เปิดตัว AI แชทบอท เพื่อนคุยบำบัดใจ แก้ปัญหา ‘สุขภาพจิต’

กว่า 40 หน่วยงานนำไปใช้งานจริงแล้ว สวรส. ชี้ช่วยลดต้นทุนการเก็บข้อมูล และประเมินสุขภาพจิต – ลดภาระบุคลากรด้านสุขภาพจิต ที่ยังมีไม่เพียงพอ เล็งหาจังหวัดต้นแบบใช้ AI ประเมินสุขภาพจิตทั้งจังหวัด 

วันนี้ (15 ก.พ. 67) กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี นักวิจัยเครือข่าย สวรส. จากศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัยในการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในรูปแบบของ แพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือทางจิตใจ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ (แชทบอท) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มกลางในการสร้างเครื่องมือสำหรับบำบัดจิตใจด้วยระบบ AI แชทบอท ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นสำหรับนักจิตวิทยาโดยเฉพาะ 

โดยสามารถออกแบบชุดบทสนทนาสุขภาพจิตที่ต้องการได้เอง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรักษาดูแล จากนั้น AI จะทำหน้าที่ประมวลชุดบทสนทนาเพื่อใช้โต้ตอบสนทนากับผู้ใช้ระบบ ทำให้นักจิตวิทยามีระบบแชทบอทที่ดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางนี้ สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการมีระบบแชทบอทเพื่อเก็บข้อมูล และประเมินสุขภาพจิต ซึ่งหากจ้างบริษัทเอกชนสร้างระบบฯ ให้ จะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านบาท

นอกจากนั้นยังใช้งานง่าย บุคลากรด้านสุขภาพจิตไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมก็ใช้งานได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถรับข้อมูลในรูปแบบ Drag & Drop ซึ่งสามารถส่งชุดข้อมูลที่เป็นแนวหัวข้อของบทสนทนาแต่ละรูปแบบเข้าไป ระบบก็จะประมวลผลและนำไปเป็นข้อมูลในแชทบอทที่เตรียมสำหรับใช้งานได้ต่อไป 

กลกรณ์ ย้ำด้วยว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และโรงเรียน กว่า 40 หน่วยงาน ได้นำไปใช้งานจริงแล้ว โดยบุคลากรด้านสุขภาพจิตของแต่ละหน่วยงานสามารถพัฒนาแชทบอทบนแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทำให้ประยุกต์ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลต่าง ๆ ก็มีการจัดเก็บอย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยที่ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและส่งกลับไปในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศด้วย 

ขณะที่ จุไรรัตน์ พรมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในระบบการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งนับวันจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยจึงเข้าไปมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงระบบ ทั้งในแง่ของการช่วยลดภาระบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการให้มีเพียงพอในระบบได้ และสนับสนุนให้นำนวัตกรรมงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการประมวลผลเพื่อนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพจิตให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานมากขึ้น 

สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัยในระยะต่อไป สวรส. และทีมวิจัยจะเน้นไปที่การสร้างพื้นที่จังหวัดต้นแบบ ที่มีการนำแพลตฟอร์มกลาง ซึ่งเป็นระบบ AI แชทบอทนี้ไปใช้ทั้งจังหวัด เพื่อให้สามารถวัดผลได้ว่า เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องสุขภาพจิตแล้ว ภาพรวมในเรื่องของการดูแลและให้บริการด้านสุขภาพจิตของทั้งจังหวัดจะเป็นอย่างไร ซึ่ง สวรส. และทีมวิจัย มุ่งหวังที่จะให้ข้อมูลด้านสุขภาพจิตจากการใช้ระบบแพลตฟอร์มกลางที่เป็น AI แชทบอทของจังหวัดที่จะเป็นพื้นที่ตัวอย่าง เกิดการนำไปใช้ในการจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ให้เหมาะสมกับทุกช่วงวัย และเชื่อว่าหากมีพื้นที่ต้นแบบที่มีผลสำเร็จในการจัดการปัญหาสุขภาพจิต ก็จะทำให้จังหวัดอื่นๆ สนใจและอยากนำระบบฯ นี้ไปใช้งานต่อไป

UN เผยคนไทยมีความสุขลดลง 

วิถีชีวิตอันเร่งรีบ การแข่งขัน ตลอดจนปัญหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรง ยาเสพติด ฯลฯ ส่งผลให้คนในสังคมเกิดภาวะเครียด และปัญหาด้านจิตใจมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจของ องค์การสหประชาชาชาติ (UN) พบว่า ความสุขของประเทศไทยกำลังลดลง จากรายงาน World Happiness Report ปี 2023 ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยความสุขของประชากรไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ของโลก หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างค่าเฉลี่ยช่วงปี 2562-2564 กับช่วงปี 2563-2566 จะพบว่า จากที่เคยอยู่ที่ 5.891 ได้ลดลงมาอยู่ที่ 5.843 

หากมองย้อนกลับมาที่สถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 พบว่า ประเทศไทย มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมากถึง 256,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษามากถึง 28,775 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตกลับมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีจิตแพทย์อยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร นักจิตวิทยา (คลินิก) มีประมาณ 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร และพยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น 

อัตราการป่วยไข้จนถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์กำลังทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้คือการ ‘คัดกรองสุขภาพจิต’ เพื่อดูแลอย่างเท่าทัน ป้องกันไม่ให้ต้องกลายเป็น ‘ผู้ป่วย’ ที่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active