ผ่านกฎหมาย 3 ปี ทำไม ? ยังไม่มี ‘สถานบริการทำแท้งปลอดภัย’ ทั่วไทย

‘กลุ่มทำทาง’ ทวงถาม กมธ.สาธารณสุข เพิ่มสถานบริการทำแท้งปลอดภัย ภายใต้การสนับสนุนงบฯ โดย สปสช. พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน

วันนี้ (7 ก.พ. 67) ที่รัฐสภา ‘กลุ่มทำทาง’ ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการให้การปรึกษาทางเลือกสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อมได้เข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ร่วมกันยื่นหนังสือถึง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส. จ.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข ขอให้ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินการ และข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข ใน 3 ประเด็น

  • เพิ่มจำนวนสถานบริการทำแท้งปลอดภัยที่รับงบประมาณสนับสนุนค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

  • ประกาศรายชื่อสถานบริการทำแท้งปลอดภัย

  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพในการได้รับการสนับสนุนค่าบริการทำแท้ง และข้อมูลเรื่องการทำแท้งที่ถูกต้องให้ประชาชน

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง บอกว่า 3 ปีแล้ว ที่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 แต่จากการทำงานของกลุ่มทำทาง พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก กลับยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยได้สะดวกขึ้นแต่ประการใด

การยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่กลุ่มทำทาง ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ ที่รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการจาก สปสช. ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตลอดจนดำเนินการเพื่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อลดอคติต่อการทำแท้ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการไม่ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับใด ๆ จากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มีเพียงได้รับทราบว่ากรมอนามัย ได้จัดอบรมบุคลากรเพื่อให้การปรึกษาทางเลือกตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์การให้การปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (5) ไปแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และได้จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งไม่ทันกับสถานการณ์หรือช่วยให้สังคมมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ตลอดจนไม่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่กฎหมายเปิดช่องให้เข้าถึงบริการได้ สปสช. ก็ให้การสนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

ขณะที่ จำนวนสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ พบว่า ยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด โดยเพิ่มขึ้น 28 แห่งใน 6 จังหวัด รวมแล้วเป็น 57 จังหวัด ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าถึงบริการยังคงประสบปัญหาการเข้ารับบริการเหมือนเดิม ทั้งในแง่ของการต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรับบริการในจังหวัดอื่น เนื่องจากจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ไม่มีสถานบริการ และในแง่ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางในกรณีที่จังหวัดตนเองมีสถานบริการ แต่เป็นสถานบริการของเอกชนที่ไม่รับงบประมาณสนับสนุนค่าบริการจาก สปสช. โดยจากการทำงานของกลุ่มทำทาง พบว่า ผู้ที่ต้องการเข้าถึงบริการมากกว่า 70%  ไม่มีเงินพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการในคลินิกเอกชน

“การเพิกเฉย ละเลย หรือปฏิเสธที่จะจัดให้มีบริการ ตลอดจนการไม่ประกาศรายชื่อสถานบริการฯ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะระบบบริการสาธารณสุข หรือสถานบริการไม่มีบุคลากร ไม่ทรัพยากร แต่เป็นเพราะอคติส่วนตัวและความเชื่อด้านศีลธรรมของผู้ให้บริการต่างหาก ที่เป็นอุปสรรค ถึงเวลาแล้วที่ต้อลบอคติต่อการทำแท้งที่อยู่ในใจ และยึดหลักการและข้อเท็จจริงทางการแพทย์เป็นสำคัญ มากกว่ายึดถืออคติ หรือศีลธรรมส่วนตัว”

สุพีชา เบาทิพย์

นพ.ทศพร ระบุว่า กรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ แต่การทำแท้งต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ดังนั้นทางกรรมาธิการฯ จะเชิญกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย สปสช. และผู้ที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือ ถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อที่จะพลักดันเรื่องนี้ส่งต่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวงสาธารณสุข ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเห็นว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงการยุติการการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การทำแท้งนับเป็นบริการสุขภาพพื้นฐานสำคัญจำเป็น ที่ช่วยชีวิตผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ยิ่งการทำแท้งในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ตามที่กฎหมายกำหนดสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย เช่น การใช้ยาที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ และมีประสิทธิภาพสูงมากกว่า 95%

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active