หนุนพัฒนาระบบชีวาภิบาล เพิ่มอัตรากำลังบุคลากร Palliative Care ใน รพ.ชุมชน, รพ.ศูนย์ ยกระดับการดูแลแบบประคับประคองระยะสั้น เพิ่มความรู้ Care manager, Care giver พร้อมจับมือท้องถิ่น เรียนรู้ระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน เอื้อต่อการตายดีที่บ้าน
วันนี้ (31 ก.ค. 67) กลุ่ม Peaceful Death และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว Let’s move! ชีวาภิบาล ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบชีวาภิบาลอย่างมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาคุณภาพการบริการผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะยาว ระยะท้าย และการตายดี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ การแพทย์และเทคโนโลยีทำให้ผู้คนอายุยืนขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้ป่วยเยอะขึ้นด้วย และบริบทของสังคมเมืองก็เป็นเรื่องท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้คนตายดีได้อย่างสมศักดิ์ศรี
“การตายอย่างมีศักดิ์ศรีคือการตายในบ้านที่เคยอยู่ ในเตียงที่เคยนอน และในอ้อมกอดของคนที่เรารักและรักเรา ในบริบทชนบทสมัยนี้ก็ไม่ง่ายเหมือนก่อน เพราะลูกหลานมาทำงานในเมือง บางคนไม่มีญาติ จะเป็นต้องมาอยู่สถานชีวาภิบาล ผมอยากให้มีระบบที่ดีในสังคมและฉากจบในชีวิตของเราทุกคนสมบูรณ์“
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ นักจัดการความรู้กลุ่ม Peaceful Death ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมการขับเคลื่อนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองและตายดีในสังคมไทยตลอด 20 ปี โดยแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่
ยุคแรก : ก่อนปี 2547 รุ่งอรุณแห่งการดูแลแบบประคับประคอง
มีสถานการณ์สำคัญ 3 เรื่องที่เป็นตัวจุดประกายให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ได้แก่
- การมรณภาพของท่านพุทธทาส ที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างลูกศิษย์สายแพทย์กับสายวัด เกิดข้อถกเถียงว่าควรจะยื้อชีวิตตามหลักจรรยาบันทางการแพทย์หรือไม่ หรือควรปฏิบัติตามเจนนารมย์ของท่านพุทธทาสที่ต้องการตายดี
- การเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหว “สุภาพร พงศ์พฤกษ์” ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง และมีการแสดงเจตจำนงค์ว่าต้องการตายดีที่บ้าน แต่ติดขัดเรื่องการนำมอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวดออกมาใช้นอกโรงพยาบาลจนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมาย
- เกิดชุดงานวิจัยเรื่อง “กระบวนทัศน์เรื่องความตายและมิติแห่งสุขภาวะ” โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สสส. ที่เก็บเคสตัวอย่างของคนที่เลือกตายดีที่บ้าน และชี้ให้เห็นว่าการตายดีมีอุปสรรคอย่างไรและควรเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
ยุคที่สอง : ปี 2547- 2556 สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
เป็นช่วงที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากโรงเรียนแพทย์ มีหลักสูตรในการพูดคุยถึงการดูแลผู้ป่วย เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ภาคประชาชน เริ่มตื่นตัวและมีพื้นที่นำร่องที่นำโดยเครือข่ายพุทธิกา ที่นำความรู้เข้าสู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพที่จะดูแลความตายด้วยตัวเอง รวมถึง สปสช. เริ่มมีพื่้นที่นำร่องในโรงพยาบาลแล้ว
ยุคที่สาม : พ.ศ.2557 – 2566 การเติบโตอย่างก้าวกระโดด
รัฐประกาศยุทธศาสตร์โครงการเสริมสร้างสุขภาวะในช่วงท้ายของชีวิตและการตายดี ทำให้ สสส. ทำชุดโครงการใหญ่ มีการผลิตสื่อต่าง ๆ เกิดโครงการฝึกอบรมโดยศูนย์การุณรักษ์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน และเกิดโครงการชุมชนกรุณา
ยุคที่สี่ : พ.ศ. 2567 – ปัจจุับน การผสานสู่ระบบบริการและชุมชน
ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ผ่านมายังพบว่ามีรอยต่อในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้สูงอายุ และกลุ่มชายขอบที่เข้าไม่ถึงความรู้
ยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นของ “ความร่วมมือ” ด้านการตายดี การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้สูงอายุ และกลุ่มชายขอบ เริ่มเห็นการร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งโรงเรียน ชุมชน และโรงพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงานแยกส่วนอย่างชัดเจน
