เฝ้าระวัง เด็กเสพกัญชาเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง ความจำบกพร่อง

สภาเภสัชกรรม ย้ำกัญชามีประโยชน์การแพทย์หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ห่วงโฆษณาสรรพคุณเกินจริง เฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แพทย์เตือนบุหรี่ไฟฟ้ากัญชาเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม และนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาในประเทศไทย กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดการความรู้เกี่ยวกับกัญชา สรุปว่า กัญชามีประโยชน์ทางแพทย์ และสรรพคุณรักษาอาการต่าง ๆ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามปัจจุบันเกิดความนิยมนำกัญชามาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยมีข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการใช้กัญชา เพื่อควบคุมการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสม อาทิ ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาต สถานที่ผลิตต้องแยกออกจากการผลิตอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

นอกจากนี้ ต้องระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน ดังนี้ 1. เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน 2. หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที 3. ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน 4. อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล 5. แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลต่อหน่วยบรรจุ พร้อมระบุ มีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบรรจุ 6. ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ 7. ระบุคำว่า “กัญชา” หรือ “กัญชง” ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร การใช้กัญชาเป็นอาหาร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนในการบริโภคกัญชา

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือผู้บริโภคในแต่ละวัย มีสภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน อาทิ เด็กอายุ 8 เดือนถึง 12 ปี ที่รับประทานกัญชา จะมีอาการซึม เดินเซ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ใหญ่วัย 18-25 ปี มีแนวโน้มบริโภคกัญชามากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการจำและการรับรู้ลดลง บกพร่องในด้านความจำ เกิดความวิตกกังวล เกิดภาวะเฉื่อยเนือย หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบอาการสมองเสื่อม เสี่ยงต่อการหกล้ม เนื่องจากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จึงต้องมีการควบคุมการใช้กัญชา ให้เหมาะสมทั้งปริมาณ รูปแบบการใช้ และช่วงวัย

นอกจากอาหารแล้ว การใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางก็เป็นที่นิยม โดยได้รับการอนุญาตในรูปแบบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า โลชันบำรุงผิว ผงขัดผิว ลิปสติก ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีการระบุข้อความคำเตือน เช่นเดียวกับอาหาร อาทิ 1. ห้ามรับประทาน 2. ผลิตภัณฑ์อาจก่อให้เกิดการแพ้หรืออาจระคายเคืองผิวหนังได้ 3. หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

“ถึงแม้ว่าประโยชน์ของกัญชาสำหรับผิวหนังจากงานวิจัย เช่น ลดการอักเสบของผิว เร่งการสมานของบาดแผล บรรเทาอาการคัน ในโรคสะเก็ดเงิน กลาก ผื่นภูมิแพ้ และป้องกันการเกิดแผลเป็น ลดสิวอักเสบ แต่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำเป็นต้องมีการควบคุม โดยเฉพาะการโฆษณา”

ที่ผ่านมา กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณาเครื่องสำอาง เรื่องการโฆษณาของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงมีการห้ามใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียกล่าวอ้างชื่อสารกัญชา-กัญชงว่าเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางในทางการโฆษณา ซึ่งจะต้องเป็นข้อความที่สื่อความหมายในขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม โดยไม่เกิดผลด้านอื่นแก่สุขภาพ หรือไม่กล่าวอ้างสรรพคุณทางยา อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และต้องสอดคล้องกับประเภทเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ และพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง ต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทย อาจส่งกระทบต่อเด็กและเยาวชน เพราะทำให้มุมมองเรื่องอันตรายของการใช้กัญชาของเยาวชนเปลี่ยนไป จากข้อมูลสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าสัดส่วนของเยาวชนที่คิดว่าการสูบกัญชาเป็นประจำก่อให้เกิดอันตรายลดลงจาก 80% เมื่อปี 2533 เหลือเพียง 30% ในปี  2563 การเปิดเสรีกัญชายังทำให้เยาวชนรู้สึกว่ากัญชาเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับเพิ่มขึ้นและการเข้าถึงทำได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีรัฐที่เปิดเสรีกัญชา 19 รัฐ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า 37% ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกา เคยทดลองสูบกัญชา และมี 22% ของนักเรียนที่ปัจจุบันสูบกัญชา ทั้งที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มที่แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้กัญชาเนื่องจากกัญชาส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง 

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชาของเยาวชนอายุ 12-17 ปี โดยใช้ข้อมูลสำรวจยาสูบกับสุขภาพของสหรัฐอเมริกาที่เป็นข้อมูลที่เก็บต่อเนื่องระยะยาวระหว่างปี 2556-2561 จำนวนตัวอย่างในการศึกษา 19,503 ราย เพื่อศึกษาอัตราการเริ่มสูบกัญชาของเยาวชนกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า เปรียบเทียบระหว่างรัฐที่เปิดเสรีกัญชากับรัฐที่ยังไม่ได้เปิดเสรีกัญชา จากการศึกษาพบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบกัญชาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรัฐที่เปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ โดยมีแนวโน้มการสูบกัญชาในกลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 18 เท่า ส่วนรัฐที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการพบอัตราการสูบกัญชาในกลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 5 เท่า 

“การใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับกัญชามีอันตรายมากถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะจากโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือ E-cigarette, or vaping, product use-associated lung injury (EVALI) ที่เคยระบาดในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน เมื่อปี 2562-2563 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,807 ราย และมีผู้เสียชีวิต 68 ราย ซึ่งจากข้อมูลของผู้ป่วยเหล่านี้พบว่า 82% ใช้สารสกัดกัญชา หรือ tetrahydrocannabinol (THC)ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องการฝากไปถึงกลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งผู้ปกครองให้ช่วยกันเฝ้าระวังการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา ลำพังการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายแล้วจากนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูง และสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ทำลายสมองของเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งสารก่อมะเร็งที่จะทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต การนำกัญชามาใช้ร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งก่อให้เกิดอันตรายเป็นเท่าตัว”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้