กทม. ตั้งเป้ารักษาทุกที่ สิ้นปี 67 เล็งสร้าง รพ. เพิ่มรองรับส่งตัวผู้ป่วย

‘รองผู้ว่าฯ ทวิดา’ ชี้ ต้องแยกระดับการรักษา หากเจ็บป่วยเล็กน้อย เข้าหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ หากต้องส่งตัวต่อ ยังต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เตรียมเร่งเชื่อมข้อมูลก่อนสิ้นปี 2567 ทดลองระบบแล้วในโซนกรุงเทพฯ ใต้ 3 โรงพยาบาล 3 สังกัด 

วันนี้ (25 มิ.ย. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่ต้องชะลอไปก่อน เพราะ กทม. มีเรื่องความซับซ้อนของระบบบริการที่มากกว่าที่อื่น ทั้งคลินิกปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และสถานบันที่รักษาโรคซับซ้อนจำนวนมาก ถ้าประกาศรักษาทุกที่เหมือนกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ระบบสุขภาพ กทม. ลวนหมด ทั้งคิวที่ถูกส่งต่อมาจากต่างจังหวัดที่มีมาก อาจทำให้คนไข้เสียประโยชน์ในการรักษา  

ทั้งนี้ ได้ทดลองระบบรักษาทุกที่ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามสังกัดในโซนกรุงเทพฯ ใต้ กับ 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สังกัด กทม., โรงพยาบาลเลิดสิน สังกัด สธ. และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สังกัด โรงเรียนแพทย์ โดยพื้นที่ กทม. จะสามารถรักษาทุกที่ได้ในสิ้นปี 2567 โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

สำหรับการหารือระหว่าง กทม. กับ สปสช. เวลานี้ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถรักษากับ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ได้ทุกที่ แต่ถ้าเป็นโรคซับซ้อน ยังต้องใช้ใบส่งตัว โดยในอนาคตจำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลดอนเมือง, โรงพยาบาลทุ่งครุ และ โรงพยาบาลสายไหม เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วย 

ส่วนข้อเสนอที่ควรให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. (ศบส.) เปิดรับประชาชนในเขต กทม. ที่ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาใบส่งตัวจากคลินิกชุมชนอบอุ่นเฉพาะไปก่อน รองผู้ว่าฯ ทวิดา บอกว่า ภาระงานของศูนย์บริการสาธารณสุขปัจจุบันก็มากอยู่แล้ว และต้องดูว่าหมอหนึ่งคนสามารถดูแลคนได้ถึง 10,000 คนหรือไม่ เพราะหากจำนวนคนไข้ที่ต้องดูแลเยอะเกินไปอาจไม่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพ 

“ทุกวันนี้ ก็ออกคำสั่งให้ ศบส. และ รพ. สังกัด กทม. เปิดคลินิกนอกเวลาเพื่อบริการประชาชนอยู่แล้ว โดยศบส. ก็รับดูแลชาว กทม. สิทธิ์บัตรทองอยู่จำนวน 9 แสนคนส่วนอีก 2 ล้านคนอยู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น” 

รศ.ทวิดา กมลเวชช

กทม. ตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน เจอคนป่วยแล้วส่งไปไหน ? 

เมื่อถามถึงโครงการตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคน ว่า หากพบคนป่วย กทม. จะส่งต่อไปไหน รองผู้ว่าฯ ทวิดา บอกว่า หากประชาชนเข้ามาตรวจสุขภาพในโครงการแล้ว พบการเจ็บป่วยกระทันหัน เช่น ความดันสูงมาก ก็จะรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิทธิ์ไหน ถ้าพบความเสี่ยงที่จะป่วยก็จะประสานหน่วยบริการตามสิทธิ์ ให้คำแนะนำให้ประชาชนนำผลการตรวจสุขภาพไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป 

ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เดือนตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567 มีผู้ตรวจสุขภาพประมาณ ​350,000 คน ปกติ 100,000 คน เสี่ยงป่วย 200,000 คน และป่วย 50,000 คน โดยอาการป่วยที่พบมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โคเลสเตอรอลในเลือดสูง ตามลำดับ ส่วนโรคที่มีความเสี่ยงที่จะป่วย คือ โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะน้ำหนักเกิน, เบาหวาน และหัวใจหลอดเลือด ตามลำดับ 

รศ.ทวิดา ย้ำว่า สถิติของการตรวจสุขภาพยังชี้ให้เห็นว่า คนกรุงมีความเครียดสูงขึ้น และมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 6% และมีอายุน้อยลง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active