนบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด และ ไม่แบนและทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ส่วนคือ เสรีทั้งหมด หรือ นำเข้าได้เฉพาะแบบ THC

หากท้ายที่สุดทุกฝ่ายลงความเห็นว่า แบน อาจต้องมีการแก้กฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้มีความเข้มข้นมากขึ้น หรือ ออก พ.ร.บ.สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า มาบังคับใช้ เนื่องจากเวลานี้ไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ และต้องพึ่งกฎหมายอื่นอยู่

“การระบาดก็น่าเป็นห่วง เชื่อว่าผลประโยชน์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกกฎหมาย และอยู่ใต้ดินนี้มีมูลค่ามาหาศาล และการเดินทางไปดูงานที่จีน เห็นสภาพแล้วว่ามูลค่าแสนล้านยังน้อยไป เพราะมีทั้งหมด 15 โรงงาน ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน 12 แห่ง และอยู่ที่อินโดนีเซีย 3 แห่ง”

นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล

นพ.นิยม บอกด้วยว่า การที่บุหรี่ไฟฟ้าจะถูกกฎหมาย มาจากความคิดเห็นของ กมธ.บางคน ที่เห็นว่าการแบนไม่ได้ผล อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อจะควบคุมให้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความเห็นและข้อสรุปทั้งหมดจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

“ส่วนตัวในฐานะกุมารแพทย์ ทุกท่านคงทราบดีว่าผมจะเอาแนวทางไหน มันกระทบเด็กเยอะ เหมือนยาเสพติดอื่น แต่จะมีความเห็นออกมาจาก กมธ.แนวไหน เราคงไปบังคับ กมธ. ท่านอื่นไม่ได้ และสุดท้ายความหวังก็จะอยู่ที่รัฐบาล ฝ่ายบริหารที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ ผมจะออกในแนวปกป้องเด็กและเยาวชนของเรา

นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล

เมื่อสอบถามถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่จีนจนนำมาสู่ความกังวลจากหลายฝ่ายว่า กมธ. มีท่าทีที่จะเสรีบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่นั้น ประธาน กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า ชี้แจงกับ The Active ว่า การเดินทางไปดูงานอาจจะถูกมองในทางลบ แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้มีอะไร เนื่องจากคนที่เดินทางไปก็มีความเห็น 2 ฝ่าย ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง เพียงแต่ไปดูให้เห็นของจริง เพื่อให้รู้เขารู้เรา ไม่ได้เกี่ยวกับเอกชนที่ทำบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้เลย เพราะได้ไปดูงานของหน่วยงานรัฐอีก 2 หน่วยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีน มีวัตถุประสงค์อีกอย่างคือ ต้องการไปดูประเทศที่เป็นทั้งแหล่งผลิตและจำหน่าย แต่กลับพบว่าเด็กและเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนน้อย และลดลง เพราะกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นกว่าไทย การขายบุหรี่ไฟฟ้าใต้ดินไม่มี

“ของบ้านเราการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างหละหลวม และผลประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ถ้าเราแบนทั้งหมด วันนี้กฎหมายที่มีอยู่ไม่พอ เราไม่มีกฎหมายเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า การบังคับใช้กฎหมายบางครั้งก็ตีความแตกต่างกันไปถ้าทำเป็นพระราชบัญญัติใหม่มันก็จะดีที่สุดแต่ต้องใช้เวลา”

นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active