‘ประกันสังคม’ ขานรับ ‘กสม.’ เสนอเร่งศึกษา ทำฟันเหมาจ่าย ไม่จำกัดวงเงิน

ร่วมถกกรณีจำกัดวงเงินทันตกรรม 900/คน/ปี ชี้ ควรเท่ากับบัตรทอง ‘โฆษกประกันสังคม’ หวั่นเหมาจ่ายทำคลินิกเบิกค่ารักษาเกินจำเป็น ขณะที่ ชมรมผู้พิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน แนะ กำหนดราคากลาง 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นัดหมาย ตัวแทน สำนักงานประกันสังคม เข้าชี้แจงในฐานะผู้ถูกร้องกรณีจำกัดวงเงินทันตกรรมผู้ประกันตน 900 บาทต่อปีต่อคน ซึ่ง กสม. วินิจฉัยว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นในเชิงหลักการ และเป้าหมายที่ตรงกันในการที่จะยกระดับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนให้ดีขึ้น ครอบคลุม เท่าเทียม โดย กสม. ได้ให้แนวทางไปว่า ให้นำสิทธิประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เป็นสิทธิพื้นฐาน เทียบกับสิทธิประโยชน์ในกองทุนอื่นซึ่งควรจะเท่ากับหรือมากกว่า บัตรทอง

โดยเฉพาะประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเองก็ควรจะมีสิทธิประโยชน์มากไปกว่าบัตรทองด้วยซ้ำ ตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม ที่เข้าร่วมประชุมก็ตอบรับข้อเสนอโดยจะเร่งนำไปศึกษา และเสนอเข้าไปยังบอร์ดประกันสังคมโดยเร็วที่สุด ขณะที่ กสม. ก็มีกลไกติดตามทวงถามความคืบหน้าในทุก ๆ 90 วัน 

นิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม

นิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นมีแนวโน้มไปในทางทิศทางที่ดี โดยก่อนอื่นก็ต้องยอมรับว่า สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ในส่วนของทันตกรรม มีข้อดีในแง่ของการเข้าถึงสถานบริการเอกชนได้ทุกที่ และหลังจากนี้ก็จะมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในลักษณะเหมาจ่าย แต่ก็ยังมีข้อกังวลว่าคลินิกเอกชน อาจจะตั้งราคาสูงเกินจริง หรือมีการทำหัตถการที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องหากลไก เข้ามาอุดช่องโหว่นี้ ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการยังบอกไม่ได้ แต่น่าจะมีข่าวดีเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง กสม. ก็มากลไกติดตามอยู่ด้วยเช่นกัน 

ขณะที่ สมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ในฐานะชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน บอกว่า หากประกันสังคมเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมเป็นแบบเหมาจ่ายได้จริงจะเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกันตนรอคอยมานาน จึงควรให้ภาควิชาการกำหนดราคากลางขึ้นมา ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อกำกับควบคุมคลินิกเอกชน ผู้ให้บริการ ไม่คิดเกินเกินราคา จนเบิกค่ารักษาจนเกินความเป็นจริง 

ทั้งนี้ ชมรมฯ เรียกร้องให้ประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ทันตกรรมมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังจำกัดวงเงิน 600 บาท จนขยับขึ้นมาที่ 900 บาทเมื่อปี 2559 แต่ยังไม่เพียงพอต่อการรักษา ทำให้ผู้ประกันไม่ได้รับความเป็นธรรมและต้องจ่ายถึง 3 ครั้ง คือ 1. จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในส่วนบริการสุขภาพ 2. จ่ายผ่านระบบภาษีของประเทศ และ 3. จ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมเองในกรณีที่สิทธิประโยชน์แตกต่างจากระบบอื่น ๆ แต่สิ่งที่ผู้ประกันตนได้รับคือสิทธิประโยชน์ ที่ด้อยกว่าสิทธิบัตรทอง และสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการฯ

สมชาย กระจ่างแสง ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน

“ชมรมผู้พิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน หวังอยากอยากพบกับเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม สักครั้ง เพื่อชี้แจงแต่เร่งรัดให้ชงเรื่องเข้าที่ ประชุมบอร์ดโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมาพบแต่ตัวแทนเท่านั้น”

สมชาย กระจ่างแสง

ขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภค อยู่ระหว่างการจัดทำแบบสำรวจ เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านทันตกรรม และด้านการรักษาโรคมะเร็งว่าเพียงพอและครอบคลุมต่อความต้องการของกลุ่มผู้ประกันตนหรือไม่ 

รวมทั้งประเด็นข้อคิดเห็นเรื่อง การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในด้านบริการสุขภาพ เพื่อนำไปสรุปผลและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้ประกันตนทุกคนในมาตราต่าง ๆ สามารถร่วมทำแบบสำรวจได้ที่กูเกิ้ลฟอร์ม (Google Form) ที่ลิงก์ https://forms.gle/mE45dPv8UHvJVNUi7 หรือสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด (Qr Code) ได้ที่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active