ภาคประชาชน 64 องค์กรฯ เสนอแก้ มาตรา 5 ช่วยบุคคลไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาตินอกประกันสังคม กลุ่มตกหล่นทางทะเบียน ชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง เข้าถึงสิทธิสุขภาพ
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 67 ตัวแทนคณะทำงานศึกษาขับเคลื่อนระบบบริการด้านสุขภาพสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งประกอบด้วย 64 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมเพื่อความเป็นธรรม ได้เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
เสถียร ทันพรม หนึ่งในคณะทำงานจากมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย ระบุถึงต้นตอปัญหาที่เริ่มจากที่หน่วยงานสำคัญอย่างกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า ผู้มีสิทธิรับบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ หมายถึง ประชาชนชาวไทยเท่านั้น จึงส่งผลกระทบทำให้ บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว กลายเป็นคนไร้สิทธิในหลักประกันสุขภาพ ที่ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาต่อแรงงานข้ามชาตินอกประกันสังคม แต่ตีวงวกว้างไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มคนไทยไร้สิทธิ ที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์
“แม้จะมีมติ ครม.ที่พยายามแก้ไข โดยอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่ก็มีเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ไม่ยั่งยืน และยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาตินอกประกันสังคม วันนี้จึงต้องการมายื่นหนังสือเพื่อให้ สปสช.ช่วยผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพของคนไม่มีสัญชาติไทยทั้งหมด ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้ครอบคลุมถึงบุคคลทุกคนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
เสถียร ทันพรม
หากอ้างอิงจาก รายงานสถิติการขึ้นทะเบียนในกองทุนประกันสุขภาพ บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจนถึงปลายปี พ.ศ.2566 พบจำนวน ผู้ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศถึง 724,265 คน และหากนับรวมแรงงานข้ามชาตินอกสิทธิประกันสังคม อาจมีมากกว่า 1.7 ล้านคน และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคณะทำงานศึกษาขับเคลื่อนระบบบริการด้านสุขภาพฯ พบว่า ปัจจัยการพัฒนาสถานะทางกฎหมาย และความไม่แน่นอน ส่งผลให้กองทุนมีความเสี่ยงสูง มีผลต่อระบบบริการ และการเข้าถึงบริการ การให้บริการเป็นไปอย่างล่าช้า และในหลายครั้งสิทธิในการรักษาพยาบาลยังต่ำกว่ามาตรฐานสิทธิประโยชน์ของประเทศโดยรวม
จึงเป็นที่มาของการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อมุ่งเน้นเป้าหมาย ให้คนทุกกลุ่มมีหลักประกันทางสุขภาพและเข้าถึงการดูแลทางสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ โดยมีรายละเอียดสำคัญส่วนหนึ่งในข้อเสนอ ระบุว่า
“บุคคลทุกคน มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจกำหนดให้ บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้ หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับ ให้เป็นไปตามคณะกรรมการประกาศกำหนด สิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในประเทศเข้ารับบริการสาธารณสุข โดยร่วมจ่ายเข้ากองทุน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือ บุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องร่วมจ่ายเข้ากองทุน”
ขณะที่ ตัวแทนจากกลุ่ม Stay in Sampeng Yaowarat ซึ่งเป็นผู้ร่วมยื่นหนังสือ กล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ว่า แม้กฎหมายจะบังคับให้แรงงานฯ และผู้ติดตามต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพ แต่ยังผูกขาดการใช้สิทธิไว้ที่โรงพยาบาล การประชาสัมพันธ์ขายบัตรก็ไปไม่ถึงผู้ใช้บริการ ทำให้แรงงานฯ เข้าไม่ถึงการซื้อบริการสุขภาพ ส่งผลให้อัตราการไปใช้สิทธิของแรงงานที่มีปัญหาสุขภาพไม่สะท้อนความเป็นจริง
“แรงงานข้ามชาติบางส่วนไม่กล้าไปใช้บริการกัน ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหามาตรฐานบริการสาธารณสุขที่ได้รับ สิ่งที่เราเห็นคือช่องว่างนี้สามารถเติมเต็มได้ด้วยหน่วยบริการในพื้นที่ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข หรือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ที่เป็นด่านหน้าและเข้าถึงชุมชน แต่ไม่มีหน้าที่ ไม่มีอำนาจในการทำงานเชิงรุก ทั้งคัดกรอง ส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันโรคให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จำเป็นต้องเลือกทำงานกับแค่คนบางกลุ่ม ส่งผลให้การส่งเสริมป้องกันโรคในพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น”
ตัวแทนกลุ่ม Stay in Sampeng Yaowarat
พร้อมเสนอว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 เพื่อให้บุคคลทุกคน มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน ตามที่ภาคประชาสังคมร่วมกันเสนอวันนี้ อย่างน้อยก็จะช่วยหน่วยบริการปฐมภูมิมีความมั่นใจ และกล้าที่จะทำงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะใช่หน้าที่ของตนหรือไม่
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้จ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมป้องกันโรคมาตลอด ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่สำหรับงบฯ เพื่อการรักษานั้นยังไม่มี อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดในวันนี้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง