เปิดข้อมูลแรงงานเกือบครึ่งไม่มีเงินออม 78% ต้องทำโอทีเพิ่มรายได้

กมธ.แรงงาน สภาฯ ระดมแนวคิดสร้างมาตรการฐานค่าจ้างที่เหมาะสม เสนอปรับสวัสดิการค่าพื้นฐาน ย้ำขึ้นค่าแรงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ของแพง แต่เป็นเพราะโครงสร้างธุรกิจผูกขาด

วันนี้ (1 เม.ย. 2565) คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร จัดเวทีเสวนา “แนวทางการยกระดับอัตราค่าจ้างเพื่อสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตแรงงานที่มีคุณค่า” ในงานสัมมนา “การแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

กฤษฎา ธีระโกศลพงษ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า จากผลการศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน: ข้อเสนอการยกระดับ” จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานกว่า 1,200 ชุด พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ แรงงาน 86.7% มีสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานและต้องพึ่งพิงอาศัยรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้นค่าครองชีพของแรงงานจึงหมายรวมถึงค่าใช้จ่ายของตนและบุคคลในครอบครัวด้วย ซึ่งนอกจากรายจ่ายจากการอุปโภคบริโภคทั่วไป 78.9% ของแรงงานย้ายมาจากจังหวัดอื่น ไม่ใช่ภูมิลำเนาเดิม เป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตสูงขึ้น จากค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัย โดยมี 41.2% มีหนี้สินจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ 54.4% เป็นหนี้รถยนต์เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานหลายแห่งไม่มีบริการขนส่ง และการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะไม่อำนวยความสะดวกการเดินทาง

รายจ่ายจำนวนมากทำให้แรงงาน 78.4% ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้มีรายได้เสริม สะท้อนถึงความไม่เพียงพอของรายได้ ซึ่งการทำงานเพิ่มขึ้นส่งผลให้การพักผ่อนลดน้อยลง โดยพบว่ามีเพียง 15.3% มีงานด้านอื่นนอกจากงานประจำเป็นรายได้เสริม หรืออนุมานได้ว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสพัฒนาทักษะในงานอื่นมากนัก

ในส่วนของรายได้ ทรัพย์สินของแรงงาน พบว่า 45.5% ไม่มีเงินออมในแต่ละเดือน กรณีที่มีเงินออม 17.9% ก็มีเงินออมไม่เกิน 1,000 บาท 17.4% มีเงินออม 1,000-3,000 บาท และอีก 66% มีเงินฝากในบัญชีธนาคารไม่ถึง 10,000 บาท เห็นได้ชัดว่ารายได้ที่ไม่เพียงพอเป็นเหตุผลว่าทำไมแรงงานจึงมีเงินออมน้อย

“คนหนึ่งคนจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีรายได้เท่าไหร่ต่อเดือน อย่างน้อยคือเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของแรงงานที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิง พบว่าอยู่ที่ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานที่มีสมาชิกในครัวเรือนพึ่งพิง มีรายจ่ายเฉลี่ย 30,118-32,117บาทต่อเดือน กับรายได้ขั้นต่ำที่มีอยู่ทำให้พวกเขาไม่มีเงินเหลือที่จะออม ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้รายได้ลดลง แต่ที่ผ่ านมาไม่เห็นแนวทางลดผลกระทบจากภาครัฐ หากบอกว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานระบุว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ คนที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กับตอนนี้ที่ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ราวๆ 350 บาท จะต้องขยับไปถึงกี่บาท ก็อาจจะไม่เจอค่าจ้างที่เหมาะสม

แต่หากพิจารณาค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชน ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิต เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แสดงว่าแรงงานส่วนมากแทบไม่สามารถเข้าถึงความบันเทิงได้เลย ซึ่งเกิดจากการที่ค่าจ้างและสวัสดิการต่ำเกินไป ดังนั้นจึงควรจะปรับสวัสดิการค่าพื้นฐาน ค่าเดินทาง การเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายดูแลพ่อแม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐมองว่าสวัสดิการที่ให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และคนส่วนจำนวนมากมักเข้าใจว่า หากขึ้นค่าแรงจะเป็นความน่าเห็นใจของนายทุน