“เรากำลังอยู่ในยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด ที่จะผสมผสานความร่วมมือ อุดรอยต่อและช่องว่างที่ทุกภาคส่วนมีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์ร่วมกัน”
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
ขณะที่ วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเมืองกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death บอกว่า ได้ขับเคลื่อนมาตลอดทั้ง 4 ยุคสมัยเป็นเวลาร่วม 20 ปี พบว่า มีหลายองค์กรที่มีความตั้งใจจะส่งเสริมเริ่องการดูแลด้านการตายดี รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ตระหนักและต้องการให้การส่งเสริม มีภาคเอกชน และภาคประชาชนที่แข็งแรงมากแต่พบข้อจำกัดหรือจุดติดขัดในการเชื่อมต่อ ทั้งนี้จากโจทย์ท้าทายดังกล่าว เห็นว่ามี 4 สิ่ง ที่ควรทำเพื่อฉกฉวยโอกาสสำคัญนี้ไว้ ได้แก่
- สร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาสัวคมได้มาเจอกัน เติมเต็มข้อมูลและการขับเคลื่อนร่วมกัน
- ทุกภาคส่วนควรมีการทำงานร่วมกัน เพื่อดึงศักยภาพออกมาและทำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละภาคส่วนและนำไปสู่การลดช่องว่าง
- ต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากจะเป็นพื้นที่แห่งการพูดคุย แลกเปลี่ยนอัปเดทข้อมูลและยังประคับประคองใจคนทำงานด้วย
- ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เดิม เพิ่มความรู้ใหม่เพื่อทำให้เราเห็นทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อจะให้สอดรับกับการไปสู่สังคมสูงวัยสุดยอด
จากสถานการณ์ตอนนี้ แม้อาจกำลังอยู่ในยุคแห่งวิกฤตผู้สูงวัย และผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักถึงความสำคัญอย่างจริงจัง และพยายามผสานความร่วมมือกัน โดยทีมพัฒนาระบบชีวาภิบาลได้มีข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อพัฒนาระบบชีวาภิบาล ดังนี้
- เพิ่มโครงสร้างอัตรากำลังคนทั้งในระดับชาติและโรงพยาบาลเพิ่มการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั้งในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ ต้องมีทีม Palliative Care ให้บริการอย่างเพียงพอ และควรจัดตั้งหอผู้ป่วย Palliative Care
- โรงพยาบาลควรมีบริการการวางแผนดูแลล่วงหน้า (AdvanceCarePlanning: ACP) หรือที่เรียกว่าคลินิก ACP ควรมีการฝึกอบรมเรื่อง ACP แก่คนในชุมชน ใช้ระบบ E-Living Will เพื่อรองรับการส่งต่อข้อมูล ACP ระหว่างโรงพยาบาล บ้านและชุมชน และสามารถใช้แนวทางและเครื่องมืออื่น ๆ จาก สช. ร่วมด้วย
- ควรทำให้กิจกรรม ACP เป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกัน โรค (P&P) ของกองทุน สปสช.
- ควรมีการจัดสื่อวิดีโอและคู่มือเพื่อใช้ในการอบรมความรู้พื้นฐานด้าน Palliative Care, ACP และ Community-BasedPalliative Care แก่บุคคลากรสุขภาพและชุมชนให้ได้เรียนเพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานร่วมกัน (อาจจัดทำโดยหน่วยงานกลาง)
- พัฒนากระบวนการที่เชื่อมโยงคนทำงาน ทรัพยากร เพื่อพัฒนาระบบการดูแล ส่งต่อ ประสานงานระหว่างองค์กรต่าง ๆ (ได้แก่ สธ. มท. พม. สปสช. และท้องถิ่น) ตามบริบทท้องถิ่น เพื่อลดช่องว่างระหว่างโรงพยาบาล และชุมชน โดย คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด (พชจ.) และระดับอำเภอ (พชอ.) ควรเร่งดำเนินงาน
- กรมอนามัยควรจัดอบรม พัฒนาหลักสูตรหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างผู้ดูแล เพื่อให้มีการแบ่งปันแนวคิด เทคนิค หรือสื่อการสอนแก่กัน
- ควรจัดให้มีการอบรมด้านการดูแลแบบประคับประคองในระยะสั้นเพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ Care manager, Care giver และบุคลากรสุขภาพปฐมภูมิ
- ควรพัฒนาโมเดลการดูแลผู้ป่วยระยะยาว-ระยะท้ายในกรุงเทพมหานคร โดยเน้นการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นหน่วยปฐมภูมิในการดูแลประคับประคอง และควรพัฒนาหน่วยเยี่ยมบ้านเพื่อการจัดการอาการปวดและอาการรบกวนที่ใช้มอร์ฟีนได้ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ จนถึงการประสานเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชนให้เอื้อต่อการตายดีที่บ้าน
- สช. และหน่วยงานนโยบายระดับชาติ ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตาม ประเมิน และปรับปรุงนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยต้องประกอบด้วยเครือข่ายคนทำงาน และผู้รับผลกระทบจากนโยบาย เช่น ผู้ป่วย ผู้ดูแล และตัวแทนกลุ่มเปราะบางร่วมด้วย
- ควรมีการจัดเวทีสำหรับเครือข่ายคนทำงาน เพื่อเชื่อมโยงและเรียนรู้การทำงานจากภาคส่วนอื่นสม่ำเสมอ และควรมีโปรแกรมพัฒนาผู้นำด้านการดูแลแบบประคับประคองด้วย