‘เกิด’ ต้องไม่เป็นภาระครอบครัว สช. เร่งสร้างระบบรองรับ

เดินหน้าหาแนวทาง เพิ่มความมั่นใจพ่อแม่ จัดระบบดูแลเด็กแรกเกิด เจริญเติบโตอย่างมั่นคง หลังไทยเผชิญสถานการณ์ ‘เด็กเกิดน้อย’ หวั่นซ้ำเติมสังคมสูงวัย ขณะที่ ‘สภาพัฒน์’ ห่วงอนาคตแนวโน้มการเจริญพันธุ์ลดลง คนรุ่นใหม่ ก้าวสู่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ไร้บุตรหลานพึ่งพิง แนะส่งเสริมการออมภาคบังคับ ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี รับมือ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย ปัญหาและทางออก” เพื่อฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างประชากร ผลพวงจากปัญหาเด็กเกิดน้อย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังพบว่าปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด และรัฐบาลเตรียมประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยจะส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาจึงจะมีความยุ่งยากมากกว่าเมื่อ 30 ที่แล้ว ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดมาก-ประชากรขยายตัวเร็ว ซึ่งขณะนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุข การคุมกำเนิด ฯลฯ เข้ามาแก้ไขได้ แต่ปัญหาเด็กเกิดน้อยตรงกันข้าม คือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมิติทางการแพทย์ และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จึงนำมาสู่การจัดเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อแสวงหาความร่วมมือ แสวงหาทางออก และรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ตลอดจนการจัดตั้งเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า วันนี้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตรส่งผลให้เด็กเกิดน้อย ในอนาคตจะเกิดปัญหาทั้งด้านแรงงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแบกรับสังคมสูงวัย ฯลฯ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมีระบบรองรับเพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี

นพ.ประทีป ยังระบุถึงประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ‘การสร้างระบบรองรับ’ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุข  ได้ให้ความสนใจ และแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และผลักดันในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

“ในเรื่องนี้ทางสภาพัฒน์ฯ มีแผนและแนวทางการขับเคลื่อนอยู่ แต่ถ้าจะผลักดันให้ได้ผลจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อน ในวันนี้เราจึงเอาแผนของสภาพัฒน์ฯ มากาง แล้วร่วมกันวิเคราะห์ ออกแบบการทำงานในเชิงระบบ ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง”

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจในขณะนั้น ๆ โดยดัชนีเหล่านี้มาจากผลการดำเนินธุรกิจของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด

พรรณวดีลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผช.ผจก.และหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

“โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรในวัยแรงงาน และเมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและจะสะท้อนออกมาผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการเตรียมการรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ฉะนั้นพลังจากหลายภาคส่วนจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้” นางพรรณวดี กล่าว

พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา 

ขณะที่ วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวบรรยายสรุปภาพรวม “โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และปัญหาไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย” ตอนหนึ่งว่า โครงสร้างประชากรไทยในขณะนี้ จำนวนเด็กและแรงงานจะลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยที่มีจำนวนสูงขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต สะท้อนถึงสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น และ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีอัตราการตายมากกว่าการเกิด คือตาย 563,650 คนและเกิด 544,570 คน กล่าวคือมีการตายมากกว่าเกิด 19,080 คน

วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นอกจากนี้ พบว่าภาระพึ่งพิงเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2556 มีสัดส่วน 39% ของประชากรวัยแรงงาน ขณะที่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 44% ของประชากรวัยแรงงาน มากไปกว่านั้น มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2583 เด็กปฐมวัยจะมีจำนวนลดลงถึง 1.2 ล้านคน (ปี 2566 มีเด็กปฐมวัย 4.3 ล้านคน แต่ในปี2583 จำเหลือ 3.1 ล้านคน) ส่วนมิติคุณภาพชีวิตเด็ก พบว่า เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 6 เดือน ได้รับนมแม่อย่างเดียวเพียง 28.6% และข้อมูลปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจน 3.52 แสนคน

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ยังระบุถึงความท้าทายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างครอบครัว โดยในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้น ๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องปัญหาการขาดแคลนคนวัยแรงงาน นำไปสู่ความท้าทายทางการคลังของประเทศ การเกิดน้อยจะส่งผลให้จำนวนวัยแรงงานในอนาคตลดลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้การจัดเก็บภาษีรายได้น้อยลงตรงนี้ถือเป็นความท้าทายต่อการคลังของประเทศ พร้อมกันนี้ในระยะยาว ส่วนต่างระหว่างรายรับและรายจ่ายทางสังคม มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย

“ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญหลังจากนี้ ประการแรกคือการสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ทั้งมิติครอบครัว การศึกษา ประการถัดมาคือการพัฒนาประชากรให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับการพัฒนาคนด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการ Upskill-Reskill การขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ และประการสุดท้ายคือปรับรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอ เช่น การส่งเสริมการออมภาคบังคับ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี”

วรวรรณ พลิคามิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active