“คนทำงานในประเทศไทย หากแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คนเงินเดือนหมื่นสาม สามหมื่น และสามแสนบาท เหตุใดเมื่อพูดถึงเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ คนเงินเดือนสามหมื่นกลับรู้สึกอยากปกป้องคนเงินเดือนสามแสน ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย 10% ของคนทั้งหมดในประเทศนี้ และเหยียดหยามคนเงินเดือนหมื่นสามและสามหมื่นซึ่งมีอยู่ประมาน 900,000 คน … การขึ้นเงินเดือนไม่ทำให้ใครตายจากเรื่องนี้ แต่จะช่วยรับประกันศักดิ์ศรีการทำงานของคนกลุ่มนี้ ผ่านกลไกของสหภาพฯ สหพันธ์ฯ ต่างๆ ที่จะทำให้เห็นว่าการรวมตัวช่วยยกระดับค่าจ้างได้ และเราต้องยกระดับให้เรื่องแรงงานเท่ากับเรื่องการเมือง ไม่เช่นนั้นข้อเรียกร้องจะแพ้ต่อนายทุนแน่นอน เป้าหมายใหญ่ที่จะต้องทำ คือให้การใช้ชีวิต บ้านพักสวัสดิการ เป็นเรื่องสำคัญของทุกคน เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นได้”

รศ.ษัษฐรัมย์ ย้ำเพิ่มเติมว่า “ถ้าไม่ปรับค่าจ้าง ทำงานแทบตาย ทำงานสามสิบปี ชีวิตแย่ลงไม่ได้ดีขึ้น สิ่งนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับแรงงาน”

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม” คือค่าจ้างที่เพียงพอต่อการรรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ของลูกจ้าง ซึ่งปกติจะกำหนดให้ใช้กับลูกจ้างแรกเข้าและเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ส่วนข้อสงสัยว่า “การขึ้นค่าครองชีพจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นหรือไม่? ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าต้นทุนเสี้ยวเดียวของต้นทุนการผลิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนการที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่เกิดจากการฉวยโอกาสของกลุ่มธุรกิจ และการผูกขาดของนายทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ และการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงาน จะต้องอาศัยการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง

ลองดูว่าถ้ามีข่าวขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จะมีการประกาศขึ้นราคาสินค้าหรือไม่ ถ้าขึ้นก็ต้องถามว่าทำไมขึ้น นั้นเป็นเพราะกลุ่มธุรกิจฉวยโอกาส แล้วค่าครองชีพจะต้องขึ้นไปถึงกี่บาท ก็หากว่าราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องขึ้นไล่กับราคาสินค้าให้ทัน จะได้มีเงินใช้จ่ายในการดำรชีพ สิ่งสำคัญคือ รัฐจะต้องคอบดูว่าค่าครองชีพโดยรวมสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือเปล่าและเพราะอะไร เนื่องจากทุนผูกขาดเพราะไม่มีใครมาเป็นคู่แข่งตัดราคา หากค่าครองชีพสูงแต่ไม่ขึ้นค่าจ้าง แล้วลูกจ้างจะอยู่ได้อย่างไร หากรัฐต้องการให้คนพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ธุรกิจจะดีขึ้นแต่คนงานไม่ได้อยู่ดีกินดีขึ้น จะว่าได้ไงว่าเป็นการส่งเสริมธุรกิจเศรษฐกิจในประเทศ แต่หากรัฐทำให้คนมีสวัสดิการดี ความจำเป็นในการขึ้นค่าจ้างก็มีน้อย

ศาสตราภิชานแล ย้ำอีกครั้งว่า “โครงสร้างเศรษฐกิจแบบผูกขาดคือประเด็น เมื่อมีเหตุขึ้นค่าจ้าง ธุรกิจก็กระโดดเข้าไปฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ซึ่งต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นจริง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้