สช. ห่วงการเสพติด ‘นิโคตินสังเคราะห์’ เพราะเติมได้ไม่จำกัด เตรียมผลักดันรัฐสื่อสารความเข้าใจ ลบมายาคติว่าปลอดภัย ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ ย้ำ บุหรี่ไฟฟ้า รุนแรงเทียบยาเสพติด ดัน 8 ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การแก้ไขปัญหา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุม การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง การสร้างการรับรู้การสื่อสารและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการสื่อสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง หลังพบเด็ก เยาวชน คน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจถึงโทษภัย
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า บอกว่า ปัจจุบันผู้คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยสิ่งที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหานี้ คือ “การสร้างการรับรู้โทษจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า” โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและยาวชน เนื่องจากสถิติ พบว่า ช่วง 2 ปี (2564-2566) การสูบในกลุ่มคนทั่วไปอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 7.8 หมื่นคน ในปี 2564 เป็น 7 แสนคน ในปี 2565 หรือเพิ่มถึง 10 เท่า และที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย อายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2564 เป็น 17.6% ในปี 2565
ลบมายาคติ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ปลอดภัยกว่า ‘บุหรี่มวน’
ศ.พญ.สุวรรณา เผยข้อมูลว่า ยอดจำหน่าย บุหรี่มวนแบบดั้งเดิม มีอัตราต่ำลงทั่วโลก ทำใหบริษัทผู้ผลิตสร้างนวัตกรรมบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามา และสร้ามายาคติว่า ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน แต่ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ได้มีความปลอดภัยแต่อย่างใด
“โดยเราจะเห็นได้ว่าบุหรี่มวนนั้นใช้เวลาราว 30-50 ปี จึงเริ่มมีรายงานการก่อโรคมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่กับบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงไม่เกิน 15 ปี ขณะนี้มีรายงานที่พบแล้วว่าเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2.2 เท่า”
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
ศ.พญ.สุวรรณา ยังบอกด้วยว่า ข้อเท็จจริงเดียวที่บุหรี่ไฟฟ้าเคลมแล้วเป็นจริงคือการไม่มีสาร ‘ทาร์’ หรือน้ำมันดิน ที่เกิดจากการเผาไหม้แบบบุหรี่มวน แต่สารเคมีที่เหลืออีกกว่า 7,000 ชนิด มีเท่าเทียมกันกับบุหรี่มวน
ซ้ำร้ายในบุหรี่ไฟฟ้ามี ‘นิโคตินสังเคราะห์’ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น และยัง เติมได้ไม่จำกัด สิ่งสำคัญคือการ ปรุงแต่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จนมีความหอม หวาน มีรสชาติมากกว่า 16,000 ชนิด ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกเลือกสูบ และยังสามารถทำให้เสพติด โดยไม่พบว่าช่วยในการเลิกบุหรี่มวนได้แต่อย่างใด
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ บอกว่า ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่เอาบุหรี่มวน แต่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะความไม่รู้ถึงพิษภัย และด้วยเพราะการตลาด ซึ่งข้อมูลผลสำรวจของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมในประเทศไทย พบว่า 35% ไม่เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบ และ 40% ไม่เชื่อว่าทำให้เกิดหัวใจวาย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์และมีรายงานออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งสำคัญที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับเด็ก เยาวชน และสังคม
ย้ำบุหรี่ไฟฟ้าในไทยผิดกฎหมาย
วศิน พิพัฒนฉัตร เลขานุการคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมี 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดในเรื่องของการห้ามนำเข้า 2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 กำหนดห้ามขาย และห้ามให้บริการ 3. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ห้ามนำเข้า และห้ามครอบครอง และ 4. พ.ร.บ.ควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งในส่วนของโทษปรับและโทษจำคุกด้วย
“ถ้าพิจารณาจากสถานะทางกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเทียบเคียงได้กับการเป็นยาเสพติด เพราะมีทั้งการห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ รวมถึงห้ามครอบครอง คำถาม คือ ขณะนี้มีถือกันอยู่ในมือของคนทั่วไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่เราต้องสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมาย เพราะยังมีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้กันอีกมาก รวมทั้งต้องมาร่วมกันหาแนวทางในการเฝ้าระวัง บังคับใช้กฎหมาย และยืนยันถึงความจำเป็นของนโยบายและมาตรการในป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า”
วศิน พิพัฒนฉัตร
ข้อเสนอแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า
ภายหลังการประชุม ได้มีสรุปร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย 8 ข้อ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่
- บูรณาการการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในระบบการศึกษาแต่ละระดับ
- ร่วมกันเผยแพร่ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าและเป็นแบบอย่างของการไม่สูบ
- เฝ้าระวังเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อต่าง ๆ
- ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทั้งการขายในสถานที่และในระบบออนไลน์ พร้อมติดตามสืบหาต้นตอของผู้กระทำความผิด
- เสนอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
- ร่วมกันเฝ้าระวังและเปิดโปงกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ พร้อมป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบผ่านช่องทางต่าง ๆ
- ควบคุม ปราบปราม ดำเนินการทางกฎหมายต่อร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจไปรษณีย์และขนส่งเอกชน
- ร่วมกันสื่อสารให้เครือข่ายในทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเฝ้าระวังการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่