“ตัดไฟต้นลม” ชวนชุมชนสอดส่อง แจ้งเบาะแส สกัดพฤติกรรมเสี่ยงก่อเหตุรุนแรง

กรมสุขภาพจิต แนะ ชุมชนมีส่วนร่วม เฝ้าระวังคนมีพฤติกรรมเสี่ยงใช้ความรุนแรง ชี้มีกฎหมายรองรับ เปิดทางเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ ก่อนนำตัวบำบัด

วันนี้ (21 ก.ค. 67) จากกรณี บุญมา หรือ เฮียตุ้ง ทะเลาะกับคนภายในบ้าน จากนั้นก่อเหตุยิง พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม เสียชีวิต และ ด.ต.ไชยวัฒน์ อัตโสภณวัฒนา ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.ท่าข้าม ได้รับบาดเจ็บ ระหว่างเข้าระงับเหตุ ที่บริเวณบ้านพัก ย่านพระราม 2 ก่อนที่ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตในเวลาต่อมา เบื้องต้นมีรายงานข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุมีประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เคยทำร้ายภรรยาเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท่าข้าม เคยเข้าระงับเหตุมาแล้ว

รวมทั้งกรณี เอก สายเต๊าะ หรือ เอกรัฐ ขุนพรม ที่ก่อความเดือดร้อนให้คนในหมู่บ้านย่านดอนเมือง ซึ่งล่าสุด พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ส่งตำรวจไปควบคุมตัว และนำไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดา พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากมีประวัติ การกระทำความผิด

แม้ว่าทั้ง 2 กรณี จะยังไม่มีความชัดเจน ว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหรือไม่ และแน่นอนว่าปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายชุมชน The Active พูดคุยกับ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางรับมือ แก้ปัญหา ผู้ก่อความเดือดร้อนรำคาญในชุมชน รวมทั้งการเฝ้าระวังรับมือ ผู้ป่วยจิตเวชที่อาจก่อความรุนแรงในชุมชนได้ 

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

นพ.วรตม์ บอกว่า โดยปกติการก่อความวุ่นวาย ความรำคาญในชุมชน มักจะเริ่มจากการพูดคุยเจรจากันก่อน แต่ในกรณีที่รู้สึกว่าการพูดคุยเจรจานั้นไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่แนะนำให้เข้าไปเจรจาถ้ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีบทบาทในการเข้าไปไปช่วยเหลือในการเจรจาพูดคุย เพื่อให้ลดความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การใช้เสียงดัง ก็ให้เน้นการโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตักเตือน

พ.ร.บ.สุขภาพจิต กำหนดให้บุคคลที่มีภาวะอันตรายต้องบำบัดรักษา

หากกรณีที่ผู้ก่อเหตุอาจใช้ความรุนแรง หรือ สงสัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มีภาวะรุนแรงนั้น นพ.วรตม์ บอกว่า ผู้มีภาวะอันตราย ดูแล้วมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ตาม มาตรา 22 ระบุว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา และมาตรา 23 ระบุให้ถ้าใครพบเห็นบุคคลที่มีภาวะอันตราย ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เลย เนื่องจากในมาตรา 24 ระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองที่ได้รับแจ้ง นำตัวบุคคลนั้น เข้าสู่การบำบัดในสถานพยาบาลได้เลย โดยไม่รอช้า เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และประเมินเบื้องต้น 

“ถ้ามีประวัติก่อความรุนแรง มีประวัติการใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะ เช่น บางคนเอาปืนมายิงบริเวณหมู่บ้าน ชุมชน กรณีแบบนี้เราสามารถแจ้งตำรวจได้เลยนะครับ คือ ไม่จำเป็นต้องรอว่ามีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก่อน เพราะมีกฎหมายที่รองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีปัญหาทางด้านจิตเวช หรือดูสงสัยว่ามีเรื่องยาเสพติดเกี่ยวข้องด้วย มันมีกฎหมายรองรับเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการปัญหานี้อยู่แล้ว อย่ารอให้มีใครเสียชีวิต เรื่องนี้ชุมชนต้องช่วยกัน”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

บทบาทชุมชน ร่วมสอดส่อง เฝ้าระวังเหตุรุนแรง  

โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกด้วยว่า กรณีการใช้ความรุนแรงในชุมชนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเชื่อว่ามีคนไข้อีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา หรือ บางคนที่เข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ทำให้อาจจะขาดการรักษา ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชุมชนจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะไม่สามารถนำผู้ป่วยจิตเวชทุกคนไปอยู่โรงพยาบาล และอยู่ตลอดไปคงเป็นไปไม่ได้ ทำให้ทุกคนเมื่อรักษาแล้วต้องกลับไปอยู่ในชุมชน ชุมชนต้องเข้ามามีบทบาท เมื่อเห็นว่าบุคคลมีอาการเยอะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้เขาได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น

“ต้องยอมรับว่าคนจำนวนหนึ่ง มองว่า ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เป็นปัญหาของคนอื่น ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้อง สุดท้ายเมื่ออาการเขารุนแรงขึ้น วันหนึ่งเราอาจกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชนได้ และต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำเพื่อปกป้องประชาชน”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

นพ.วรตม์ ย้ำว่า ในบางกรณีอาจไม่สามารถรอให้เจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายปกป้องประชาชนเพียงอย่างเดียว เพราะว่าเรื่องนี้หากจัดการตั้งแต่เริ่มต้น ความรุนแรงจะไม่ขยายตัวใหญ่ ต้องขอความร่วมมือจากคนในชุมชน หากพบเห็นใครที่มีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง ประกอบกับบุคคลนั้นมีอาวุธ มาก่อความรำราญ มาทำให้ผู้คนหวาดระแวง ก็มีมาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้

เช็กอาการทางจิต ที่ต้องรับการรักษา

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ระบุถึงลักษณะอาการ พฤติกรรมอาการทางจิต ที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ได้แก่ คิดหวาดระแวง หูแว่ว พูดคนเดียว เห็นภาพหลอน หงุดหงิดก้าวร้าว ไม่หลับไม่นอน เดินไม่หยุด แยกตัวออกจากสังคม อยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น พฤติกรรมไม่เหมือนเดิม คิดว่าตนเองเหนือมนุษย์ 

แนะนำญาติ หรือ ผู้ใกล้ชิด คอยสังเกตอาการ รับฟังให้กำลังใจ ไม่กระตุ้นอารมณ์ และพามาพบแพทย์ตามนัด หรือช่วงที่มีอาการกำเริบ ขณะที่ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามใช้สารเสพติด กินยาต่อเนื่องและ ปราศจากอาวุธ

กรณีที่เห็นแล้วว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หรือ คนรอบข้าง ให้แจ้งขอความช่วยเหลื่อได้ที่ โทร. 191 ตำรวจ หรือ แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ อบต./เทศบาล, กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน, มูลนิธิ/กู้ชีพ/กู้ภัย หรือ เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active