หลายองค์กร ร่วมค้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หยุดความเสี่ยงต่อเด็ก-เยาวชน

ห่วงสถิตินักสูบ วัยรุ่น-ผู้หญิงพุ่ง ขณะที่สัดส่วนผู้ใหญ่ ติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ติดกับดักกลยุทธ์การค้า ออกอุบายอ้างอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 

วันนี้ (31 ก.ค. 67) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.), มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วน 1600), สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, สภาองค์กรของผู้บริโภค, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 5 เรื่อง บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย “อย่าปล่อยให้ ฆาตกรลอยนวล” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน เสนอทางออกทั้งในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บอกว่า ต้องการให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน ได้คิดและหาทางออกเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า และสื่อสารต่อสังคมให้เกิดการรับรู้ และเท่าทันปัญหา ผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งมาตรการรับมือการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า หวังให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหา และเห็นทางเลือกสำหรับนโยบายที่เหมาะสมกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า และสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

เปิดนโยบายปราบปราม บทบาทกระทรวงสาธารณสุข

นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ที่ดูแลในเรื่องสุขภาพประชาชน ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอย่างบูรณาการ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีนโยบายให้ทาง บอร์ด สสส. ตั้งคณะติดตามป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ทัพ และเหตุผลที่การปราบปรามต้องทำงานอย่างบูรณาการหลายหน่วย เนื่องจาก “กฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ยังไม่มี” และกฎหมายที่ปัจจุบันยังแยกส่วนกัน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการคลัง, ฝ่ายปกครอง เป็นต้น

“แน่นอนว่า เรื่องอะไรที่เป็นพิษภัยต่อสังคมต่อเยาวชนของเรา เป็นสิ่งที่ผมว่าจุดประสงค์เดียวกันไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ตาม จนถึงผู้บริหาร สสส. หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระทรวง ผมเชื่อ 100 % ว่าไม่มีใครสนับสนุนให้เกิดการยอมรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะพิษภัยที่เกิดขึ้นมันตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาภัยสังคม ตลอดจนการการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยาเสพติดในประเทศอื่นต่อไป”

นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า จากการที่ทีมงานได้ลงพื้นที่ไปติดตามประเด็นนี้พบภาพที่ไม่น่ายินดี คือ มีเยาวชนอายุไม่น่าจะเกิน 12 ปี ยืนอยู่หน้าร้านค้าแห่งหนึ่ง รวมตัวกันเป็นกลุ่มหลังเลิกเรียน เพื่อรอให้ร้านเปิดแล้ว เดินเข้าไปซื้อขณะที่ยังชุดนักเรียน ชุดลูกเสืออยู่

“ทั้งที่ชุดลูกเสือต้องเป็นชุดที่ช่วยสังคม แต่วันนี้ลูกเสือมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นภาพที่ผมรับไม่ได้ แล้วถ้าวันหนึ่งมันกลับมาเป็นลูกหลานเรา หรือเป็นคนใกล้ชิด เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ เรื่องของความรู้สึกในเรื่องนี้ผมคิดว่าผมต้องจริงจัง ผมไม่สนว่าจะเป็นผลประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นต่อผู้ค้า เป็นผลประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ ต้องเรียกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้ามาก เพราะหากไม่มีการเลือกรับผลประโยชน์ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือนักการเมืองก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ผมไม่มีวันที่จะยอมให้ผ่านไปได้”

นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์

กลยุทธ์-การตลาด ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เจาะกลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชน

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย บอกว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และในช่วงเวลา 5-6 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความกรุณาจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สคบ. ในการร่วมผนึกกำลังเข้าไปช่วยเหลือในการปราบปราม และสิ่งที่พูดอยู่เสมอมา คือ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดี เด็กกลุ่มเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง การศึกษาสูงหรือไม่สูง เด็กเรียนดีหรือเรียนไม่ดี รวยหรือจน บุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยเลือก ซึ่งจะต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เรื่องของบุหรี่มวนจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กหลังห้อง เด็กที่มีปัญหาจากครอบครัว แต่บุหรี่ไฟฟ้าระบาดไปถึงเด็กทุกกลุ่ม อาจจะด้วยหน้าตา รูปลักษณ์ กลิ่น สี ที่ดูเป็นมิตรกับวัยรุ่นมากขึ้น แม้กระทั่งนักศึกษาแพทย์บางส่วนก็สูบบุหรี่ไฟฟ้า และจากข้อมูลที่ สสส. และ ศจย. ทำการศึกษาร่วมกันก็จะเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เลือกแล้วว่าจะเป็นเด็กดีหรือไม่ดี

