สั่ง ‘ชานมหวานน้อย’ แต่น้ำตาลฉ่ำ! ความหวานยังเกินเกณฑ์

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยผลการทดสอบ ชานมหวานน้อย 15 ตัวอย่าง จาก 15 ยี่ห้อ พบน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ขณะที่ WHO เตือนกินหวานมาก ๆ เสี่ยงป่วย-ตาย โรค NCDs

วันนี้ (2 ก.ค. 67) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยผลการสุ่มตรวจวิเคราะห์ ชานมระดับความหวานน้อย เพื่อทดสอบว่าในระดับหวานน้อยได้ให้ปริมาณน้ำตาลที่ปลอดภัย หรือเป็นโภชนาการที่เหมาะสมกับร่างกายหรือไม่

โดยตรวจน้ำตาล 4 ประเภทคือ Fructoes, Glucose, Sucose, Maltose, Lactose จากชานม 15 ตัวอย่าง (อ่านเพิ่ม : ผลการทดสอบชานม)

โดยพบว่า ชานมไข่มุกในระดับหวานน้อยที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด มีปริมาณน้ำตาล 1.80 กรัมต่อปริมาณ 100 มิลลิลิตร หากดื่มจนหมดแก้วจะได้รับน้ำตาล 10.47 กรัม เทียบได้เป็น 2.6 ช้อนชาโดยประมาณ

ขณะที่ ชานมระดับหวานน้อยที่มีน้ำตาลมากที่สุด มีปริมาณน้ำตาล 5.28 กรัมต่อปริมาณ 100 มิลลิลิตร เมื่อดื่มหมดแก้วร่างกายจะได้รับน้ำตาล 32.16 กรัม เทียบได้เป็นปริมาณน้ำตาล 8 ช้อนชา และจากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง ที่ส่งทดสอบ ค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจะได้รับน้ำตาลเมื่อบริโภคชานมระดับหวานน้อยคือ 4.2 ช้อนชา

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม แต่ในความเป็นจริงนอกจากชานมในแต่ละวัน คนเราต้องกินอาหารประเภทอื่น ๆ ที่มีน้ำตาล อีกด้วย การดื่มชานมไข่มุก ระดับหวานน้อยจึงยังทำให้ร่างกายได้น้ำตาลเกินความต้องการ

ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลลดลงจาก 27 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 23 ช้อนชาต่อวัน แต่การบริโภคน้ำตาลระดับดังกล่าวยังนับเป็นปริมาณที่สูงมาก และไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ราว 400,000 คน ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 77 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ ในปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยสุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกหวานระดับปกติ จำนวน 25 ยี่ห้อ ตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้ว สารกันบูด และโลหะหนักในเม็ดไข่มุก โดยปริมาณน้ำตาลต่อแก้ว พบว่า ตัวอย่างที่ให้น้ำตาลน้อยสุดคือ 4 ช้อนชา ขณะที่ตัวอย่างชานมไข่มุก ที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดมีน้ำตาลมากถึงจำนวน 18.5 ช้อนชา สูงกว่า ที่ WHO แนะนำ

ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า การบริโภคชานมไข่มุก อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การตรวจในปี 2562 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ประชาชนได้รู้ว่าชานมไข่มุกมีน้ำตาลมาก จนทำให้ผู้คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น

“เดี๋ยวนี้เราจึงได้ยินอยู่เสมอว่าคนจะสั่งแบบ หวานน้อย ๆ แต่การทดสอบครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่า ระดับหวานน้อยก็ยังมีน้ำตาลไม่น้อยเลย เป็นระดับน้ำตาลที่ทำให้บริโภคทุกวันไม่ได้ จนถึงถ้าดื่มจนหมดแก้วก็ยังมากเกินไป การทดสอบครั้งนี้ค่าน้ำตาลที่ได้ยังไม่รวมถึงเม็ดไข่มุกที่เราไม่ได้ทดสอบ ประชาชนที่รักสุขภาพ ต้องการลดการบริโภคน้ำตาลลงจริง ๆ จึงอยากให้มองถึงภาพรวมอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวันด้วย”

ทัศนีย์ แน่นอุดร

นิตยสารฉลาดซื้อ จึงมีคำแนะนำในการบริโภค ดังนี้

  1. เลือกดื่มชาไข่มุกหวานน้อย : แม้ชานมไข่มุกในระดับหวานน้อย ร่างกายยังได้รับปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามาตรฐานแต่ยังดีต่อร่างกายมากกว่าการบริโภคชานมแบบหวานปกติ โดยช่วยลดปริมาณน้ำตาลจากชานมได้กว่า 2 ใน 3 ส่วน โดยแรก ๆ อาจจะหวาน 50% แล้วค่อย ๆ ลดให้เหลือ 30% ตามลำดับ

  2. ไซส์เล็กก็พอ : บางร้านยังมีขนาดแก้วให้เลือก ตั้งแต่แก้วไซส์เล็ก ไซส์กลาง ไปจนไซส์ใหญ่

  3. กินชานมไข่มุกแล้วต้องลดอาหารอย่างอื่น : ถ้าวันไหนกินชาไข่มุกแล้ว ก็ควรงดอาหารบางอย่างลง โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล กินข้าวให้น้อยลง เพื่อเซฟตัวเองจากการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ

  4. กินพอหายอยาก : กินชาไข่มุกแค่ครึ่งแก้วพอ แล้วตัดใจทิ้งชาไข่มุกที่เหลือไปอย่างไม่ต้องเสียดาย ท่องไว้ในใจว่ากินชาไข่มุกหมดแก้วเท่ากับกินก๋วยเตี๋ยว 1 ชามเลย

  5. แม้ชานมไขมุกจะให้พลังงานสูงแต่ไม่ควรรับประทานแทนมื้ออาหาร : เพราะจะทำให้ได้สารอาหารไม่ครบ ไม่ได้ให้สารอาหารอื่นๆ ในขณะที่ถ้าเรากินข้าว ก็จะได้แร่ธาตุและวิตามิน

  6. บังคับตัวเองกินแค่ไม่เกินสัปดาห์ละแก้ว : บังคับตัวเองให้กินชาไข่มุก 1 แก้วต่อสัปดาห์ หรือ 2 แก้วต่อเดือน หรือพยายามกินให้น้อยที่สุด นอกจากจะตัดทอนแคลอรี่จากชาไข่มุกไปแล้ว ยังถือเป็นวิธีประหยัดเงินอีกด้วย

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง เพราะน้ำตาลทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรค สำหรับเครื่องดื่มชานมไข่มุกกลับกำลังขยายตัว โดยคาดการว่า ในปี 2568 มูลค่าทางการตลาดของชานมไข่มุกทั่วโลก จะสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 343,751 ล้านบาท ท่ามกลางงานศึกษาวิจัยใหม่ ๆ ที่ได้ค้นพบอันตรายของชานมไข่มุกมากขึ้น

ล่าสุดการศึกษาวิจัยในประเทศจีน และได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Journal of Affective Disorders พบความเชื่อมโยงมีนัยสำคัญระหว่างการบริโภคชานมเป็นประจำ กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเป็นโรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าของเยาวชน คนรุ่นใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active