ครั้งแรก!! เปิดพื้นที่ เชื่อมชุมชน จากภูเขา-ทะเล กับตัวแทน 11 อุตสาหกรรม ส่วนร่วมนโยบาย ผลักดันของดีชุมชน สู่ซอฟต์พาวเวอร์

ถือเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างการยอมรับ การเห็นคุณค่า เพื่อยกระดับของดีชุมชน จากศักยภาพทุนทางวัฒนธรรม สู่การวางแนวทางเพื่อจัดทำนโยบายที่หลากหลายตอบโจทย์ครอบคลุม

วันนี้ ( 29 มิ.ย.67 ) ในเวที Connecting Soft Power Resource Forum แลกเปลี่ยนเชื่อมชุมชน สู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ( NIA ) และภาคีเครือข่าย  โดยเปิดพื้นที่ให้ชุมชนต่างๆ จาก ภูเขา-ทะเล ได้มีส่วนร่วมเชื่อมนโยบาย  สู่การผลักดันของดีชุมชน สู่ซอฟต์พาวเวอร์

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึง เป้าหมายของงานนี้ ที่เป็นการสร้างความร่วมมือ เพื่อจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ  คือ จากบนลงล่าง และจากล่างเสนอไปยังผู้นำ ขณะที่เรื่องซอฟพาวเวอร์ ผู้คนยังสงสัยว่าคืออะไรกันแน่ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายซอฟพาวเวอร์ จึงเป็นสิ่งที่เราจะร่วมกันฟังเสียงสะท้อนชุมชน

“ไม่ว่าภูเขา ชาวเล ชาวเกาะ ว่ามีมิติมุมมองอย่างไร จะให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนอย่างไร คือ เวทีรับฟังเสียงสะท้อน เพื่อมาคุยกันว่า ถ้าจะขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ จะมีการสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อย่างไร และพวกเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร “ 

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ( NIA )

ก่อนเริ่มกระบวนการแลกเปลี่ยน ตัวแทนชุมชนต่างๆ จากเหนือ จรดใต้ ได้เข้าร่วมชมนิทรรศการจาก 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024”  นอกจากสะท้อนภาพที่ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับนโยบาย ยังเป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อให้ชุมชนได้ เรียนรู้ เข้าใจ ในสิ่งที่อนุกรรมการ 11 อุตสาหกรรมกำลังขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 

ที่นอกจากเป็นโอกาสได้เรียนรู้ว่าฝ่ายนโยบายกำลังทำหรือขับเคลื่อนอะไรบ้างในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนได้รู้ว่าจะนำสิ่งเหล่านี้ มาเชื่อมต่อกับต้นทุนที่ชุมชนมีจากทุนวัฒนธรรมหลากหลายอย่างไร

จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการที่ใช้ชื่อว่า Co Creation Workshop  โดยฑิฟฟาณี เชน นักทดสอบนโยบายThailand policy lab  ได้แบ่งกลุ่มตามอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาคและบริบทพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคนที่สนใจในการขับเคลื่อนอาชีพทั้ง 11 อุตสาหกรรม  ประกอบด้วย กลุ่ม OFOS , กลุ่มชาวเขา1 ,ชาวเขา2 ,ชาวเล,ชาวเกาะ  

ซึ่งแต่ละกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมกันสะท้อนทั้งอัตลักษณ์ชุมชนที่เป็นต้นทุนสำคัญ เช่น อาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่นสิ่งทอ ประเพณี ดนตรี  รวมทั้งความหลากหลายในระบบนิเวศฐานทรัพยากร รวมถึงปัญหา ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนศักยภาพชุมชนให้เป็นที่ยอมรับ ไปจนถึงข้อเสนอการยกระดับของดีชุมชนสู่ซอฟต์พาวเวอร์ต่อฝ่ายนโยบาย 

“ เราอยากให้การทำนโยบาย ไม่ใช่แค่บนลงล่างเท่านั้น แต่ว่าเสียงของคนที่อยู่ใกล้เรื่องราวที่สุดที่อยู่ในชุมชนอยากให้เขาเป็นคนได้เปล่งเสียงออกมา ได้พูดออกมา แล้วให้อยู่ในกระบวนการการทำนโยบายด้วยเช่นกัน “ 

