ถกบทบาท ‘ชุมชน’ ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู ‘ผู้ป่วยจิตเวช’

ถอดบทเรียน ‘เทศบาลตำบลวังผาง จ.ลำพูน’ วางระบบดักจับสัญญาณเสี่ยง ลดอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ ขณะที่ อบต.ดอนแก้ว เชียงใหม่ บุกประเมินสุขภาพจิตในโรงเรียน ทำความเข้าใจผู้ปกครอง ลดปัจจัยเสี่ยง 

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 สสส. จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2567 วาระ : ชุมชนท้องถิ่น ร่วมแก้ไขปัญหาประเทศ โดยห้องย่อยที่ 2 “ชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมสุขภาพจิต และดูแลผู้ป่วยจิตเวช” 

สืบศักดิ์ สุภิมาส นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ระบุว่า สถานการณ์ในชุมชนมีอัตราความพยายามฆ่าตัวตายสูงอันดับต้นของประเทศ พบว่า คนในชุมชนมีปัญหาสุขภาพจิตมาจากปัญหาในชีวิตประจำวัน ทั้ง ปัญหาหนี้สิน, ปัญหาครอบครัว และปัญหายาเสพติด ทำให้ต้องจัดทำแผนในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เพื่อเข้าสู่การรักษา ผ่านการสร้างระบบในชุมชนโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเพื่อนบ้านจับสัญญาณความเสี่ยงของผู้ที่จะพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบ “คนบ้านเดียวกันต้องดูแลซึ่งกันและกัน” 

สืบศักดิ์ ยังให้ข้อมูลอีกว่า กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชใน ต.วังผาง ล่าสุดมีประมาณ 170 คน จากประชากรทั้งหมด 7,500 คน เป็นกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชซึมเศร้ามากที่สุด ซึ่งตอนนี้ลดลง คิดเป็นมีความเสี่ยง 5 คนต่อแสนประชากร รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการดูแลต่างกัน 

สืบศักดิ์ สุภิมาส นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

ทั้งนี้หลังพบผู้ป่วยในชุมชน จะส่งต่อเข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาลเวียงหนองล่อง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน โดยมีพยาบาลจากกลุ่มงานจิตเวช และยาเสพติด ร่วมมือกันดูแล ทั้งนี้ชุมชนพยายามทลายข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ โดยใช้จากกองทุนบัตรทองระดับท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ดำเนินการการคัดกรอง และฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

ขณะที่รัฐก็มีนโยบายสุขภาพจิต อย่างชุมชน CBTx แต่ไม่ได้ให้งบฯ ลงมาโดยตรง ซึ่งเทศบาล ก็พยายามบริหารจัดสรรงบประมาณมาเพื่องานนี้ เพราะมองว่าเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน

ศุทธา แพรสี ผอ.โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกว่า การคัดกรองค้นหาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน คือหัวใจหลักของการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพราะเป็นด่านแรกที่สามารถหากลุ่มเสี่ยงคัดกรองเข้าสู่การรักษาได้ทันที โดยพบ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กวัยเรียน มีการคัดกรองในโรงเรียน บางรายมีปัญหาพัฒนาการ แต่มีอุปสรรค จากยอมรับของผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าเด็กมีอาการป่วย ขณะที่อีกกลุ่ม เหมือนคนปกติ แต่มีภาวะซ่อนเร้นอาจจะดูไม่ออกนับเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนอีกกลุ่มคือ ป่วยแล้ว มีอาการจิตเวช บางรายป่วยซ้ำซ้อนทั้งโรคเรื้อรัง และโรคจิตเวชพร้อม ๆ กัน บทบาทของ รพ.ตำบล คือเป็นหน่วยปฐมภูมิ ทำหน้าที่คัดกรอง ส่งต่อรักษา และรับกลับมาฟื้นฟูในดูชุมชน 

ศุทธา แพรสี ผอ.โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว ถ่ายโอนมาอยู่กับ อบต. นานแล้ว มีข้อดีในแง่อิสระการทำงาน แต่อาจปัญหาการส่งต่อ ซึ่งอยากจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยที่ไม่ต้องผ่านโรงพยาบาลอำเภอ 

รศ.เดชา คำดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานด้านการสนับสนุนองค์ความรู้ และออกแบบระบบส่งเสริมสุขภาพจิตและการดูแลผู้ป่วยจิตเวช กล่าวว่า ภาควิชาการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ อสม. ให้เชี่ยวชาญด้านงานสุขภาพจิต เกิดเป็น คณะทำงานสร้างสุข ผู้ป่วยเปิดตัวยอมรับความจริง พร้อมที่จะเข้ารับการรักษา ขยายผลไปสู่กลุ่มผู้สูงอายุ และโรงเรียนในระดับประถมศึกษา สร้างระบบคัดกรองป้องกัน งานสุขภาพจิตชุมชนต้องมี อปท. เป็นแกนกลางการทำงานในระดับพื้นที่ 

รศ.เดชา คำดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะที่ ณภัทร วรากรอมรเดช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ย้ำว่า กรณีพบผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่เสี่ยงจะก่อเกิดความรุนแรงและอันตรายต่อชุมชน กรณีนี้ตำรวจจะนำตัวมาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อเข้าสู่การรักษา ซึ่งกลุ่มนี้นับเป็นผู้ป่วยสีส้มถึงสีแดง

หากนำผู้ป่วยทุกคนเข้าสู่การรักษาในระบบอย่างเดียวโรงพยาบาลอาจไม่มีเตียงเพียงพอรองรับ ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียวสีเหลือง ชุมชนสามารถดูแลผู้ป่วยได้ โดยทำหน้าที่ในการคัดกรองและส่งเข้าสู่การรักษาในระบบ และจากในระบบส่งกลับไปรักษาในชุมชนซึ่งส่วนนี้โรงพยาบาลก็มีบทบาท ในการให้ความรู้และเตรียมชุมชนให้พร้อมเพื่อที่จะรองรับผู้ป่วย จึงต้องมีทีมออกตรวจเยี่ยม ลงพื้นที่ติดตามอาการ ไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา เพื่อให้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ภาระงานในกลุ่มของพยาบาลจิตเวช ก็มีเยอะมาก แต่โชคดีที่มีชุมชนเข้ามาค่อยให้ทำให้การช่วยเหลือสนับสนุน 

ณภัทร วรากรอมรเดช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

ในเวทียังมีข้อเสนอสำคัญ ดังนี้  

  1. ควรมีระบบการส่งต่อจากชุมชนไปโรงพยาบาล ที่ชัดเจน รวดเร็ว 

  2. ควรบูรณาการทำงานร่วมกันในกรณีผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน เสี่ยงที่จะก่อความรุนแรง อันตราย 

  3. มีนักจิตวิทยา ประจำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ รพ.สพ. เพื่อทำงานส่งเสริมป้องกันในระดับต้นน้ำ 

  4. พัฒนาชุดความรู้ ถ่ายทอดสู่ชุมชน, ผู้นำ, อสม., ชรบ., ตำรวจ และกู้ภัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active