มองจินตภาพใหม่ ออกแบบนวัตกรรม รับนโยบาย ‘สุขภาพจิต’

วงเสวนา Thailand policy lab โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้ คนไข้จิตเวช เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนในช่วง 6 ปี สวนทางผลิตบุคลากรที่มารองรับไม่ทัน ขณะที่ นักวิชาการนโยบายสาธารณะ ชี้จำเป็นต้องคิดค้นนวัตกรรม “ป้องกันก่อนป่วย” ดึงหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม

วันนี้ (17 ก.พ. 67) วงเสวนา มองอนาคตจินตภาพใหม่ และการพลิกโฉมกระบวนการนโยบายด้วย 8 ขั้นตอนกระบวนการนวัตกรรมนโยบาย จัดโดย Thailand policy lab

ฑิฟฟาณี เชน นักทดสอบนโยบาย Thailand policy lab บอกว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะและทดลองทำให้รูปแบบต่าง ๆ 3 ขาหลัก 1. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างโครงการ 2. การสร้างทักษะด้านการคิดเชิงนวัตกรรมแก่องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะ และ 3. การสร้าง Network หรือเครือข่าย

ฑิฟฟาณี เชน นักทดสอบนโยบาย Thailand policy lab

เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีคนที่เห็นด้วยและพร้อมทำร่วมกัน และสร้างสังคมนวัตกรขึ้นมา ซึ่งการใช้กระบวนการดังกล่าวในการออกแบบนโยบายในขณะนี้ ก็ได้ใช้กับเรื่องนโยบายสุขภาพจิต มีการออกแบบนโยบายโดยกลุ่มเยาวชน และทำการทดสอบนโยบายสุขภาพจิตนี้ ในพื้นที่ sandbox ในกรุงเทพฯ และลำปาง เป็นต้น

นพ.วรตฆ์ โชติพิทยาสุนันท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า 1 ใน 8 ของประชากรทั่วโลกมีปัญหาสุขภาพจิต และ 1 ใน 7 ของเยาวชน ก็มีปัญหาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยประชากร 70 ล้านคน ก็จะมี 9 คน มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ถ้าพิจารณาตัวเลขในระบบปี 2558 มีคนไข้ในกลุ่มจิตเวช จำนวน 1.3 ล้านคน ส่วนปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ในอยู่ที่ 2.3 ล้านคนหรือว่ามีคนไข้เพิ่มขึ้นมา 1 ล้านคนช่วง 6 ปี

นพ.วรตฆ์ โชติพิทยาสุนันท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

ขณะที่การผลิตบุคลากรมารองรับไม่ทัน จากปัญหานี้จึงนำมาสู่การคิดค้นนโยบายสุขภาพจิต โดยอาจจะกลับไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ ป้องกันก่อนป่วย จึงจำเป็นที่จะต้องใช้นวัตกรรมในการออกแบบเช่นกรมสุขภาพจิตมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 10 ปี ว่าสถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แล้วก็ทำแลปสุขภาพจิตออกมา ซึ่งก็พบว่าภาคสาธารณสุขไม่สามารถจะดำเนินการเรื่องสุขภาพจิตไปแบบเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องร่วมกับภาคีเครือข่ายที่อยู่นอกระบบสุขภาพหรือที่เรียกว่า non-health Sector จนนำมาสู่กิจกรรม hackaton นโยบายสุขภาพจิต ซึ่งได้หน่วยงานต่าง ๆ ใน 8 Sector เข้ามาร่วม

“เป็นกิจกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนที่เราเรียกว่า “แฮ็คใจ” โดยให้ความสำคัญ กับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เพราะในระหว่างที่ดำเนินการอย่างน้อยถูกพูดถึงมีคนสนใจ มีภาคีต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำเรื่องสุขภาพจิตมาร่วมกิจกรรม ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

นพ.วรตฆ์ โชติพิทยาสุนันท์
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะที่ ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต บอกว่า การออกแบบนโยบายสุขภาพจิตต้องครอบคลุมทั้งกลุ่มคนที่ป่วยและไม่ป่วย ควรจะมีระบบสุขภาวะทางจิตให้บริการ เช่น การสื่อสารแบบใหม่ การเปลี่ยนนโยบายที่ครอบคลุมไปมากกว่าความเจ็บป่วยหรือว่าการใช้สารเสพติดแต่คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“มีสิ่งที่เรียกว่า ซอมบี้ไอเดีย เป็นแนวคิดที่มักจะกลับมาทุกครั้งเมื่อเจอปัญหา แต่เป็นแนวคิดที่ไม่สามารถนำมาใช้จริงได้หรือใช้หรือไม่ควรจะนำมาใช้เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร กับ โกสท์ไอเดีย เป็นแนวคิดที่ใช้ได้ผลแต่ไม่เคยถูกนำไปใช้ เพราะฉะนั้นการคิดนโยบายสาธารณะที่มีความซับซ้อนและหลากหลายจึงต้องอาศัยความรู้ ที่ไม่ผูกขาดจากคนใดคนหนึ่ง”

ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
บัณฑิต มั่นคง ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

บัณฑิต มั่นคง ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สุขภาวะทางจิตเป็นนโยบายสาธารณะที่ สช. ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีอื่น ๆ มาโดยตลอด ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และเข้าไปร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพในระดับเทศบาลหน่วยงานชุมชน มีการทำธรรมนูญสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดี โดยกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมี 3 ระยะคือ ขาขึ้น, ขาเคลื่อน, และขาประเมิน ในการทำนโยบาย

ส่วนข้อเสนอต่อการพลิกโฉมนโยบายสาธารณะมี 3 องค์ประกอบ 1.ต้องเป็นนโยบายสาธารณะแบบเชิงรุก ทั้งในเชิงกลไกโครงสร้างและเชิงเนื้อหาประเด็นให้มีความแหลมคมต่อการนำไปขับเคลื่อน 2. นโยบายสาธารณะต้องเป็นการยกระดับ งานที่ทำอยู่ให้เป็นต้นแบบ หรือเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆเช่นธรรมนูญสุขภาพข้อตกลงระบบ Application ระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ และ 3. เป็นยุทธศาสตร์เปิดพื้นที่ทางสังคม ระดมความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active