จากกรณี ‘แม่น้องการ์ตูน’ สู่การยกระดับเฝ้าระวังผู้ป่วยซึมเศร้า ‘ทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตาย’

โซเซียลแห่ให้กำลังใจ ‘แม่น้องการ์ตูน’ หลังโพสต์ป่วยซึมเศร้าหนัก ถึงขั้นไม่อยากมีชีวิต ขณะที่ ‘โฆษกกรมสุขภาพจิต’ ขอประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา เห็นสัญญาณเสี่ยงรีบแจ้ง 191 ย้ำอย่ามองแค่เรียกร้องความสนใจ เชื่อให้กำลังใจสำคัญกว่า

เมื่อช่วงดึกของคืนวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้คนในโลกออนไลน์ได้รับรู้ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ร้านสเต็กคุณแม่การ์ตูน Mother’s Grill Steak House “ย่างด้วยรัก หมักด้วยใจ”   ที่โพสต์ข้อความ บ่งบอกถึงการตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง นอนไม่หลับ เพราะทุกครั้งที่หลับตา จะมีภาพรถชนลูกกับแฟนเกิดขึ้นเสมอ จนถึงขั้นระบุว่า ไม่พร้อมที่จะอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป

ทำให้ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาทีมข่าว The Active และผู้คนในโลกออนไลน์ พยายามประสาน และติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าช่วยเหลือ แต่เนื่องด้วยเป็นในช่วงยามวิกาล การติดต่อประสานงานจึงเกิดข้อจำกัด แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนในโลกออนไลน์เข้าไปให้กำลังใจแม่น้องการ์ตูนนับพันข้อความ

ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (22 ก.พ. 67) ทางเพจดังกล่าว ได้อัพเดทข้อความ ที่ระบุว่า เพื่อนสนิทของคุณแม่น้องการ์ตูนติดต่อกลับมาแล้ว ตอนนี้อยู่กับคุณแม่ และขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้คุณแม่

กรณีที่เกิดขึ้นซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ รายการตรงประเด็น Thai PBS ถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กำลังส่งสัญญาณว่าจะทำร้ายตัวเอง และคิดฆ่าตัวตาย โดยย้ำว่า ในปัจจุบันกรมสุขภาพจิต และตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับบุคคลต่าง ๆซึ่งมีชื่อเสียงอยู่บนโลกออนไลน์ ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบที่มีชื่อว่า Hope ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการ ทำงานของตำรวจ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้คนตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย

“ถ้าพี่น้องประชาชนพบเห็นสัญญาณของการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย สามารถโทรแจ้งตำรวจที่เบอร์ 191 ได้เลย เพราะจะมีคู่สาย ประสานงานไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือถ้าพบเห็นภาพการเคลื่อนไหวใด ๆ ผ่าน Social Media ที่มีสัญญาณบ่งบอกถึงการฆ่าตัวตายก็สามารถส่งให้ตำรวจ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกรมสุขภาพจิต

สำหรับกรณีแม่น้องการ์ตูนที่โพสต์ข้อความบ่งบอกความเสี่ยงการทำร้ายตัวเอง ในช่วงดึกประมาณตี 2 ซึ่งเป็นยามวิกาล ทำให้การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกิดความล่าช้านั้น โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การบุกเข้าช่วยเหลือทั้งที่ยังไม่มีหมายศาลใด ๆ โดยเฉพาะ ในเคหะสถานส่วนตัว ต้องอาศัยความชัดเจนของสัญญาณการฆ่าตัวตายมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น มีภาพปรากฏชัดเจน หรือมีการ Live ภาพขณะทำร้าย ตัวเอง แต่ในบางกรณีที่มีแค่การโพสต์ข้อความ หรือมีการพูดเป็นนัยว่าจะทำร้ายตัวเอง ก็ต้องพิจารณากันอีกครั้งนึงว่าเหมาะสมแค่ไหน ที่จะทำการบุกพังประตูเข้าไปช่วยเหลือ อย่างในกรณีของแม่น้องการ์ตูน ถึงจะไม่มีการบุกเข้าช่วยเหลือ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คอยเฝ้าระวัง และ ติดตามการเคลื่อนไหวอยู่เป็นช่วง ๆ

นพ.วรตม์ บอกด้วยว่า ความเครียดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางสุขภาพจิต แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยสังคมที่จะมากำหนดให้คนคนหนึ่งอาจจะมีสุขภาพจิตที่ดีหรือสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้ เช่น ปัจจัยสังคมที่เกี่ยวกับ เศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว สภาพแวดล้อมในชุมชน หรือการเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือทางสังคม มีปัจจัยมากมายมหาศาลที่เกี่ยวข้องซึ่งปลายทางจะ ส่งผลมาที่สุขภาพจิต จึงทำให้กรมสุขภาพจิตไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาสนับสนุนเพื่อลดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะบั่นทอนสุขภาพจิตของคนไทย ตรงนี้จะช่วยให้สุขภาพจิตของคน ไทยดีขึ้นด้วย

“พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่เข้าไปช่วยให้กำลังใจ ถือว่าคนไทยกำลังมาถูกทาง เราต้องอย่าตัดสินคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย ว่าพวกเขา เป็นคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการให้กำลังใจ เพราะคนที่โพสต์ข้อความส่วนมากจะไม่ได้ปิดการรับรู้ของตัวเองในทันที แต่พวกเขาจะยังคงอ่านข้อความที่เข้ามา แม้จะผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ตาม คนที่คิดฆ่าตัวตายส่วนมาก เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเยื่อใยต่อโลกใบนี้แล้ว การให้กำลังใจพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขาเห็นว่า เขายังมีความหวังกับโลกใบนี้ ยังมีคนที่คอยห่วงใยพวกเขา และให้กำลังใจพวกเขาอยู่ตลอด การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้การทำร้ายตัวเองอาจจะเบาบางลง หรือไม่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเลยก็ได้”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ศรัญญา ชำนิ แม่น้องการ์ตูน

สำหรับกรณีเรื่องราวของน้องการ์ตูนนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 โดยเกิดอุบัติเหตุรถกระบุพุ่งเข้าชนร้านสเต๊กของ ศรัญญา ชำนิ แม่น้องการ์ตูน จนส่งผลให้พ่อน้องการ์ตูนเสียชีวิตคาที่ ส่วนน้องการ์ตูนแม้จะรอดชีวิต แต่ก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หลังจากนั้น แม่น้องการ์ตูน ก็กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหาเงินดูแลลูกสาวที่ติดเตียงมาโดยตลอด

พร้อมทั้งต้องดูแลพ่อ แม่ ของตัวเธอเองด้วย ภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยเฉพาะการดูแลลูกสาวคนเดียวกลายเป็นเรื่องที่หนักสาหัส

ขณะที่การต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยเสียหายจากคู่กรณี ศาลเคยมีคำตัดสินให้คู่กรณีชดเชยเยียวยากว่า 6.7 ล้านบาท แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้รับ แม่น้องการ์ตูน เคยบอกเอาไว้กับทีมข่าวช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้ ว่า “การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่ได้คือกระดาษแผ่นเดียว ที่ไม่สามารถทำอะไรได้” ส่งผลให้เธอต้องยอมต่อสู้ รับชะตากรรม ทำงานหนักเพื่อหาเงินดูแลน้องการ์ตูน และครอบครัวมาอย่างกว่า 10 ปีเต็ม

     

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active