ฑิฟฟาณี เชน นักทดสอบนโยบาย Thailand policy lab 

และอีกกระบวนการที่สำคัญมาก คือครั้งแรกที่ตัวแทนชุมชน ได้มาพบเพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวแทนอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 ด้าน ได้แก่ ด้านหนังสือ ,ด้านเฟสติวัล ,ด้านอาหาร ,ด้านการท่องเที่ยว ,ด้านดนตรี ,ด้านเกม ,ด้านกีฬา ,ด้านศิลปะ,ด้านการออกแบบ ,ด้านภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ และ ด้านแฟชั่น 

โดยตัวแทนทั้ง 5 กลุ่ม นำในทิศทางเดียวกัน ถึงศักยภาพชุมชน จากทุนวัฒนธรรมหลากหลายมิติ และฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ที่อยากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมต่อยอดให้เกิดการยอมรับมากขึ้น เพื่อเป็นโอกาสการสร้างรายได้เศรษฐกิจชุมชน ควบคู่กับการให้ความสำคัญ กับมติสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย  

ส่วนอุปสรรคปัญหามีหลายเรื่อง ทั้งนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ข้อจำกัดของกฎหมาย ที่ปิดโอกาสชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากร นิเวศชุมชน เช่นจะทำอาหาร ก็ติดขัดพื้นที่ในการเพาะปลูกวัตถุดิบตามวิถีการทับซ้อนการประกาศเขตอุทยาน เป็นต้น 

ขณะที่ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการจาก 11 อุตสาหกรรม เห็นในทิศทางเดียวกัน ที่ฝ่ายนโยบายต้องเข้ามาสนับสนุนทุนหรือของดีที่มีอยู่ โดยเฉพาะการสื่อสารของดีเหล่านี้ออกไปให้เกิดการรับรู้มากขึ้น

“ การที่มีการจัดเวทีนี้ต่อเนื่องถึงพรุ่งนี้  สะท้อนปรากฏการณ์ยอมรับ การมีอยู่และการยอมรับการมีอยู่ในความหลากหลาย การยอมรับคุณค่าอัตลักษณ์แต่ละชุมชน แต่ละชาติพันธุ์  เป็นความร่ำรวยที่เราต้องปกป้องส่งเสริม สืบสาน ซึ่งการสืบสานมีทั้งความเข้มแข็งภายใน และนำอัตลักษณ์มาเป็นแรงบันดาลใจของความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยคือรากลึกวิถีชีวิต ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งความเป็นไทย  ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตความเป็นไทย “

เสริมคุณ  คุณาวงศ์  ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรทด้านศิลปะ 

“ งานนี้เป็นโอกาส ทำให้เราคนตัวเล็กตัวน้อยได้สะท้อนว่าในการจัดการนโยบายที่จะสัมพันธ์กับรัฐต้องทำยังไง และนโยบายอีกด้านที่ต้องสัมพันธ์กับองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนรัฐต้องทำยังไง เป็นเรื่องที่ดีมากที่เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อเสนอที่เราอยากให้เกิดขึ้น “ 

ปณชัย จันตา  ตัวแทนชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ในวันพรุ่งนี้ ( 30 มิ.ย.67 ) มีกิจกรรมต่อเนื่อง โดยชุมชนต่างๆจะนำข้อเสนอแนะจากการแลกเปลี่ยนกับ 11 อุตสาหกรรม  จัดทำข้อสรุปข้อเสนอทางนโยบาย ที่ถือว่ามาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง

ที่พิเศษจะมีการเสิร์ฟอาหารเมนูเด็ด จากภูเขา ถึงทะเล  กว่า 15 เมนู ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องราวทุนวัฒนธรรมอาหาร แต่จากอาหาร 1 จาน จะฉายภาพทุนศักยภาพต่างๆ ที่เชื่อมโยงในหลายมิติของชุมชนด้วย ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจน การสนับสนุนของดีชุมชน ให้เกิดการยอมรับหรือซอฟต์พาวเวอร์ ให้เกิดขึ้นจริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active