กว่า 30 ประเทศ ให้เสียงสนับสนุน ตอกย้ำบทบาทไทยในเวทีสุขภาพระดับโลก พร้อมเรียกร้องประเทศสมาชิก ให้อำนาจทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมตัดสินใจนโยบายด้านสุขภาพ
วันนี้ (1 มิ.ย. 67) ที่ประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 (77th World Health Assembly, WHA) ประกาศรับมติ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being)” ที่เสนอโดยประเทศไทย ณ สํานักงานองค์การสหประชาชาติ (Palais des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
โดยกว่า 30 ประเทศสมาชิกให้ความเห็นสนับสนุน เช่น บราซิล, สโลวีเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศ “SEAR Countries” หรือกลุ่มประเทศเอเชียใต้-ตะวันออก 11 ประเทศ
ทุกส่วนในสังคมต้องร่วมตัดสินใจนโยบายสุขภาพ
โดยมติดังกล่าว มีใจความสำคัญ คือ การเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ดำเนินการให้อำนาจกับทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพในทุกขั้นตอนของนโยบาย ด้วยหลัก 7 ข้อ ได้แก่
- เพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐให้มีการออกแบบและจัดกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีคุณภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเสมอภาค หลากหลาย และครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและคนชายขอบ
- ต้องทำให้การมีส่วนร่วมทางสังคมที่มีส่วนในการตัดสินใจด้านสุขภาพเป็นไปอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน
- ต้องมีการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง โปร่งใส ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายสาธารณะและตัวบทกฎหมาย
- รัฐต้องมีการจัดสรรพยากรอย่างพอเพียงและยั่งยืนเพื่อสนับสนุนให้การมีส่วนร่วมทางสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ต้องมีการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมได้
- ต้องมีการสนับสนุนการทำวิจัย โครงการ หรือโปรแกรมนำร่อง ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมที่ติดตามและประเมินผลได้
บทเรียนการมีส่วนร่วมของสังคม ยกระดับนโยบายสุขภาพ
เกอร์สติน เวสนา เปตริค ผู้อำนวยการสำนักงานร่วมมือองค์การอนามัยโลก กระทรวงสุขภาพสาธารณรัฐสโลวีเนีย หนึ่งในประเทศสมาชิกที่ให้การยอมรับมติดังกล่าวให้ความเห็นว่า ในประเทศของตนก็ใช้วิธีการดังกล่าวเช่นกัน และได้ผลดี เพราะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายที่มาจากเสียงของประชาชนโดยตรง
“ประเทศของเราลงทุนเยอะมากกับการพัฒนาสถานพยาบาลส่งเสริมสุขภาพโดยการใช้วิธีการมีส่วนร่วมของสังคม (Social Participation) เช่น เราพบว่าหลังจากที่คนไข้ออกจากสถานพยาบาลแล้ว เขาสามารถกลับเข้าไปสู่ชุมชนได้ และบางส่วนไปเริ่มทำงานกับภาคประชาสังคม หรือ กลุ่ม NGOs เพราะพวกเขาคือคนที่เคยอยู่อาศัยและทำงานร่วมกับกลุ่มคนเปราะบางด้วยกันทุกวัน ดังนั้น วิธีนี้จะทำให้พวกเขาสร้างเครือข่ายและร่วมกันทำแผนปฏิบัติการที่มาจากความต้องการของพวกเขาจริง ๆ”
“การทำงานกับประเทศไทย จึงเปิดโลกทัศน์ของฉันมาก ฉันพบว่าวิธีนี้มีประโยชน์จริง ๆ เพราะเวลาเรานำคนมานั่งบนโต๊ะเดียวกัน เราไม่ได้แค่แชร์ประสบการณ์และตัดสินในร่วมกัน แต่เรามีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นต่างหาก”
เกอร์สติน เวสนา เปตริค
ตอกย้ำการยอมรับไทยในเวทีสุขภาพระดับโลก
ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้ว่าการมีส่วนร่วมทางสังคมสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ แต่ในทางหลักการ รัฐต้องให้ความสำคัญกับการเข้ามาปกป้องคุ้มครองและสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนที่มีความหมายกว้างไปกว่าการเจ็บป่วยทางการแพทย์เท่านั้น การได้รับการรับรองมติในครั้งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ามาถูกทางแล้ว และยิ่งต้องลงมือทำให้เข้มข้น สม่ำเสมอ และยืนระยะให้ยาวนานมากขึ้นอีก