“จากการลงพื้นที่ร่วมปราบปรามกับหน่วยงาน พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีแค่มิติของการสูบ แต่ร้านที่ขายบุหรี่ไฟฟ้า ที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษา เจ้าของร้านส่วนใหญ่จะจ้างวาน ให้เด็กเป็นผู้นำไปขาย เป็นผู้ให้บริการอยู่ในร้าน เพราะมีความเข้าใจว่าเด็กโดนจับคงไม่ไม่เป็นอะไร แต่เจ้าของร้านจะโดนจับไม่ได้ มีการจ่ายค่าจ้างวันละ 400 บาท จากการลงพื้นที่ทะลาย 5 ร้าน พบเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 4 ร้าน ได้ค่าจ้างวันละ 400-600 บาท”

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ

พชรพรรษ์ บอกอีกว่า Generation ของบุหรี่ไฟฟ้า ที่วิวัฒนาการมาถึง รุ่นที่ 5 คือ Toy Pod เป็นลักษณะเหมือนตุ๊กตา แต่รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็นรุ่นที่ 4 คือ Pod แต่ความน่ากลัวของ Toy Pod คือเมื่อวางรวมกับอุปกรณ์การเรียน แทบจะไม่สามารถดูได้เลยว่าอันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่หัวบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในในรูปแบบที่คล้ายกับผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นลูกอม กล่องนม จะเห็นกลยุทธ์หรือแนวโน้มที่พยายามจะขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็ก ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เด็กเล็กใช้หรือเด็กวัยรุ่นใช้ และการที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปอยู่ในกระเป๋าของลูกหลาน ทำให้ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อน พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าไม่ใช่กล่องนมหรือขนมแต่เป็นบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสถานการณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก 13-15 ปี พบว่าปี 2558 เด็กไทยสูบบุหรี่อยู่ที่ 3.3 % แต่ในปี 2565 กระโดดขึ้นมาเป็น 15.6 % และเกือบ 1 ใน 5 ของเด็กชั้นมัธยมต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ผู้สูบที่เป็นเด็กผู้หญิงก็เพิ่มขึ้น จาก 1.9 % ในปี 2558 เพิ่มเป็น 15% ในปี 2565 ซึ่งหากเป็นบุหรี่มวนจะหายากมากที่เด็กผู้หญิงจะสูบ แต่ บุหรี่ไฟฟ้าวัยรุ่นหญิงเด็กผู้หญิงสูบจำนวนมาก

กฎหมาย–มาตรการ กำกับในไทย

ขณะที่ ภูมินทร์ เล็กมณี ผู้อำนวยการฝ่ายเฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าและบริการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า จากคำสั่งแรกในเรื่องนี้โดย สคบ. คือ คำสั่งที่ 9/2558 ขณะนั้นมีสินค้าหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีกลิ่นรสผลไม้ เมื่อมีสินค้าที่เกิดอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สคบ.ต้องดำเนินการตรวจสอบ โดยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่ จึงได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตรวจสอบ มีการสอบถามกับกระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าสินค้านี้ มีสารนิโคติน, โพรพิลีนไกลคอล, เมนทอล, โลหะหนัก ตะกั่ว, ปรอท, มีผลก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง จึงได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการออกคำสั่ง “ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” โดยหากเป็นสินค้าทั่วไป จะเป็นการห้ามขายชั่วคราว แต่เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าอันตรายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ บุหรี่ไฟฟ้าจึงกลายเป็น “สินค้าห้ามขายโดยถาวร” หากพบมีการขายมีความผิดกฎหมาย ซึ่งการห้ามนี้รวมถึงน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ และน้ำยาบารากู่ แต่ในเวลาต่อมาคำสั่งเดิมล้าสมัย เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจหัวใส แยกอุปกรณ์เป็นชิ้น ๆ ออกจากกัน เมื่อไปจับทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคได้

