เปรียบบุหรี่ไฟฟ้า เทียบเท่า ‘สึนามิ’ มาไว ทำลายล้างสูง แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องเดินตามกรอบควบคุมยาสูบ WHO เน้นพัฒนาองค์ความรู้ ตระหนักถึงความอันตราย เดินหน้ามาตรการทางกฎหมาย ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า
วันนี้ (13 พ.ค. 2567) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องของการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ทุกคนให้ความสนใจ และให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ห้ามจำหน่าย ห้ามจัดให้บริการ ผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนำเข้า แต่ถ้าใครครอบครองสินค้าที่ห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร จะผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร หากไปสูบในที่สาธารณะ ก็ผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวโดยรวมคือบุหรี่ไฟฟ้ามีกฎหมายบังคับมาร่วม 10 ปี ก็จะเห็นว่าผิดกฎหมายแต่ก็ยังระบาดอย่างต่อเนื่อง
“โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มคนที่สำคัญมาก ขณะที่กลุ่มธุรกิจก็มุ่งตีตลาดกลุ่มนี้ เพราะถือว่ากินยาว ถ้าเจาะกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ อีกเรื่องคือประชากรไทยเกิดน้อยลง คุณภาพของประชากรเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เวทีนี้เปรียบเป็นการรับฟังหลายมุมมอง เพื่อให้เกิดเป็นนโยบาย มาตรการ นำไปสู่การปฏิบัติปกป้องเด็กและเยาวชนไทยต่อไป”
นพ.สุเทพ เพชรมาก
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ คาดหวังให้เกิดการพิจารณาร่างมติที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้ทำการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดกรอบทิศทางนโยบาย เป้าหมาย และแนวทาง เพื่อนำมาสรุปร่วมกันเพื่อเกิดเป็น “ฉันทามติต่อข้อเสนอทางนโยบาย” เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ชัดเจนสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อตามบริบทของแต่ละหน่วยงานและเครือข่ายได้ และเพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งจะประชุมหลังจากนี้ และเมื่อเกิดเป็นมติแล้วจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
“บุหรี่ไฟฟ้ากับเด็กและเยาวชน เปรียบได้กับ สึนามิประเทศไทย ที่มารวดเร็ว มีอำนาจทำลายล้างสูง โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนไทย”
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ บอกว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น มีบัญญัติใน พ.ร.บ.สุขภาพอห่งชาติ พ.ศ. 2550 กระบวนการที่ทำกันคือการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตามกฎหมาย ซึ่งมีเครื่องมีในการพัฒนานโยบายที่หลากหลาย เช่น ธรรมนูญสุขภาพ, สมัชชาสุขภาพ, การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ซึ่งแต่ละเครื่องมือมีความสอดคล้องต่อประเด็นที่ต่างกันออกไป และเป็นการใช้เครื่องมือ สมัชชาสุขภาพ ที่ใช้องค์ความรู้และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ โดยข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดเป็นร่างกรอบทิศทางนโยบายครั้งนี้ผ่านการหารืออย่างรอบคอบ
สำหรับ ร่างกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) มีสาระสำคัญ คือ การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสําคัญ คือ
- มาตรการที่ 1 พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
- มาตรการที่ 2 สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
- มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
- มาตรการที่ 4 พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
- มาตรการที่ 5 ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า
เข้มควบคุมยาสูบ ตามกรอบ WHO
ทั้งนี้ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิก และต้องดําเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีสาระสําคัญตามกรอบทิศทางนโยบาย ดังนี้
- เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องและทันเหตุการณ์ ขอให้หน่วยงานดําเนินการ ให้สถาบันการศึกษาทุกสังกัดทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กําหนดให้เป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เฝ้าระวัง กํากับ ติดตามเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนให้มีการรณรงค์ให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้รู้เท่าทันพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงกลยุทธ์ทางตลาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ รวมทั้งสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย สําหรับความผิดที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมีการรายงานผลการดําเนินงานในสถานศึกษาตามหน่วยงานสังกัด
- สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กําหนดมาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนระเบียบ เพื่อกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มิให้มีการเผยแพร่และนําเสนอประเด็นที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
กรมประชาสัมพันธ์ ดําเนินการผลิต เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชน มีโอกาสรับรู้ เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รวมถึงช่องทางอื่นใดที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์
กระทรวงวัฒนธรรม ดําเนินการจัดทําคู่มือหรือแนวทางในการผลิตสื่อภาพยนตร์วิดีทัศน์หรือสื่อ อื่นใดที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในองค์ประกอบส่วนหนึ่งของฉาก
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมจัดตั้งคณะทํางานเพื่อเฝ้าระวังในสื่อดิจิทัลประเภทอื่น ๆ เพื่อนําไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) เพื่อนําไปสู่การพิจารณากําหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางที่เหมาะสมในอนาคต - สํานักงานตํารวจแห่งชาติ, สคบ., กระทรวงดิจิทัลฯ, กรมศุลกากร และ กระทรวงมหาดไทย บังคับใช้กฎหมายที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาและนํานวัตกรรมรูปแบบใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย กรมศุลกากร และ สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมมือกันให้มีการดําเนินคดีเพื่อจับกุมผู้กระทําผิดรายใหญ่ด้วยการสืบหาต้นตอ และดําเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทําความผิด ซึ่งขยายผลด้วยการใช้กลไกการกระทําความผิดที่เข้าข่ายความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกําหนด กระทรวงดิจิทัลฯ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต สคบ. สํานักนายกรัฐมนตรีและสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ประชุมร่วมกันเพื่อทบทวนนโยบาย ตลอดจนมาตรการทาง กฎหมายและปัญหาการบังคับใช้มาตรการการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะ เพื่อให้การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหรือกลไกในระดับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุน ป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้หน่วยงานดําเนินการดังนี้ กลไกภาคการปกครอง สมาคม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งประเทศไทย และสมาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายสุขภาพ และภาคประชาสังคม มุ่งเน้นและดําเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงร่วมกัน เฝ้าระวังการตลาด การจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงบริการ รักษาพยาบาลการช่วยเลิกบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดจํานวนผู้สูบรายเก่า
- ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
- เพื่อการคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนําเข้าและจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและการป้องกันการแทรกแซงนโยบายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบจากผลประโยชน์ทางการค้าและผลประโยชน์อื่น ๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบ ขอให้รัฐบาลตลอดจนกระบวนการทางนิติบัญญัตินําหลักการ แนวปฏิบัติ (Guideline) และกฎหมาย ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกกําหนดเป็นมาตรการภายในประเทศ เพื่อยกระดับการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีประสิทธิภาพ ขอให้หน่วยงานดําเนินการ
- ให้กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการและมาตรการแนวทางการดําเนินการเพื่อรองรับการดําเนินการตามพิธีสารฉบับนี้ เข้าร่วมภาคยานุวัติพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกเพื่อเป็นการยกระดับความ พร้อมในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมาย
- ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ว่าด้วยการปกป้องนโยบายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ จากผลประโยชน์ทางการค้าและผลประโยชน์อื่นๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาดําเนินการออกกฎหมาย ระเบียบ หรือแนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแทรกแซงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบจากอุตสาหกรรมยาสูบในทุกระดับทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ กระบวนการบริหาร และกระบวนการตุลาการเพื่อให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประสิทธิภาพ