ระบบสุขภาพ กทม. ยังติดหล่ม! ชี้ 2 ปี ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ เจอราชการเกียร์ว่าง

‘เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ’ ระบุ ปัญหาใบส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง กทม. ภาพสะท้อนระบบสุขภาพยังไม่เข้มแข็ง ไร้รูปธรรมยกระดับ ‘ศูนย์บริการสาธารณสุข’ เทียบเท่า รพ.อำเภอ แบ่งโซนสุขภาพยังล้มเหลว สร้าง Sandbox ได้แค่แห่งเดียว

ภายหลัง ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงต่อสื่อมวลชนในโอกาสครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดถึงคือ ความสำเร็จของนโยบายด้านสาธารณสุข ด้วยโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ได้ทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ์ ซึ่งจะเปิดไปถึงเดือนกันยายน 2567

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม.

แต่คำถามที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือ ถ้าตรวจแล้วพบว่าป่วย จะส่งไปรักษาที่ไหนต่อ เพราะไม่มีระบบติดตามว่าไปรักษาอย่างไร ขณะที่ผู้ป่วยกทม. บางส่วนยังเผชิญกับปัญหาใบส่งตัว จากคลินิกชุมชนอบอุ่น โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ย้ำถึงความพยายามการพัฒนาระบบสุขภาพให้คนกรุงเข้าถึงง่าย ใกล้บ้าน โดยในปีที่ 2 ของการทำงาน จะยกระดับศุนย์บริการสาธารณสุขให้ทันสมัย และสร้างใหม่อีก 21 แห่ง จากเดิมมีอยู่ 69 แห่ง

เชื่อ ระบบสุขภาพ กทม. เปลี่ยนยาก

สำหรับกรณีดังกล่าว นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้แทนองค์กรเอกชน (สตรี) ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนปลุกกรุงเทพฯ ซึ่งเคยยื่นสมุดปกขาวต่อผู้ว่าฯ กทม. เมื่อครั้งได้รับตำแหน่ง เปิดเผยกับ The Active โดยยอมรับว่า ช่วง 2 ปี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบบสุขภาพ กทม. ยังไม่เข้มแข็ง หลังเจอปัญหาผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กทม. ต้องขอใบส่งตัวไปโรงพยาบาล ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ก็ไม่เปิดรับลงทะเบียนคนไข้สิทธิบัตรทองเพิ่ม

นิมิตร์ บอกด้วยว่า แม้ก่อนหน้านี้จะมีการดำเนินโครงการ Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. ซึ่งต้องชื่นชมในส่วนของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ที่ยกระดับการให้บริการ ทลายกำแพงข้ามสังกัด แต่ก็พัฒนาอยู่เพียงจุดเดียว ซึ่งอยากให้ทั่ว กทม. พัฒนาอย่างโรงพยาบาลราชพิพัฒน์

นิมิตร์ เทียนอุดม

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นการยกระดับ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้เทียบเท่าโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งคนกรุง ยังมีหน่วยบริการประจำตามสิทธิ์ ไม่เพียงพอ เมื่อเกิดปัญหาใบส่งตัว การแบ่งโซนสุขภาพ หรือ health zoning จึงล้มเหลว 

“ระบบสุขภาพ กทม. เป็นงานยาก และผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็มาเจอระบบราชการของ กทม. เมื่อเกียร์ว่างก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ อยู่ 4 ปีก็ยังไม่เปลี่ยน”

นิมิตร์ กล่าว 

แหล่งข่าวจากสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยกับ The Active ถึงเหตุผลว่าทำไมศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จึงไม่ยอมเปิดสิทธิ์รับผู้ป่วยบัตรทอง ที่ต้องการย้ายจากคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยให้เหตุผลว่า

  1. สปสช.ต้องจัดหาโรงพยาบาลส่งต่อรองรับให้ก่อน เพราะโรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีเพียง 11 แห่ง อาจไม่เพียงพอ  

  2. หากประชาชนย้ายสิทธิ์มาจำนวนมาก เกรงว่าจะรับไม่ไหว บุคคลากรไม่เพียงพอรองรับคนไข้จำนวนมาก ๆ ในคราวเดียว 

ขณะที่ นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยระบบสาธารณสุขเขตเมือง สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ระบุว่า ดูข้อมูลเร็ว ๆ ศบส. สังกัด กทม 69 แห่ง มีประชากร รวม 9 แสนคน จากประชากรบัตรทอง กทม 3.5 ล้านคน มีอยู่ 21 แห่งที่ ประชากรต่ำกว่า 10,000 คน ถ้ากำหนดให้ทุกที่รับขั้นต่ำ 10,000 คน จะมีประชากรเพิ่มได้ 70,000 คน

“ถ้าคิดภาพรวม ศบส. 69 แห่ง มีสมมติฐานว่ามีหมอ 2 คนทุกแห่ง (รวม full และ part time) ควรรับประชากรได้ 1.4 ล้านคน ทั้ง กทม. ยังมีเหลือที่เติมประชากร 5 แสนคน ถ้าคิดว่าได้เงิน UC ผู้ป่วยนอกหัวละ 1,000 กว่าบาท หักนู้นนี้ไปเหลือ 500 บาท ก็มีเงินไปเติมให้สำนักอนามัย/ศบส. อีกปีละ 250 ล้านบาท ขณะที่ ศบส. ที่มีประชากรต่ำสุด 1,600 คน ควรเพิ่มให้ขั้นต่ำ 10,000 คน รู้สึกเสียดายภาษี ค่าตึก หมอ พยาบาล รัฐลงทุนไปให้หมดแล้ว”

“ตอนนี้ ศบส. ทุกแห่งปิดรับลงทะเบียนบัตรทอง ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ควรจะไม่ปฏิเสธคนไข้ ถ้าจะช่วยคน กทม. จริง ควรเปิดช่องให้ประชาชนย้ายสิทธิ ถ้าประชาชนพอใจ ศบส. มากกว่าคลินิกก็ให้ย้ายมา ถ้าไม่พอใจ ศบส. จะย้ายไปคลินิกก็ย้ายออกได้” 

นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active