ห่วงเด็กเสพสื่อเหตุความรุนแรง แนะผู้ปกครองหมั่นดูแลสภาพจิตใจบุตรหลาน

กรมการแพทย์ ชี้ เด็กอยู่ในช่วงปิดเทอม ควรหากิจกรรมที่หลากหลายลดการเข้าถึงสื่อ หากพบอารมณ์ผิดปกติประสานสายด่วนสุขภาพจิต 1323

วันนี้ (8 ต.ค.65) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อในทุกช่วงเวลาอย่างมากมาย อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของบุตรหลาน กิจกรรมส่วนใหญ่คือการดูโทรทัศน์ หรือการเล่นโทรศัพท์มือถือ

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานได้รับผลกระทบทางด้านอารมณ์และจิตใจ กรมการแพทย์มีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน คือการใช้สื่อของเด็ก ควรจำกัดเวลาในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำกัดไม่มากหรือวนเวียนแต่สิ่งที่ทำให้หดหู่ใจ หากเด็กต้องเข้าถึงสื่อควรมีผู้ปกครองดูอยู่ด้วยเพื่อป้องกันการเห็นภาพหรือเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือสร้างความสะเทือนใจแก่เด็ก ส่วนในเด็กโตที่เล่น Social media ผู้ปกครองควรแนะนำเรื่องการใช้อย่างเหมาะสม เช่น หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง การวิพากษ์วิจารณ์ข่าวผ่าน Social media โดยสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น การให้กำลังใจผ่าน Social media หรือการส่งต่อความช่วยเหลือ

ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการดูแลบุตรหลานนอกจากดูแลเรื่องการใช้สื่อแล้วควรให้

  1. เด็กมีกิจกรรมช่วงปิดเทอมที่หลากหลาย นอกจากจะช่วยลดการเข้าถึงสื่อแล้วยังสามารถเป็นกิจกรรมที่ช่วยในการผ่อนคลายได้ เช่น วาดรูป ระบายสี เล่นกีฬา เล่นดนตรี ช่วยทำงานบ้าน ดูแลสวน
  2. ​การเฝ้าระวังติดตามอารมณ์ของเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของเด็กในช่วงนี้ ทั้งช่วงที่มีการใช้สื่อและไม่ใช้สื่อ
  3. ​รับฟังแบ่งปันความรู้สึกและวิธีการจัดการอารมณ์ร่วมกัน
  4. ​ผู้ปกครองเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์และการใช้สื่ออย่างเหมาะสม หรือหากผู้ปกครองหรือเด็กไม่สามารถจัดการอารมณ์เศร้า เสียใจ รู้สึกผิดที่เกิดขึ้นได้ สามารถติดต่อรับการปรึกษาช่วยเหลือจากคลินิกจิตเวชใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active