ตั้งเป้าผลิตพยาบาลจิตเวช เพิ่ม 1,500 คน ภายในปี 2570

‘กรมสุขภาพจิต’ ยอมรับ บุคคลากรขาดแคลน สวนทางคนป่วยเพิ่มขึ้น ปีก่อนพบกว่า 2.9 ล้านคน เดินหน้าฝึกอบรมหลักสูตร การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก ดูแลผู้ผู้ติดสารเสพติด เสี่ยงก่อความรุนแรง 

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 กรมสุขภาพจิต ฝึกอบรมหลักสูตร “การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก” รุ่นที่ 16 พร้อมสนับสนุนสมทบ จำนวน 80 ทุน โดยดำเนินการตามนโยบายปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาแพทย์ และบุคลากรสุขภาพจิต และจิตเวชยาเสพติด 

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูล เรื่องภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ประกอบด้วย

ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน 

องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความบกพร่องทางใจของผู้ป่วย 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด และผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น โดยพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 

จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับอัตรากำลังของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของประเทศยังมีความขาดแคลนไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเรามีจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร เพียง 822 คน จำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไปจำนวน 632 คน คิดเป็น 76.9% และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจำนวน 190 คน คิดเป็น 23.1% อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ = 1.25 คน ต่อ 100,000 ประชากร 

ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 65 เห็นชอบในหลักการให้มีการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2570) โดยต้องผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 150 คน ผลิตพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มอีก 1,500 คนนักจิตวิทยาคลินิกเพิ่มอีก 400 คน นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอีก 250 คน เภสัชเฉพาะทางอีก 150 คน การแก้ไขประเด็นดังกล่าว 

กรมสุขภาพจิต ได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ 

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักจิตวิทยาคลินิกให้สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานของวิชาชีพที่กำหนดไว้ และสามารถดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดสารเสพติด ผู้มีปัญหาการกระทำความรุนแรง นักจิตวิทยาคลินิกจะต้องมีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติที่เหมาะสม การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ จึงได้พิจารณาทุนสนับสนุนการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 80 ทุน ๆ ละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 800,000.- บาท เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการพัฒนาเตรียมพร้อมการสอบและขึ้นทะเบียน ได้รับใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active