ปัจจุบัน สคบ. จึงตั้ง คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562 คณะกรรมการชุดนี้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบุหรี่ไฟฟ้า จึงเกิดเป็น คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 24/2567 เรื่องห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขายหรือให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 67 เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมมากขึ้น ใครผลิตเพื่อจำหน่าย หรือส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้คำนิยามของบุหรี่ไฟฟ้าให้รวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นส่วนควบนำมาประกอบบุหรี่ไฟฟ้า 

“โทษของการไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้จำหน่าย ซึ่งจริง ๆ แล้วมีโทษที่หนักกว่านี้ ในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ก็จะมีโทษสูงขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 800,000 บาท แต่หากทำให้เกิดอันตรายสาหัสจะเพิ่มโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท แต่หากเสียชีวิตจะมีโทษเพิ่มขึ้นอีก จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 2,000,000 บาท นอกจากกฎหมายของ สคบ. ยังมีกฎหมายเรื่องของการนำเข้า โดยกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของการครอบครอง นำเข้าอีกด้วย”

ภูมินทร์ เล็กมณี

ภูมินทร์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ สคบ. ยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 20 คน เพื่อลงพื้นที่ในการตรวจสอบ และทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นในหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจสอบพื้นที่ร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้สถานศึกษา ซึ่งจากการตรวจสอบพบจำนวนมาก โดยสถิติการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า จากการลงพื้นที่ในปี 2567 พบ ของกลาง 138,478 ชิ้น จากการลงพื้นที่ 18 ครั้ง ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ 

“ต้องขอกล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเจาะลึกเข้าไปไปถึงกลุ่มเยาวชน ผมสอบถามลูกสาวว่าในห้องเรียนมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ากี่คน ลูกสาวบอกว่ามีคนสูบประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งในห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียนอยู่ประมาณ 60 คน และในกลุ่มวัยรุ่นหญิงเค้ามีค่านิยมกันว่า หากใครไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะไม่ได้รับการยอมรับในการเข้ากลุ่ม

ภูมินทร์ เล็กมณี

ในวันเดียวกันนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมด้วย สสส., ศจย., คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกันแถลงข่าว “ปลอดภัยจากควันพิษ : ร่วมรณรงค์ ขจัดบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมสุขภาพ”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. บอกว่า บุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพสูง เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็ง มากที่สุดถึง 26.1% เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และมะเร็งปอด 25 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า กำลังเป็นกระแสนิยมในเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 78,742 คน ในปี 2564 เป็น 709,677 คน ในปี 2565 เนื่องจากธุรกิจยาสูบปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นเด็ก เยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น และพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติและเรื่องธรรมดา

ทั้งนี้หลายภาคส่วนได้ร่วมขับเคลื่อนการป้องกันและลดการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยแผนควบคุมยาสูบ ปี 2558 มีจุดเน้นที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565 – 2570) คือ

  1. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบที่หลากหลาย สื่อสารเชิงรุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบ

  2. หนุนเสริมการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของทุกหน่วยงานให้เข้มแข็งขึ้นทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า-ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และห้ามสูบในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด

  3. พัฒนาศักยภาพและขยายเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ

  4. สนับสนุนระบบหรือกลไกการสร้างเสริมสุขภาพ การให้บริการบำบัดการเสพติดนิโคตินในหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ การควบคุมยาสูบให้สำเร็จต้องขยายแนวร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม

ขณะที่ วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการ ศจย. บอกว่า ในอดีตเคยมีคดีฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัทบุหรี่โกหกสาธารณะในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอำนาจการเสพติด การควบคุมระดับสารของนิโคตินได้ ผลกระทบต่อสุขภาพ การทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชน การกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของบุหรี่ เช่น คำว่า LIGHT หรือ MILD ทำให้บริษัทบุหรี่แพ้คดี และต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล

เช่นเดียวกับปัจจุบันที่มีการฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ที่ทำการตลาดกับเด็กและเยาวชน นำไปสู่การจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยเริ่มได้รับการคุกคามจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย แต่กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่แตกต่างกับบริษัทบุหรี่เดิม ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่งมีมาไม่นาน เมื่อเทียบกับบุหรี่มวนที่กว่าจะรู้ว่าอันตรายก็ใช้เวลานานแล้วจะมั่นใจได้ว่าอย่างไรว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับบุหรี่ไฟฟ้าดีที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active