9 รพ.เอกชน เบิกจ่ายงบฯ บัตรทอง ผิดปกติ

สปสช. ยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน กระทบผู้ใช้สิทธิเกือบ 7 แสนคน เร่งหาหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับเพิ่ม พร้อมประสานดูแลผู้ป่วยมีนัดรักษา/ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรักษาต่อเนื่อง

วันนี้ (18 ก.ย.​ 2565) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ สปสช. ได้ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และรพ.กล้วยน้ำไท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปว่า การยกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) ที่ให้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเรียกเงินคืน แจ้งสภาวิชาชีพยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งดังกล่าว รวมทั้งการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ เนื่องมาจากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข พบเอกสารหลักฐานว่า หน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่ง มีการเบิกค่าคัดกรองเมตาบอลิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาการยกเลิกสัญญาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

บัตรทอง
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 ในกรุงเทพฯ ดูแลประชากรผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 696,103 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 62,331 คน หรือประมาณร้อยละ 9 ที่ใช้สิทธิรับบริการ โดยเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 24,058 คน 

ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงมาตรการรองรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ว่าได้จัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับให้การดูแล เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯ พร้อมจัดระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้บริการ ได้แก่ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกกับให้กับประชาชน ขณะเดียวกันได้จัดหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ พร้อมกับประสานและจัดหน่วยบริการแห่งใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหรือติดตามอาการ 

พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า  ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่ลงทะเบียนใช้สิทธิกับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่งนี้ กรณีผู้ป่วยในที่ยังนอนอยู่ รพ. รักษาต่อไปได้ จนกว่าจะปลอดภัย กรณีที่เป็นผู้ป่วยนัดรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีนัดติดตามอาการ ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และกรณีหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ฯลฯ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเร่งด่วน สปสช. ได้ประสานและจัดหาหน่วยบริการเพื่อให้การรักษาต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้นขอให้ท่านติดต่อขอรับเวชระเบียน (ข้อมูลและประวัติการรักษา) กับโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ในขณะนี้ โดย สปสช. ได้ทำหนังสือถึง รพ. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อขอข้อมูลผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประสานส่งต่อผู้ป่วย 

“ผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่องถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเร่งด่วน ซึ่ง สปสช. ได้ขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเพื่อติดต่อไปยังผู้ป่วยในการแจ้งหน่วยบริการที่จะเข้ารักษารักษาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรายใดไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ขอให้ท่านโทรมายังสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป” 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
บัตรทอง

สำหรับผู้ป่วยไตที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชนนี้ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  

ส่วนกรณีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องนั้น พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ระหว่างนี้ขอให้ท่านตรวจสอบสิทธิการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 

  1. ผู้ที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) และสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน ขอให้ท่านลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีหน่วยบริการในเขตพื้นที่ให้เลือกลงทะเบียน ขออย่ากังวลใจเพราะขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากเกิดภาวะเจ็บป่วยท่านก็ยังใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ โดยเข้ารับบริการที่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
  2. ผู้ที่สถานพยาบาลเข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) เป็นคลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ไม่ใช่ รพ. 9 แห่งนี้ และมีสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) ระบุว่า เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน เมื่อเจ็บป่วยท่านยังคงเข้ารับการรักษาได้ตามรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นตามสิทธิได้เช่นเดิม กรณีที่จะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น สปสช. ได้ประสานงานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้ 

ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิรักษาเหมือนเดิมทุกประการ

ตรวจสอบสิทธิการรักษาที่เว็บไซต์ สปสช. หรือที่ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกเมนูตรวจสอบสิทธิ หรือแอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูตรวจสอบสิทธิตนเอง 

ดูรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

  • เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/hospital
  • เว็บไซต์ Nostra map https://map.nostramap.com/NostraMap/ หรือแอปพลิเคชัน Nostra Map เลือกชั้นข้อมูลที่เขียนว่า รายชื่อสถานพยาบาลในระบบ สปสช. (เลือกประเภทการขึ้นทะเบียนที่ระบุว่า บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป หรือหน่วยบริการประจำ)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

  1. สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 
  2. ช่องทางออนไลน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active