ปลัด สธ.คนใหม่ หนุนถ่ายโอน รพ.สต. สั่ง สสจ. เป็นพี่เลี้ยง อบจ.

งานแรก ‘นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ หลังนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำถ่ายโอน รพ.สต. ระยะแรก 3,264 แห่ง สู่ อบจ. ยันไม่ทิ้งลูกจ้าง 9 พันคน พร้อมถอดบทเรียน โควิด-19 ให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ตั้ง “กลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์” 

วันนี้ (1 ต.ค.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในกระทรวงสาธารณสุข ก่อนเริ่มทำงานในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้ โดยจะประชุมทางไกลถ่ายทอดนโยบาย ขอให้โรงพยาบาลประเมินตนเอง และศักยภาพทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ลงทุนทำประโยชน์ให้ประชาชน เช่น สร้างอาคารจอดรถผู้มารับบริการปรับปรุงอาคารผู้ป่วย ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือติดตั้งโซลาร์รูฟ โซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงซ่อมแซมบ้านพักเพื่อเป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลที่มีความพร้อม จะให้ตั้งกลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชนให้ได้รับบริการสะดวกขึ้น ลดความแออัดในโรงพยาบาล

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในระยะแรกสิ้นปีงบประมาณ​ 2565 ในวันนี้ มีทั้งหมด 3,264 แห่ง จาก 9,750 แห่งทั่วประเทศ รวมบุคลากรที่เป็นข้าราชการ 11,911 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้าง 9,868 คน  

“กระทรวงฯ เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ โดยประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบบริการต่างๆ ต้องได้รับตามเดิม ซึ่งได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ติดตามการถ่ายโอน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ลงนามกับ นายก อบจ.ในการถ่ายโอน รพ.สต.”

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกด้วยว่า เมื่อ อบจ.มีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้าง รวมกว่า 9,000 คน หาก อบจ.ใดมีความพร้อมที่จะจ้างลูกจ้างต่อ ให้ดำเนินการถ่ายโอนได้ทันที ซึ่งสัปดาห์นี้คาดว่าจะมี อบจ.หลายแห่งที่พร้อมรับการถ่ายโอน รพ.สต. ระหว่างนี้ หากมีปัญหาใด ๆ กระทรวงสาธารณสุข ยินดีช่วย อบจ.แก้ไข เช่น เรื่องการบริการ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดหน่วยบริการ พร้อมยา และเวชภัณฑ์ไปช่วยบริการ คาดว่าการถ่ายโอนจะเป็นไปอย่างราบรื่น 

ใช้บทเรียน “โควิด” พัฒนาระบบสาธารณสุขต่อเนื่อง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไทยเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก เป็นบทเรียนการจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากคนทั้งประเทศ ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี ทั้งจากฝ่ายนโยบาย ระบบสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค การรักษา โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัด การสนับสนุนจัดหายา วัคซีน การกระจายกำลังคน อสม. ที่สำคัญคือ ประชาชนมีความตื่นตัวทางสุขภาพและให้ความร่วมมืออย่างดี ถือเป็นจุดแข็งที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขต่อไป 

ส่วนเรื่องการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขเป็นข้าราชการกว่า 45,000 ตำแหน่ง และการที่โรงพยาบาลหมดปัญหาหนี้สิน และมีเงินบำรุงเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานโควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในระยะ 3 ปีต่อจากนี้ 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“การทำงานจากนี้จะยึดนโยบายของรัฐบาล ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูประบบสาธารณสุข รวมถึงนโยบายของ นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “Health for Wealth” สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและความมั่งคั่ง ซึ่งหมายถึงความมั่งคั่งทางสุขภาพ ที่เป็นต้นทุน”

นพ.โอภาส บอกอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญในภาพรวมอีก 5 เรื่อง คือ การสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพของประชาชน, ความเข้มแข็งหน่วยบริการ, การดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทำงานได้เหมาะสมตามสภาพ, การพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยใช้เงินบำรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลระดับอำเภอ ช่วยกระตุ้นและหมุนเวียนเศรษฐกิจ และทำข้อมูลสุขภาพให้เป็นของประชาชน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active