“เราไม่ได้มองว่า ประชาชนเป็นเพียงผู้ใช้บริการหรือต้องคอยฟังคำสั่งรัฐเท่านั้น แต่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนความเห็น อุปสรรค รวมถึงร่วมออกแบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน สิ่งที่ประเทศไทยทำถือว่าก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบกับระดับนานาชาติ แม้บางหน่วยงานยังไม่มีให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและลงมือทำอย่างจริงจัง หรือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ทุกภาคส่วนก็เห็นด้วยว่าควรลงมือทำ และเมื่อมตินี้ถูกยอมรับในระดับนานาชาติ ยิ่งตอกย้ำว่า ในวันข้างหน้าเรายิ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นในการลงมือทำยิ่งขึ้น”
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
พร้อมทั้งยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่ายหรือเกิดขึ้นได้ทันที แต่จำเป็นต้องหาจุดลงตัวในการทำงานร่วมกัน
“หากต้องการการมีส่วนร่วมก็ต้องมีความอดทน แม้จะเสียเวลา แต่มั่นใจว่าไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า แต่เป็นการลงทุนทางเวลาที่สร้างความเข็มแข็งให้ประชาชน และเมื่อประชาชนมีความเข้มแข็งมากด้านการรับรู้และการป้องกันสุขภาพมากขึ้น เขาก็จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย”
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกอีดว่า จากการที่มตินี้ได้รับการยอมรับแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยกำลังมาถูกทางแล้ว แต่เป็นการส่งผลสะเทือนวงกว้างในระดับนานาชาติด้วย
“การที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เป็นการบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเนื่องจากมตินี้ไม่ใช่กฎหมายข้อบังคับ ทำให้นานาประเทศสามารถหยิบมตินี้ไปปรับใช้ได้เองตามบริบท ความพร้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์
เช่นเดียวกับ บรูซ เอลวาร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า องค์การอนามัยโลก กล่าวถึงการทำงานของประเทศไทยร่วมกับสมัชชาอนามัยโลกที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระดับโลก โดยยอมรับว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและโดดเด่นในเวทีสมัชชาอนามัยโลก (WHA) และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม สนับสนุนสิ่งสำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “การประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไทยได้นำประเด็นสำคัญต่าง ๆ ขึ้นมาพูดคุย หาข้อตกลง และสร้างฉันทามติ นี่คือหนึ่งในบทบาทที่น่าตื่นเต้นมากที่ไทยกำลังทำอยู่ขณะนี้
“มติการมีส่วนร่วมทางสังคมมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างน้อย 15 ปี ตั้งแต่การจัดตั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อน ที่ได้นำประชาชน รัฐบาล และผู้มีอำนาจตัดสินใจมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งสำคัญด้านสุขภาพ รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพที่ประชาชนควรเข้าถึงด้วย ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของตนเอง มีความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมอย่างสูงในด้านนี้ ไทยสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่ยอดเยี่ยม เป็นครู เป็นผู้แบ่งปันที่ดี และช่วยให้เราทุกคนก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”
บรูซ เอลวาร์ด
จึงเป็นที่น่าติดตามว่า หลังจากเวทีระดับโลกอย่างสมัชชาอนามัยโลก ได้รับรองมติการมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Participation) ที่ไทยนำเสนอแล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาปรับใช้อย่างเข้มแข็ง เข้มข้น และต่อเนื่องอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นเพียงแค่กระดาษใบเดียว
ขอบคุณภาพจาก : WHO