ปรุงอาหารด้วยกัญชา เกิน 1-2 ใบ เสี่ยงมึนเมา

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด พบผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่ม 2 เท่า แนะ ประชาชนต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง ระวังการบริโภคเกินขนาด ปรุงด้วยความร้อนอาจทำให้เมาง่ายขึ้น ชี้ อย่าใช้ช่อดอกทำอาหาร เพราะผิดกฎหมาย

วันนี้ (9 มิ.ย. 2565) รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชงและกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เชื่อว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกฝ่ายครบถ้วนแล้ว แต่การที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง ควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงเป็นห่วงความปลอดภัยว่า จะถูกใช้ในเชิงสันทนาการ หรือนำไปซื้อ-ขายแบบทั่วไปในทางที่ผิดและอันตราย เพราะประชาชนสามารถจดแจ้งปลูกกัญชา-กัญชง ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อย่างเสรี ระหว่างนี้จึงแนะนำว่า หากจะทำอะไรต้องยึดตามระเบียบและกฎหมาย เช่น หากจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชามาทำอาหาร ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร หรือหากนำมาใช้ในทางการแพทย์ ก็ต้องปฏิบัติตามหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัย 

รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ศศก. สำรวจประชากร 5,000 คน ตั้งแต่ ปี 2563 – 2565 พบการใช้กัญชาในช่วงโควิด-19 มากขึ้น ขณะที่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นลดลง คาดการณ์ว่า มีผลมาจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 ที่ทำให้การสังสรรค์ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายสารเสพติดลำบาก โดยพบผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2564 และปี 2565 ยังพบการใช้สูงต่อเนื่อง และพบว่าเมื่อออกกฎหมายให้นำกัญชาบางส่วนมาใช้ได้ เช่น นำใบมาใส่อาหาร  ทำให้เกิดการใช้กัญชา 2 ลักษณะ คือ การดื่ม หรือ ผสมเครื่องดื่ม (Oral Use)  และการสูบ (Smoking Use)  โดยพบการดื่มมากขึ้นเพราะกฎหมายอนุญาตแล้ว และหากจำแนกการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ พบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่หรือวัยกลางคน นิยมใช้กัญชาในรูปแบบของการกินดื่ม ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบอัตราการสูบมากถึง 2 เท่า

“ปัจจัยการเริ่มใช้ยาเสพติดในเด็กและเยาวชน สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญมาก โดยพบว่าหากครอบครัวมีประวัติการใช้ หรืออยู่ในที่ที่เข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย เด็กเยาวชนก็จะซึมซับ และมีแนวโน้มใช้ตาม ส่วนพันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เกิดการติดง่าย หากคนในครอบครัวใช้ ดังนั้นการปลดล็อกย่อมส่งผลให้เกิดการใช้ในครัวเรือนมากขึ้น เพียงแค่จดแจ้งว่าครอบครัวไหนปลูกนำไปใช้บ้าง แต่ครอบครัวไหนมีเด็กก็ย่อมเห็นได้ง่าย ดังนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้”

กัญชา

รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ในทางการแพทย์ไม่อยากให้สารจากกัญชาเข้าไปสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ใช้จำนวนน้อยที่สุด ขณะที่อาหารมีกฎหมายควบคุม เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้ใส่ใบกัญชา 1-2 ใบ ก็ใส่แค่นั้น อย่าใส่เกิน เพราะอาจได้รับสารมึนเมาเกินขนาด และต้องระวังการใช้ความร้อนในการปรุงด้วย เพราะมีผลต่อการสกัดให้สาร THC เข้มข้นเกิน 0.2% ซึ่งผิดกฎหมาย และย้ำว่าประชาชนอย่าใช้ช่อดอกมาทำอาหาร เพราะผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าคนสนใจนำสารเหล่านี้ไปใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นของผิดกฎหมายมานาน และเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาแล้วมองว่า ไม่ว่ากัญชาจะมีสถานะไหน ถูกหรือผิดกฎหมาย กัญชาก็เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่มีสารที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ สาร THC มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา คนที่อยากรู้อยากลองต้องระมัดระวัง เช่น การรับประทานอาหารอย่าบริโภคมากเกินไป  ส่วนการสูบไม่แนะนำเพราะจะเกิดผลกระทบกับชีวิต หากได้รับสาร THC มากไป  ดังนั้น การปลดล็อกหรือไม่ปลดล็อกในการใช้กัญชาต้องระวังเหมือนเดิม    

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้