สปสช. เตรียมควัก 9 พันล้านบาท รักษาผู้ป่วยโรคไตปี 65

10 มี.ค. วันไตโลก ผงะ คนไทยป่วยโรคไตมากถึง 8 ล้านคน ผู้ป่วยรายใหม่ 2 หมื่นคน/ปี เหตุบริโภคโซเดียมสูงกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดเกือบ 2 เท่า สรรพากรยันยังไม่เก็บภาษีความเค็มปีนี้ 

จากกรณีองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันไตโลก’ หรือ ‘World Kidney Day’ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ภายใต้คำขวัญ ”สร้างเสริมภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคและชะลอการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องบำบัดโดยการล้างไตไปตลอดชีวิต ซึ่งในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตลง เพราะด้วยค่าใช้จ่ายสูงจนเป็นอุปสรรคในการการรักษาและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวตกอยู่ในภาวะล้มละลาย

วันที่ 10 มี.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากรายงานขององค์การอนามัยโลก โรคไตเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 10 ของโลก มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 1.4 ล้านคน สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1-5 มากถึง 8 ล้านคนหรือ 17.5% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตปีละประมาณ 20,000 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรัง 80% เกิดจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การบริโภคอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง การรับประทานยาไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

สปสช. ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฟอกไตฟรี 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 63,694 ราย แยกเป็น

  • ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 คน 
  • ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 คน
  • ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 คน

จะเห็นได้ว่าภาวะโรคที่คุกคามสุขภาพประชาชน ในแต่ละปียังมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2565 นี้ สปสช. จัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง 

ทั้งนี้ สปสช. เพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองฟอกเลือดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่ม 1 ก.พ. ที่ผ่านมา หากผู้ป่วยเดิมอยากเปลี่ยนจากล้างหน้าท้องมาฟอกเลือด หรือรายใหม่อยากฟอกเลือดต้องตัดสินใจร่วมกับแพทย์ ซึ่งในจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ต้องฟอกไต จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่เหมาะกับวิธีล้างไตทางหน้าท้อง แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างทำให้คนไข้กลุ่มนี้ปฏิเสธการล้างไตทางหน้าท้องแล้วเลือกใช้วิธีฟอกเลือดแทน ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิมของ สปสช. ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเองครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งใน 1 สัปดาห์จะต้องฟอก 2-3 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ3,000 บาท/สัปดาห์ หรือ เดือนละ 12,000 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงโดยเฉพาะกับผู้ที่รายได้น้อย 

ดึงชุมชนรณรงค์ลดเค็ม-ประเมินความเสี่ยงโรคไตออนไลน์ 

รศ. นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ กล่าวว่า ในปีนี้ สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค และ สปสช. ขยายผลรูปแบบการป้องกันโรคไตในชุมชน หรือ CKD โมเดลในชุมชน ซึ่งใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนต่าง ๆ เน้นการจัดการความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต

ขณะที่ ศ. นพ. ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตใน 10 ปีข้างหน้า THAI CKD RISK SCORE ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 80 และเหมาะสมกับคนไทยเป็นอย่างมาก สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

คนไทยกินเค็มเกินมาตรฐาน 2 เท่า 

ประเทศไทยมีความพยายามให้การเก็บภาษีความเค็ม โดย น.อ. หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี อายุรแพทย์โรคไต ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง อธิบายกว่า ในปัจจุบัน คนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก แนะนำ คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งโซเดียมหรือความเค็มเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต มะเร็งกระเพาะ และ โรคกระดูกพรุน เป็นต้น 

“โรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนั้น ภาครัฐจึงเริ่มมีการวางแผนเก็บภาษีความเค็มเพื่อเป็นหนึ่งเครื่องมือที่มุ่งหวังให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม”

“สรรพากร”ยันยังไม่เก็บภาษีความเค็มปีนี้ 

ปัจจุบันรัฐบาลวางแผนจะเริ่มเก็บภาษีความเค็มกลุ่มสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูงและไม่ใช่อาหารหลักที่จำเป็น โดยจะประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริโภคและให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี

แต่คืบหน้าภาษีความเค็มล่าสุด ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปีนี้ไม่เหมาะที่จะภาษีใหม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาษีความเค็ม หรือภาษีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS