สำรวจ เยาวชนในสถานพินิจ พบ 82% ใช้สารเสพติด พาชีวิตเปลี่ยน  

เครือข่ายเยาวชน ร่วมถอดประสบการณ์ พบจุดเริ่มต้นความรุนแรง ก่อเหตุ กระทำผิดซ้ำ จากยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนะ 6 วิธีการ ลดปัจจัยเสี่ยง หยุดขัดแย้ง ไม่ตีตรา สร้างสังคมสุขภาวะ

เนื่องในวันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ ภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน ร่วมกันจัดเสวนา “วัยรุ่นกับศักดิ์ศรีและความรุนแรง บทเรียนราคาแพง” มีเป้าหมายเพื่อเปิดเผยสถานการณ์ ปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด ที่นำมาสู่ความรุนแรง และการก้าวพลาดของเยาวชน

รศ.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยผลสำรวจเยาวชนในสถานพินิจ ปี 2564 พบว่า 82% ของเยาวชนที่เข้ามาใช้สารเสพติด และเป็นปัจจัยร่วม ทำให้ก่อความผิด และทำผิดซ้ำ โดยสารเสพติดที่พบมากสุดคือ ยาสูบ แอมเฟตามีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกว่า 90% ใช้มากกว่า 1 ประเภท 

‘เบนซ์’ อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเล่าว่า ตอนอายุ 15 ปี รวมกลุ่มกับเพื่อนในชุมชน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด จนมีปัญหาการทะเลาะวิวาทกับคู่อริในชุมชน และต่างสถาบัน เป็นเหตุให้ใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธทำร้ายกันจนถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงพฤติกรรมเกเรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนในที่สุด ก็ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ แต่พอเข้าไปอยู่แล้ว ระบบการดูแล และวัฒนธรรม กลับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง จนกลายเป็นคนไม่ทะเลาะวิวาท ไม่ใช้ความรุนแรง มีโอกาสคุยกับคู่กรณีซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นเพื่อนกัน เมื่อมองย้อนไปในอดีตจึงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความคึกคะนองของวัยรุ่นที่ทำให้มีปัญหากันเท่านั้น

“มองย้อนกลับไปเสียใจมาก ขอให้คนรุ่นใหม่ใช้ประสบการณ์ชีวิตทั้งดีและร้ายเพื่อเตือนตัวเอง เมื่อเจอเหตุการณ์อะไรขอให้มีสติ คิดให้มาก เพราะถ้าพลาดแล้วบางคนสามารถแก้ตัวได้ แต่บางคนอาจเสียชีวิต ไม่มีโอกาสได้แก้ไขอะไรเลย และฝากครอบครัวที่มีลูกหลานวัยรุ่น ให้พยายามพูดคุย พออยู่ฝั่งเดียวกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าข้างเมื่อทำผิด แต่ต้องเอาใจใส่ เปิดโอกาส ซึ่งสำคัญมาก”

รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

รุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ  รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า มีผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ พบว่า เยาวชนที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย พฤติกรรมอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มและมีโอกาสใช้สารเสพติดชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการก้าวพลาด

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก บอกว่า การเปลี่ยนแปลงเยาวชนที่ก้าวพลาด ให้ลุกขึ้นยืนและคืนคุณค่าอย่างสันติ เป็นจุดยืนของบ้านกาญจนาฯ แม้ว่าจะเป็นงานยาก เนื่องจากความคิดและค่านิยมสังคมมองคนกลุ่มนี้ติดลบ แต่ยังเชื่อว่าการทำงานกับวัยรุ่นที่เป็นคู่ขัดแย้ง ให้หันมาเป็นมิตรสามารถทำได้ผ่าน 6 แนวคิด

1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

2. ปฏิเสธระบบอำนาจนิยมหรืออำนาจแนวดิ่ง และพัฒนาอำนาจในแนวราบ 

3. เปิดรับข้อมูลจากเยาวชนและวัยรุ่นทุกคน รวมถึงคู่ขัดแย้งให้มากที่สุด เพื่อนำมาวางแผนขับเคลื่อนแก้ปัญหา 

4. ใช้แนวทาง Pay it Forward คือจ่ายค่าความเสียหายไปก่อน เพราะทุกการแก้ปัญหาอาจมีราคาที่ต้องจ่าย และอาจแพงมาก 

5. ต้องอดทนต่อสู้สร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ต้องใช้เวลานาน 

6. กล้าถูกเกลียดจากการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเยาวชน

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

และแม้ว่าผลสำรวจแนวโน้มการดื่มสุราในประชากรไทยปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา( 2554 – 2564 )พบคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องย้ำเตือน เพื่อให้เกิดความตระหนัก รู้เท่าทัน และสร้างความมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน องค์กร เพื่อร่วมกันทำงานเชิงรุกแก้ปัญหา ปกป้องเด็ก เยาวชน และสังคม ให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ และยังเป็นการเสริมสร้างคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยและสังคมที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active